ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2007-12-27

Corpus-Related Research

สาขาวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์จากคลังข้อความได้ เช่น
ภาษาศาสตร์เชิงคำนวณ วัฒนธรรมศึกษา และ การวิเคราะห์วาทกรรม

ใน Linguistics of Political Argument: The Spin-Doctor and the Wolf-Pack at the White House [gbook], Alan Partington รองศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาเมรีโน ประเทศอิตาลี ได้พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างทำเนียบขาวกับสื่อ โดยการวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์จากคลังข้อความ ซึ่งประกอบไปด้วยสรุปคำแถลงข่าวประมาณ 50 ชิ้นในช่วงปีท้าย ๆ ของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคลินตัน โดยหัวข้อนั้น มีตั้งแต่เรื่องในโคโซโวไปจนถึงเรื่องความสัมพันธ์คลินตัน-เลวินสกี

งานชิ้นนี้ไม่เหมือนใครก่อนหน้า ตรงที่มันทำให้เราเห็นว่า เราสามารถนำเทคโนโลยี concordance (การแสดงคำที่กำหนดในบริบทต่าง ๆ) และหลักฐานทางภาษาศาสตร์อย่างละเอียด มาใช้ในการศึกษาคุณสมบัติต่าง ๆ ของวาทกรรม ทั้งในตัวบทและกลวิธีการสื่อสารของผู้พูดได้-อย่างไร


Tony McEnery and Andrew Wilson, Corpus Linguistics, Edinburgh University Press. ISBN 0-7486-0482-0. [gbook]

technorati tags: ,

Time for Unicode ?

เราควรจะเปลี่ยนไปใช้รหัสข้อมูลอะไรดี ? สำหรับเอกสารภาษาไทยในโลกยุคอินเทอร์เน็ต

จะ Windows-874, TIS-620 หรือ ISO-8859-11 ก็คงไม่เพียงพอแล้ว สำหรับโลกยุคอินเทอร์เน็ตและสังคมพหุภาษา แม้แต่เอกสาร “ภาษาไทย” ในปัจจุบันก็ยังมีตัวอักษรละตินหรือสัญลักษณ์พิเศษต่าง ๆ แทรกอยู่มากมาย ซึ่งบางตัวก็ไม่ได้มีอยู่ทั้งใน Windows-874, TIS-620 และ ISO-8850-11

ได้เวลาเปลี่ยนมาใช้ Unicode ให้หมดรึยังนะ ?
(สำหรับงานส่วนใหญ่ ที่ขนาดพื้นที่จัดเก็บข้อมูล/แบนด์วิธ ไม่ได้เป็นข้อจำกัดสำคัญอีกต่อไปแล้ว)

ทั้งหน้าเว็บ ไฟล์เอกสาร metadata โค้ดโปรแกรมต่าง ๆ

แต่จะใช้อะไรดี UTF-8 หรือ UTF-16 ?

Windows NT ขึ้นไป, Windows CE, Java, .NET, Mac OS X และ Qt แพลตฟอร์มเหล่านี้ ใช้ UTF-16 เป็น native character set
แต่ถ้าเป็นโลก Unix และอินเทอร์เน็ต UTF-8 ก็แพร่หลายกว่า

ถ้าพูดถึงเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต ไปใช้ UTF-8 กันให้หมดเลยดีมั๊ย ? สำหรับข้อมูลภาษาไทย ทั้งหน้าเว็บ ฐานข้อมูล metadata ฯลฯ

ข้อดี-ข้อเสีย ? อะไรคืออุปสรรค ?

technorati tags: , ,

2007-12-24

BEST: Word Segmentation

BEST จัด “แข่งขัน” ซอฟต์แวร์ตัดคำไทย

ประโยชน์ของการแข่งขันนี้ นอกจากด้านซอฟต์แวร์แล้ว ยังมีเรื่องของการพัฒนาคลังข้อความ (corpus) และค้นหาความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “คำ” ในภาษาไทยอีกด้วย

ครั้งนี้เล่นที่คำ ครั้งหน้าทีมงานวางแผนจะเล่นที่ “ประโยค”
อย่างไรก็ดี ผมว่าที่อาจารย์วิโรจน์ อักษรจุฬาฯ เสนอว่า ภาษาไทยอาจจะไม่มีประโยคก็ได้ ก็ดูเข้าที
สนใจดูได้ที่บทความ
Wirote Aroonmanakun, Thoughts on Word and Sentence Segmentation in Thai, SNLP 2007.

technorati tags: , ,

2007-12-23

Bangkok Pundit: PPP - the Anti-military Party

Bangkok Pundit ยกตัวอย่างคำสัมภาษณ์ผู้มีสิทธิออกเสียงหลายคน จากหลายแหล่งข่าว

โดยชี้ว่าผู้มีสิทธิจำนวนหนึ่ง ต้องการโหวตเพื่อต่อต้านรัฐประหาร
และคิดว่าการเลือกพลังประชาชน เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเพื่อการนี้มากกว่า “no vote”

อย่างไรก็ดี Bangkok Pundit ไม่คิดว่าจะมีคนคิดเช่นนี้มากนัก โดยคะเนไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ 3-4% เท่านั้น

Bangkok Pundit: PPP - the Anti-military Party

(ในจำนวนนั้น อาจจะมีผมด้วย)


เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ประชาไท prachatai.com เข้าไม่ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 4:30 น. ของวันนี้ (อาทิตย์ 23 ธ.ค. 2550 - วันเลือกตั้ง) และจนถึงขณะนี้ 8:38 น. ก็ยังไม่สามารถเข้าได้ — เข้าได้แล้วนะครับ (เว็บมาสเตอร์แจ้งว่าเข้าได้ตั้งแต่ประมาณ 9:05 น. ของวันที่ 23 ธ.ค.) — ใครเข้าได้/ไม่ได้ ช่วยแจ้งไปที่ FACT ด้วยครับ

technorati tags: , ,

2007-12-22

Cry with, cry for me, Thailand

อาจจะจริงที่ว่า วัฒนธรรมการเมืองไทยที่ตระหนักในสิทธิเสรีภาพได้ก้าวหน้าขึ้นบ้าง แต่แน่นอนยิ่งกว่า คือวัฒนธรรมการเมืองบ้านเรายึดติดกับตัวบุคคล และความเชื่อว่ามี ‘เผด็จการโดยธรรม’ นั้น ฝังรากลึกเกินกว่าจะถอนราก

“ สำหรับผมแล้ว วันที่ 20 ธันวา ก่อนวันเลือกตั้ง 3 วัน อันเป็นวันที่ สนช. ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมายไปโดยสิ้นเชิง

เพราะจะเลือกตั้งไปทำไม ในเมื่อทหารยังคงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ”

บทบรรณาธิการประชาไท, 21 ธ.ค. 2550

ถึงเวลาหรือยัง ที่เราต้องเลือกข้างให้ชัดเจน ?

สนับสนุน/ประนีประนอม กับ รัฐประหาร/อำนาจทหาร/อำนาจที่ควบคุมไม่ได้

หรือ

ต่อต้าน/ไม่ประนีประนอม กับ รัฐประหาร/อำนาจทหาร/อำนาจที่ควบคุมไม่ได้

จะเลือกอะไร เลือกด้วยวิธีไหน ก็แล้วแต่คุณ

technorati tags: , , ,

politicalbase.in.th

เปิดแล้ว: ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย - politicalbase.in.th

“แต่การเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยเพียงเฉพาะในเลือกตั้งอย่าง เดียวยังไม่เพียงพอ การตรวจสอบการทำงานของพรรคการเมืองทั้งก่อนและหลังจากช่วงการเลือกตั้งยัง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง การเริ่มโครงการ politicalbase.in.th ก็เกิดมาจากการตระหนักถึงความจำเป็นดังกล่าวนี้ ทั้งนี้เพื่อลดภาระและต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลของนักการเมือง และพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบนโยบายและความเชื่อมโยงทางการเมือง”

ทางผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากประชาชนผู้มีสิทธิ์มีเสียง โดยการช่วยกันเพิ่มข้อมูล ทีละเล็กละน้อย ค่อย ๆ สะสมเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะทั้งหมด – ตัวเว็บไซต์เป็นลักษณะวิกิที่เปิดให้ทุกคนเพิ่มและแก้ไขข้อมูลได้ โดยมีกองบรรณาธิการตรวจสอบที่มาของข้อมูลในเบื้องต้น

ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย - politicalbase.in.th - โดยการสนับสนุนของ
มูลนิธิฟรีดิชเนามัน (เยอรมนี), สถาบันทีอาร์เอ็น (ไทย), และ สยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิต

แนะนำมูลนิธิฟรีดิชเนามันสั้น ๆ — มูลนิธิฟรีดิชเนามัน (Friedrich-Naumann-Stiftung) เป็นมูลนิธิของประเทศเยอรมนีเพื่อสนับสนุนการเมืองแบบเสรีนิยม (มีความเกี่ยวพันกับพรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) ของเยอรมนี) โดยสนับสนุนเสรีภาพของปัจเจกและแนวคิดเสรีนิยม มูลนิธิดำเนินงานตามแนวคิดอุดมคติของ ฟรีดิช เนามัน ที่เชื่อว่าประชาธิปไตยจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อพลเมืองมีการศึกษาและได้รับข่าวสารทางการเมืองอย่างเพียงพอ ซึ่งตามแนวคิดนี้ การศึกษาการบ้านการเมือง (civic education) เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่ขาดไม่ได้สำหรับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และสำหรับประชาธิปไตย

technorati tags: , , ,

2007-12-21

beyond policy

[ คำเตือนก่อนอ่าน: ในขณะที่เขียนบทความนี้ ในใจผมอยู่ระหว่างตัดสินใจว่า จะ “กาช่องไม่เลือกใคร” หรือ “เลือกพรรคพลังประชาชน” (แต่ไม่ว่าจะเลือกอะไร ก็เพื่อส่งสัญญาณเดียวกัน คือ “ไม่เอารัฐประหาร” ทั้งที่ผ่านมาและในอนาคต) — ดังนั้นข้อเขียนชิ้นนี้ จึงเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องได้รับอิทธิพลจากสิ่งนี้ไม่มากก็น้อย กรุณาใช้ความระมัดระวังในการอ่าน — ติชมใด ๆ ผมถือเป็นกำนัล ขอน้อมรับด้วยความขอบคุณยิ่ง ]



บางที การเลือกตั้งครั้งนี้ อาจไม่ใช่การเลือกพรรคการเมือง อย่างที่แล้ว ๆ มา

ที่ผ่านมา เราบอกว่า สังคมประชาธิปไตยไทย(ไทย) ได้ก้าวพ้นการเลือกตัวบุคคล มาเป็นการเลือกพรรคแล้ว โดยชัยชนะของไทยรักไทยอาจเป็นตัวอย่าง (โดยกลไก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่เพิ่งมีใหม่ในตอนนั้น เป็นตัวอำนวยให้เกิดได้)

เลือกบุคคล ก็คือเลือกจากความชอบพอในตัวบุคคล คนนี้เป็นคนดี
เลือกพรรค ก็คือเลือกจากนโยบายของพรรค

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ พูดตรง ๆ ผมไม่ได้ตัดสินใจจากทั้งสองอย่าง หลายคนคงคิดเหมือนกัน

ตัวบุคคล ? เรารู้จักใครบ้าง ? ถ้าจะคุ้น ๆ ก็มีนามสกุลกระมัง เดา ๆ ก็คงจะเป็นลูกหลานของนักการเมืองหรือคนใหญ่คนโตสักคนนี่แหละ

นโยบาย ? มองไปทั้งหมด จะมากน้อยอ่อนแก่ สุดท้ายก็ไม่พ้น “ประชานิยม” ปะแป้งเปลี่ยนชื่อใช่ไหม ?

บางทีครั้งนี้ หรือไม่ก็หลังจากนี้ไม่นาน เราอาจก้าวพ้นอีกครั้ง จากเลือกนโยบาย ไปสู่การเลือกอุดมการณ์

การที่คนกลุ่มต่าง ๆ รณรงค์เรื่อง No Vote (ไม่ไปเลือก) บ้าง Vote No (กาช่องไม่เลือกใคร) บ้าง เลือกพรรคนี้คือเลือกไม่เอารัฐประหารบ้าง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ (รวมถึง “ล้มรัฐธรรมนูญ = ล้มรัฐประหาร” ในการลงประชามติร่างรธน.50 ด้วย)
ผมคิดว่านี่คือการเลือกอุดมการณ์

คนจำนวนหนึ่ง ใช้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการแสดงพลังทางการเมือง
พวกเขาไม่ได้เข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อเลือกพรรคการเมืองใด
แต่พวกเขาเข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อแสดงอุดมการณ์ทางการเมืองที่เขาเชื่อ

การแสดงอุดมการณ์ดังกล่าว กระทำผ่านการเข้าร่วมการเลือกตั้ง
ผมใช้คำว่า “การเข้าร่วมการเลือกตั้ง” และไม่ใช้คำว่า “ไปลงคะแนนเลือกตั้ง” ก็เพราะการเข้าร่วมนี้ มีได้หลากหลายมากกว่าการไปลงคะแนน

พวกเขาใช้การเลือกตั้ง แสดงความต้องการ ที่นอกเหนือไปจากช่องสี่เหลี่ยมที่ถูกกำหนดให้ทำเครื่องหมายกากบาท
และพวกเขาต้องการจะเป็นผู้กำหนดเครื่องหมายเอง ไม่ใช่รอเลือกจากช่องที่ถูกกำหนดมาให้

บางคน ไปลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ (อีกทั้งอยากให้คนอื่น ๆ ไปลงคะแนนกันเยอะ ๆ ด้วย) เพราะอยากจะแสดงพลังว่า ประชาชนต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากแค่ไหน และประชาชนไม่ต้องการรัฐประหาร

บางคน ไม่ไปลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะอยากจะแสดงพลังว่า ประชาชนไม่ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่จัดโดยคณะรัฐประหาร และกกต.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานแปลก ๆ รวมทั้งมีการแทรกแซงจากคมช.

บางคน ไม่ไปลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ หรือไปกาช่องไม่เลือกใคร เพราะอยากจะส่งสัญญาณว่า พรรคการเมืองทั้งหมดที่มีมาให้เลือก ต่างก็ไม่ได้จริงใจกับประชาชน ไม่มีพรรคใดที่จะเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง

บางคน ไปกาช่องไม่เลือกใคร เพราะจะส่งสัญญาณว่า ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ 2550

บางคน ไปเลือกพรรคที่ไม่ใช่พรรคนอมินีของพรรครัฐบาลก่อน เพราะไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย ‘ขมขื่นเช่นอดีต’

บางคน ไปลงคะแนนเลือกพรรคที่คมช.หมายหัวเป็นศัตรูใหญ่ เพราะอยากจะส่งสัญญาณว่า ประชาชนไม่ต้องการรัฐประหาร และแสดงพลังว่า คุณเอาออกไปได้ ผมก็เอากลับมาได้เหมือนกัน และถ้าคุณจะเอาออกไปอีก ผมก็จะเอากลับมาอีกเช่นกัน

ทั้งหมดที่กล่าวมา ทั้งลงคะแนนและไม่ลงคะแนน ต่างก็เป็นการเข้าร่วมการเลือกตั้งอย่างหนึ่ง และเป็นการเข้าร่วมการเลือกตั้ง แบบไม่สนใจนโยบายของพรรคการเมืองเสียด้วย

แล้วคนเลือกจากอะไรกัน ?

ผมคิดว่า คนจำนวนหนึ่งในสังคมไทย ได้ตัดสินใจจะเลือกจาก “อุดมการณ์” ของพรรคการเมืองแล้ว

ไม่ใช่เลือกจากความชอบพอ ไม่ใช่เลือกจากนโยบาย แต่เลือกจากอุดมการณ์

ส่วนอุดมการณ์ ในสถานการณ์นี้นั้น ก็ง่าย ๆ คือ

“เราจะเอาหรือไม่เอารัฐประหาร (อีกครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า)”

หรือ

“เรายอมรับได้หรือไม่กับผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”

หรือ

“เราจะเอาหรือไม่เอาระบบการเมืองที่ไม่เคยเห็นหัวประชาชน” (ยืมคำสมัชชาคนจน)

ก็แค่นี้เท่านั้น

สำหรับคนจำนวนหนึ่ง การที่เขาไม่เลือกพรรคใดเลย ก็เพราะเขาเห็นว่าในนโยบายสีสันหน้าตาต่าง ๆ นั้น สุดท้ายแล้วต่างก็ไม่สอดรับกับอุดมการณ์ที่เขาจะรับได้

สำหรับคนจำนวนหนึ่ง การที่เขาเลือกพรรคพรรคหนึ่ง ก็เพราะอุดมการณ์และแนวทางของพรรคนั้น (ทั้งปัจจุบันและในอดีต) แม้ว่าเขาจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนวนหนึ่ง หรือตัวบุคคลบางบุคคลในพรรคก็ตาม

หากคิดว่าแนวนโยบายแห่งรัฐนั้นควรจะปรับเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ บนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชน การเปลี่ยนนโยบายเล็กน้อยจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ (แน่นอนว่าไม่ใช่จะเปลี่ยนกันบ่อย ๆ) และไม่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า “ถูกหลอก” มากนัก

แต่การเปลี่ยนอุดมการณ์นั้นไม่ใช่

นโยบายมาแล้วก็ไป เปลี่ยนไปตามสภาวะสังคมเศรษฐกิจ แต่อุดมการณ์นั้นอยู่ยาวยืนยงกว่า

Democrat จึงเป็น Democrat
Republican จึงเป็น Republican
SPD จึงเป็น SPD
CDU จึงเป็น CDU
Die Linke จึงเป็น Die Linke
Labour จึงเป็น Labour
Conservative จึงเป็น Conservative
Green จึงเป็น Green

เราสามารถเลือกอุดมการณ์ได้ จะโดยผ่านพรรคการเมือง ผ่านองค์กรพัฒนาเอกชน ผ่านเครือข่าย ฯลฯ ทางใดกี่ทางก็ได้

ไม่ว่าแต่ละคนจะให้ความหมายของ “เรา” ว่าอย่างไร และประเทศชาติรัฐบาลแบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็น “ของเรา” ได้บ้าง

การเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวานี้ จะเป็นการแสดงอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาชนชาวไทย ว่าเขาอยากได้การเมืองและบ้านเมืองแบบไหน ?

“บ้านเมืองที่เป็นของเรา”

หรือ

“บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา”




(สำหรับตัวผมเอง ไม่ว่าสุดท้ายจะเลือกอะไร แต่ที่สุดก็เพื่อส่งสัญญาณเดียวกัน คือ “ไม่เอารัฐประหาร” ทั้งที่ผ่านมาและในอนาคต “ไม่เอาผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” และ “ไม่เอาการเมืองที่ไม่เห็นหัวประชาชน”)


ชิ่งต่อ:


ตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ “มองข้ามหัวนโยบาย” ที่เว็บไซต์ อารยชน 21 ธ.ค. 2550 — คลิกดูความเห็นเพิ่มเติมที่เว็บไซต์อารยชน

เพิ่มคำเตือนในการอ่านหัวบทความ และความเห็นท้ายบทความ - 22 ธ.ค. 2550

เพิ่มลิงก์ปิยบุตร - 26 ธ.ค. 2550

technorati tags: , ,

CC in 2 minutes

ฝากเผยแพร่ครับ (โค้ด HTML + รูปทั้งหมด สำหรับเอาไปใช้ในบล็อก/เว็บไซต์ของคุณ)

Creative Commons Trademark

“ครีเอทีฟคอมมอนส์ เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่เสนอทางเลือกนอกเหนือจากลิขสิทธิ์แบบเต็มที่”
creativecommons.org

สัญลักษณ์เงื่อนไขครีเอทีฟคอมมอนส์โดยสรุป...

Attribution icon (by) ยอมรับสิทธิ (by) หมายถึง:
คุณยินยอมให้ผู้อื่นคัดลอก แจกจ่าย ใช้ และจัดแสดงงานลิขสิทธิ์ของคุณ (รวมทั้งงานที่ดัดแปลงจากมัน) – แต่ก็ต่อเมื่อพวกเขาประกาศด้วยว่างานนั้นเป็นของคุณ

Noncommercial icon (nc) ไม่ใช้เพื่อการค้า (nc) หมายถึง:
คุณยินยอมให้ผู้อื่นคัดลอก แจกจ่าย ใช้ และจัดแสดงงานลิขสิทธิ์ของคุณ (รวมทั้งงานที่ดัดแปลงจากมัน) – แต่สำหรับจุดประสงค์ที่ไม่ใช่เพื่อการค้าเท่านั้น

No Derivative Works icon (nd) ไม่แก้ไขต้นฉบับ (nd) หมายถึง:
คุณยินยอมให้ผู้อื่นคัดลอก แจกจ่าย ใช้ และจัดแสดงงานลิขสิทธิ์ของคุณ เฉพาะตัวที่เหมือนต้นฉบับทุกประการเท่านั้น ไม่ใช่งานที่ถูกแก้ไขดัดแปลง

Share Alike icon (sa) อนุญาตแบบเดียวกัน (sa) หมายถึง:
คุณยินยอมให้ผู้อื่นแจกจ่ายงานดัดแปลง ด้วยสัญญาอนุญาตที่เหมือนกันทุกประการกับที่ใช้กับงานของคุณเท่านั้น

เงื่อนไขเหล่านี้ สามารถประกอบใช้ร่วมกันได้ เช่น:
Attribution icon (by)Noncommercial icon (nc)Share Alike icon (sa) หมายถึง สัญญาอนุญาตแบบ ยอมรับสิทธิ-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน (by-nc-sa)

ข้อมูลเพิ่มเติม: ครีเอทีฟคอมมอนส์ ประเทศไทยcc.in.th

(ดัดแปลงจาก Flickr: Creative Commons, ไอเดียคุณหมวย อาสาสมัครครีเอทีฟคอมมอนส์ไทย)

พร้อมกันนี้ ขอเชิญชวนนักเขียน นักวาด นักดนตรี ฯลฯ เลือกใช้งานสร้างสรรค์ที่เป็นครีเอทีฟคอมมอนส์ และเผยแพร่ผลงานของตนด้วยสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ครับ :)

พูดคุยเรื่องครีเอทีฟคอมมอนส์ได้ที่เมลกลุ่ม ccthailand#googlegroups.com

และกระดาน CC Talk

technorati tags: ,

2007-12-19

your feet, also very count

ประภาส ปิ่นตบแต่ง แนะ

บางทีการโหวตด้วย ‘มือ’ อย่างเดียวคงไม่พอ
คงต้องโหวตด้วย ‘ตีน’ กันบ้าง :P

(ส่วนทหารและอภิทหาร เขาโหวตด้วย ‘ปืน’ กันอยู่แล้ว .. แต่หลัง ๆ เริ่มซับซ้อน มีโหวตด้วย ‘ตุลาการ’ และ ‘การร่างรัฐธรรมนูญ/กฎหมาย’ ด้วยนะ .. เนียน เนียน)

โซ่มนุษยปิดสนช. พุธ 19 ธ.ค. 8.00 - 19.00 น.

หากไม่สะดวกร่วม ยังไงก็ไปลงชื่อปิดสภากันได้ออนไลน์

[ ลิงก์ ประชาไท | ผ่าน พลวัต (ยุคใหม่) ]

technorati tags: ,

2007-12-17

Understanding Language Understanding

ชอบชื่อหนังสือเล่มนี้จริง ๆ - -"

Understanding Language Understanding: Computational Models of Reading
Ashwin Ram and Kenneth Moorman (Ed.)
MIT Press, Cambridge, MA, 1999.
ISBN 0-262-18192-4 | Google Book Search

technorati tags: , , ,

your hands, every hands count

ไปประชุมมาหลายวัน (วีร์ก็ไป) กลับมามีเรื่องเยอะแยะ


พร้อมเพรียงโดยสันติ — พุธ 19 ธ.ค. 8:00-19:00 น. — หน้าสภาของเรา

NO ENTRY 2007.12.19

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย (สค.ปท.)
เครือข่ายสลัมสี่ภาค
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนและองค์กรภาคประชาชนทุกเครือข่าย

รวมพลังปิดสภาครั้งที่ 2
ด้วยโซ่มนุษย์ล้อมสภา

ร่วมกันยุติบทบาทของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการเร่งออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พุธ 19 ธ.ค. 8:00-19:00 น.

ยึดหลักสันติวิธีโดยเคร่งครัด
ยืนยันไม่เป็นเครื่องมือกลุ่มผลประโยชน์อำนาจทางการเมืองใด ๆ
และไม่ยอมให้มีการสร้างสถานการณ์ยกเลิกการเลือกตั้ง

เริ่มการเลือกตั้งแล้ว กำลังจะมีสภาผู้แทนของประชาชน แต่สภาแต่งตั้งยังเร่งรีบออกกฏหมายที่ละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรงเช่นร่างพรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร เป็นเรื่องที่ขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิงและเป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิจารณากฎหมาย

กฎหมายที่สนช.ต้องหยุดพิจารณา:

1. ร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร มีสาระสำคัญเป็นการขยายอำนาจให้กองทัพควบคุมสังคม โดยปราศจากการตรวจสอบจากสถาบันตุลาการ อันเป็นภัยคุกคามต่อหลักสิทธิเสรีภาพ หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

2. ร่างกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ มีสาระสำคัญเป็นการให้รัฐมีอำนาจบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จใน 3 รูปแบบ คือ รูปแบบการพัฒนาแหล่งน้ำ การผันน้ำ การทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำในยามน้ำท่วม, รูปแบบการบริหารจัดการหรือการใช้น้ำ และรูปแบบการกำหนดการใช้ที่ดิน รวมทั้งไม่รับรองสิทธิของชุมชนที่จัดการน้ำที่มีอยู่เดิม ซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญ ตลอดจนผู้ใช้น้ำต้องเสียค่าใชัน้ำ

3. ร่างกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีสาระสำคัญเป็นการคุ้มครองคลื่นความถึ่ให้กับหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของสื่อวิทยุโทรทัศน์ในปัจจุบัน เช่นคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ของทหาร กรมประชาสัมพันธ์ ไม่สามารถถูกจัดสรรใหม่ และการให้รัฐมีอำนาจควบคุม หรือห้ามเสนอข่าวสารโดยการสั่งการด้วยวาจาหรือหนังสือระงับรายการ

4. ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ มีสาระสำคัญเป็นการให้อำนาจรัฐนำรัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพให้เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด และการกระจายหุ้นแก่เอกชน อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และทำให้ประชาชนเสียสิทธิที่จะเข้าถึงสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

5.-7. ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง มีสาระสำคัญเป็นการแปรรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เข้าสู่การบริหารโดยอาศัยกลไกตลาด อันจะมีผลกระทบต่อสิทธิการเข้าถึงการศึกษาของประชาชน อิสรภาพทางวิชาการ การศึกษารับรู้ของประชาชนทางด้านสังคม และหลักประกันทางด้านสวัสดิการของบุคลากรของมหาวิทยาลัย

8. ร่างกฎหมายสภาการเกษตรแห่งชาติ มีสาระสำคัญเป็นการให้อำนาจผู้แทนหน่วยงานของรัฐร่วมกับผู้แทนองค์กรธุรกิจการเกษตรในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาการเกษตรเป็นสำคัญ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนาการเกษตรดังกล่าว

จอน อึ๊งภากรณ์
ประธานกป.อพช.
ผู้ประกาศ


ลงชื่อ ปิดสภานิติบัญญัติรักษาการ หยุดกฎหมายละเมิดสิทธิประชาชน
http://prachatai.com/petition/stopnla

พร้อมเพรียงโดยสันติ
พุธ 19 ธ.ค.
8:00-19:00 น.
หน้าสภาของเรา


(ประมวลเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ปิด ‘สภาหน้าด้าน’)

technorati tags: , ,

2007-12-15

The Rise of a New Power

ศรศิลป์, “อำนาจใหม่” ลุกขึ้นสู้แล้ว!, แด่ มาตุภูมิ, อารยชน, 12 ธันวาคม พ.ศ. 2550

“วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2550 จะถูกจารจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ว่า เป็นวันที่ ‘อำนาจใหม่’ ก่อการลุกขึ้นสู้ทางการเมือง ภายใต้ธงการเมืองของตนเอง ด้วยกำลังของตนเอง แต่เพื่อประโยชน์ของปวงชนชาวไทย ขบวนกองหน้าของภาคประชาสังคมในปีกอำนาจใหม่นี้ได้ทำการชุมนุม ปิดล้อม และบุกเข้าขัดขวางการปฏิบัติงานอันมิชอบของสนช. ซึ่งกำลังเร่งผ่านกฏหมายจำนวนมากที่คุกคามสิทธิเสรีภาพของปวงชน โดยไม่มีความชอบธรรม เพราะไม่มีที่มาจากปวงชน อีกทั้งร่างกฏหมายทั้งหลายที่กำลังเร่งรัดส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นไปเพื่อการฟื้น ระบอบจารีตนิยมและอำมาตยา และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพวกกาฝากอภิชนส่วนข้างน้อย”

[petition] ร่วมลงชื่อ ปิดสภานิติบัญญัติรักษาการ หยุดกฎหมายละเมิดสิทธิประชาชน

technorati tags: , ,

2007-12-13

10th Anniversary - Right to Know

หนึ่งทศวรรษ สิทธิที่จะรู้

คอลัมน์ “ข้าราษฎร” โดย “สายสะพาย”
หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10861 (หน้า 26)

ดร.นคร เสรีรักษ์ เขียนบทความ ในโอกาสที่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มีอายุครบ 1 ทศวรรษ เริ่มใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2540 จึงมีอายุครบ 10 ปี ในวันที่ 10 ธันวาคม 2550

กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ “หน่วยงานของรัฐ” มีหน้าที่ “เปิดเผย” ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน ข้าราชการจึงต้องปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบและโปร่งใสมากขึ้น เพราะเอกสารต่าง ๆ อาจถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา

แม้จะเป็นกฎหมายที่มีอายุเพียง 10 ปี แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน และส่งผลให้สะเทือนอย่างมากในกระบวนการพัฒนาธรรมาภิบาล ในฐานะกลไกขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้

แม้หน่วยงานของรัฐจะมีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยข้อมูล ประชาชนยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์เพื่อให้มีการทบทวนคำสั่งได้

กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ซึ่งหน่วยงานของรัฐในรูปแบบต่าง ๆ มีหน้าที่ที่ต้องให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณะ โดยมีวิธีการ “เปิดเผย” ข้อมูล 3 วิธี คือ การนำข้อมูลลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา การจัดข้อมูลไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดู และการจัดหาข้อมูลให้ประชาชนเป็นการเฉพาะราย

แต่จนถึงวันนี้หน่วยงานของรัฐหลายแห่ง ยังคงไม่ได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงมีความพยายามที่จะผลักดันและกระตุ้นให้หน่วยงานของรัฐมีการปฏิบัติตาม กฎหมายอย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้นตลอดมา

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.) ได้ผลักดันกิจกรรมเป็นการสนับสนุนการใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารเป็นกลไกเสริมสร้างความโปร่งใสองค์กรภาครัฐ เช่น สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดตัวชี้วัดระดับความสำเร็จในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการทุกแห่ง ในปี 2550-2551

นอกจากนั้นมีการเสนอปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน เช่น ให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางใหม่สำหรับให้บริการข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

การเสนอออกกฎหมายใหม่ เพื่อขยายขอบเขตการคุ้มครองสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัวในข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองของเอกชน โดยการจัดทำกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะ

ในปี 2550 ยังมีการพัฒนาหลักเกณฑ์มาตรฐานความโปร่งใส เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้เกณฑ์มาตรฐานและดัชนีชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ซึ่ง กขร.ได้เสนอขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี เพื่อมอบหมายให้ กขร. และสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) เป็นองค์กรหลักในการติดตามประเมินความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ


แถม: Nakorn Serirak, 2001. Challenges of Thailand’s Freedom of Information

technorati tags: , ,

2007-12-12

Provinces of Thailand HTML selection box

HTML option's values according to TIS 1099-2535 Standard for Province Identification Codes for Data Interchange

ค่า value ของแต่ละ option ตาม รหัสจังหวัดเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล (มอก. 1099-2535)

download: จังหวัดในประเทศไทย HTML selection box

technorati tags: , ,

2007-12-10

Groovy the 1.5

คุณชาญวิทย์ ครุกรูวี่ แจ้งมาในอีเมลกลุ่ม thai-grails-user:

Groovy 1.5 เลขรุ่นเดิมคือ 1.1 ออกแล้วครับ
เหตุผลในการปรับเลขรุ่นมาเป็น 1.5
ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในการสนับสนุนโครงสร้างภาษาที่มากขึ้น
เช่น Annotation, Enum และ Generic เป็นต้นครับ

Groovy 1.5 เปลี่ยนแปลงระบบ method caching
ภายในทำให้ความเร็วโดยรวมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับรายละเอียดของ feature ใหม่ ๆ กิลโยม ลาฟอร์จ เขียนบนความบนไว้บน InfoQ

ผมชอบ safe navigation operator (?.) อ่ะ สะดวกดี

[ ลิงก์ InfoQ | ผ่าน ชาญวิทย์ แก้วกสิ ]

technorati tags:

MOOnocle

ได้อ่าน OOM ฉบับล่าสุด ฉบับสวีเดน ชอบฉบับนี้ อยากไปสวีเดน และคิดถึงเบอร์ลิน (ไม่มีเหตุผล)

ชอบออฟฟิศในโรงงานเก่า ออฟฟิศแบบอยู่ด้วยกันเยอะ ๆ

วันนี้เดินเข้า Bookazine สยาม (เขาย้ายไปอยู่ข้างร้านขายยา+เครื่องเขียนแล้วนะ โรงหนังสยาม) เจอ Monocle เล่มใหม่ พลิก ๆ อืม กลิ่นคล้าย ๆ กันแฮะ เพิ่งจะสังเกต

อ่านโอโอเอ็มแล้วเหมือน นี่นะ สไตล์การใช้ชีวิตของคนที่จะทำอะไรก็ได้ ไปที่ไหนก็ได้ อยากทำอะไรก็ได้ แต่เป็นคนดีนะ รักโลก ส่วน Monocle ก็ออกไปแนวนี้ น่าจะตามแนวที่เขาตั้งใจอยู่แล้ว ประมาณว่านิตยสารของพลเมืองโลก เป็นอิสระจากรัฐ-ชาติด้วยความสามารถและทุน ... ฉันเดินทางไปทั่วโลก

ปอนด์ (บล็อกล่ม) บอกว่า “แม่งโคตร Wallpaper ว่ะ”

technorati tags:

2007-12-09

STOP NLA - enough is enough

12 ธันวา ชุมนุมหน้าสภา ปิด สนช.

กป.อพช. ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน และ องค์กรภาคประชาชนทุกเครือข่าย
รวมพลังกัน
ปิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เนื่องจากสนช.กำลังเร่งรีบออกกฎหมายหลายฉบับที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
เช่น พรบ.ความมั่นคงฯ โดยขาดความชอบธรรมอย่างยิ่งที่จะพิจารณาในช่วงการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร แสดงถึงการทิ้งทวนของอำนาจเผด็จการต่อประชาชนทั้งประเทศ

7:00 น. พุธที่ 12 ธ.ค.
พบกันหน้ารัฐสภา
เพื่อปิดสภาโดยสันติวิธี

เข้าชื่อให้สนช.หยุดออกกฎหมาย [pdf - petition]

technorati tags: , ,

Ruby/Rails update

Creating a Ruby Weblog in 10 Minutes - ใช้ NetBeans 6.0 สร้างเว็บล็อกด้วย Ruby on Rails ใน 10 นาที

Rails 2.0 ออกแล้ว - RESTful, template engine ใหม่, API authentication over (HTTP) SSL, simple query cache, เร็วขึ้นประมาณ 50-100%, syntax ใหม่ของ migration ที่สั้นลงมาก, ฯลฯ

Rubinius - VM สำหรับภาษา Ruby, ใช้สถาปัตยกรรมแนว Smalltalk-80 เขียนด้วย C - ใช้กับ Rails ได้

แถม: Java SE 6 Update N Early Access - Java SE 6 ตัวใหม่ (หรือที่เคยรู้จักในชื่อ “Consumer JRE”) - ปรับปรุงการติดตั้งและอัพเดท, ลงเฉพาะเท่าที่ใช้ ลงเฉพาะ kernel ก่อน ที่เหลือค่อยโหลดตามมา, ใช้ hardware acceleration ได้, โหลดเร็วขึ้น, L&lF (สกิน) ตัวใหม่ชื่อ Nimbus

technorati tags: , ,

2007-12-08

looking for web automation tool

เว็บที่ดูแลอยู่ เช่าพื้นที่จาก Micfo.com ล่มเมื่อสองสามวันก่อน แล้วพอกลับมาอีกที ข้อมูลในฐานข้อมูลก็หายไปหมดเกลี้ยง

ฝ่ายซัพพอร์ตทำงานได้ห่วยมาก ตอบอีเมลแต่ละฉบับเหมือนขอไปที บอกมาได้ว่า “ไม่มี backup” โคตรโกรธ เมื่อก่อนไม่เป็นแบบนี้ พอล่มเมื่อไหร่ ยังไงก็ยังกลับมาได้เหมือนเดิม มี backup ให้ตลอด

ใครกำลังคิดจะใช้บริการ Micfo.com กรุณาคิดอีกที

พยายามจะกู้บล็อกคืนมาให้เพื่อน (ตัวเองก็เสียดายด้วย มีเรื่องน่าอ่านอยู่เยอะ) ทางหนึ่งที่พอไหวคือ ไล่ก๊อปปี้มาจาก Google cache แต่มันเยอะมาก น่าจะเกินพันได้ (ซึ่งเป็นเรื่องดี) ก๊อปไปได้แค่สามสิบอันก็เมื่อยแล้ว

มีใครพอจะแนะนำเครื่องมือ/ภาษาสคริปต์ที่ทำพวกนี้ง่าย ๆ บ้างครับ ผมไม่เคยเขียนอะไรทำนองนี้เลย พวก web scraping เนี่ย

ลักษณะของงานไม่มีอะไรมาก

  1. ไปที่หน้า Google cache ที่กำหนด
  2. ไล่ดาวน์โหลดลิงก์ที่อยู่ใต้ข้อความ “Cached” ให้หมด
  3. ไปหน้าถัดไป (เปลี่ยนค่า start ใน url)
  4. ถ้ายังมีหน้าถัดไปที่ว่าอยู่ ก็ทำ (2) อีกรอบ วนไปเรื่อย

cURL นี่ไหวมั๊ย หรือมีง่ายกว่านี้ ? เดี๋ยวคืนนี้จะลองดู

ป.ล.1 ส่วนเว็บบอร์ด น่าจะยากกว่า เฮ้อ

ป.ล.2 เบื่อ “สดศรี สัตยธรรม” และ “ผู้มีคุณธรรมสูง” ทั่วฟ้าเมืองไทย

technorati tags:

2007-12-07

Pretty Good Privacy

มาตรฐาน OpenPGP เป็นมาตรฐานการเข้ารหัสข้อมูลชนิดหนึ่ง
ซึ่งนอกจากจะ ช่วยรักษาข้อมูลให้เป็นความลับ/เป็นส่วนตัว แล้ว (กันการแอบอ่าน)
ยังช่วย ตรวจจับว่าข้อมูลถูกเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ระหว่างทาง (กันการปลอมข้อมูล)
และยัง ตรวจได้ว่าข้อมูลนั้นถูกส่งมาจากแหล่งที่อ้างรึเปล่า (กันการแอบอ้างตัวตน)

PGP ย่อมาจาก Pretty Good Privacy (เป็นส่วนตัวดีทีเดียว)

ถ้าอยากได้โปรแกรมเข้ารหัสที่ว่านี้ ลอง GnuPG ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เสรี หรือจะใช้ตัวอื่น ๆ ก็ได้ ลองค้นเน็ตคำว่า “PGP” ดู

PGP ที่ว่านี้สามารถใช้กับอีเมลได้เช่นกัน โดยตัวโปรแกรม PGP หลายตัวสามารถใช้ร่วมกับโปรแกรมอีเมล เช่น Thunderbird, Outlook, Apple Mail ได้ง่าย ๆ

สำหรับคนที่ใช้ Gmail แม้จะไม่มีตัว PGP เต็มรูปแบบให้ใช้ แต่ก็อาจจะลอง Gmail Encryption ดูได้ สคริปต์นี้ทำงานร่วมกับ Greasemonkey บน Firefox (คำเตือน: อาจจะทำงานไม่เร็วนัก และความมั่นคงปลอดภัยต่ำกว่า PGP ปกติ)

บทความจาก WIRED: Keep Your E-mail Private, Secret and Secure แนะนำขั้นตอนทีละขั้น เพื่อใช้ PGP กับอีเมลของคุณ

พลเมืองทุกคน ควรฝึกใช้เครื่องมือเข้ารหัส เพื่อความเป็นส่วนตัวในยามจำเป็น — ตราบใดที่เรายังมีรัฐบาล(คุณธรรมสูง)แต่ไร้มารยาทอยู่

GnuPG is the GNU project's complete and free implementation of the OpenPGP standard as defined by RFC4880 . GnuPG allows to encrypt and sign your data and communication, features a versatile key managment system as well as access modules for all kind of public key directories. GnuPG, also known as GPG, is a command line tool with features for easy integration with other applications. A wealth of frontend applications and libraries are available. Version 2 of GnuPG also provides support for S/MIME.

ขอร่วมไว้อาลัยกับการจากไปของ มด - วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
รวมบทสัมภาษณ์ : ‘มด’ ในความทรงจำ

technorati tags: , ,

2007-12-06

discourse/information/communication people

จดกันลืม บุคคลน่าสนใจ

สาวิตรี คทวณิช

นคร เสรีรักษ์

วราภรณ์ วนาพิทักษ์

  • มาตรการการจัดการการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย (วิทยานิพนธ์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มธ.)

สมสุข หินวิมาน

  • คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • cultural studies

technorati tags: , ,

get semantic with HTML 5

Lachlan Hunt รีวิว HTML 5 ให้เราดูกันว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในข้อกำหนด HTML รุ่นต่อไปบ้าง พร้อมตัวอย่างและภาพประกอบ (โดย Kevin Cornell) เข้าใจง่าย

เมื่อเทียบกับ HTML 4 (รุ่นปัจจุบัน) แล้ว HTML 5 นอกจากจะมีแท็กใหม่ ๆ ที่รองรับเทคโนโลยีเว็บที่พัฒนาขึ้น เช่นแท็กเกี่ยวกับไฟล์ภาพเคลื่อนไหวและเสียงแล้ว อีกจุดสำคัญของ HTML 5 ก็คือ มันจะมี โครงสร้าง (structure) และ ความหมาย (semantic) ที่ชัดเจนขึ้นด้วย

เมนู ที่ปรากฎอยู่บนจอ ก็จะถูกระบุว่าเป็นเมนู ไม่ใช่แค่ตารางที่วางอยู่ด้านขวาของจอ
ชื่อหนังสือ ที่ปรากฎอยู่บนจอ ก็จะถูกระบุว่าเป็นชื่อหนังสือ ไม่ใช่แค่ข้อความอันหนึ่งที่อยู่หลังคำว่า “ชื่อหนังสือ:”

ปัจจุบันนี้ นักออกแบบ/พัฒนาเว็บส่วนหนึ่ง พยายามที่จะเขียนโค้ดหน้าเว็บที่แยกเอา หน้าตา (presentation) ออกมาจาก เนื้อหา (content) ไม่ให้ปะปนกัน โดยส่วนของหน้าตาจะนำไปใส่ใน Cascading Style Sheets (CSS) ส่วนเนื้อหาก็จะอยู่ในเซตย่อยของ HTML ที่ไม่ใช้แท็กที่เกี่ยวข้องกับหน้าตาเช่น center, b, i (โดยถ้าอยากเน้นข้อความไหน ก็ให้ใช้ strong และ em แทน)

นอกจากการแยกหน้าตากับเนื้อหาออกจากกันแล้ว ก็ยังมีความพยายามที่จะเขียนโค้ด HTML ที่มีโครงสร้างเป็นระบบขึ้น โดยอาศัยแท็กจำพวก h1, div และ li เป็นต้น และพยายามใส่ความหมายเข้าไปในโค้ด โดยอาศัยแอตทริบิวต์จำพวก class, rel และ id โดยกลุ่มนี้จะเรียกรวม ๆ ว่า Semantic HTML โดยมีแนวคิดหลักอย่างน้อยสองแบบคือ POSH และ Microformats ซึ่งทั้งสองอย่างนี้สามารถใช้ร่วมกันได้ โดยอย่างแรกจะเป็นคำแนะนำกว้าง ๆ สำหรับหน้าเว็บทั้งหมด ส่วนอย่างหลังจะเป็นข้อกำหนดที่ชัดเจนสำหรับข้อมูลแต่ละประเภทไปเลย — กล่าวโดยรวมคือ ทั้งหมดนี้เป็นการประยุกต์ใช้ HTML รุ่นปัจจุบันที่มีอยู่ ให้บันทึกความหมายบางอย่างได้

HTML 5 จะช่วยให้รูปแบบการเขียนโค้ดลักษณะ POSH เป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น เขียนได้ตรง ๆ ขึ้น (ลองดูตัวอย่างจาก A Preview of HTML 5)

ร่างข้อกำหนดของ HTML 5 เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 และปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาโดยคณะทำงานสองกลุ่มคือ W3C HTML WG และ WHATWG ร่วมมือกัน — โดยคาดว่าจะสามารถประกาศเป็น W3C Recommendation ได้ประมาณปี พ.ศ. 2565 (อีกประมาณ 15 ปี! – ดู FAQ) อย่างไรก็ตาม ความสามารถของ HTML 5 จะค่อย ๆ ถูกนำไปใช้ในเว็บเบราว์เซอร์และเว็บไซต์ต่าง ๆ ทีละน้อย ๆ ตัวอย่างเช่นเว็บเบราว์เซอร์จำนวนหนึ่งในปัจจุบันก็รองรับแท็ก canvas หรือความสามารถด้าน autodiscovery แล้ว

ถ้าสนใจเรื่อง Semantic HTML (ซึ่งคุณสามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย ไม่ต้องมาตรฐานใหม่ ไม่ต้องรอเบราว์เซอร์ใหม่) ลองไปดูที่เว็บไซต์ semantichtml.org หรือค้นเว็บด้วยว่า “semantic html” ดู จะพบเว็บไซต์มากมาย ที่แนะนำและพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้

ผลพลอยได้อย่างหนึ่ง ที่น่าจะได้จากการเขียนหน้าเว็บตามแนว Semantic HTML ก็คือ โปรแกรมอ่านหน้าจอ (screen reader) สำหรับผู้พิการทางสายตา น่าจะทำงานได้ดียิ่งขึ้น เพราะมีข้อมูลมาช่วยตัดสินใจมากขึ้นในการอ่าน (คิดง่าย ๆ ว่า Semantic HTML เน้นว่าเนื้อหาหมายความว่าอะไร ไม่ใช่ว่าเนื้อหาจะถูกวาดยังไง การ‘อ่าน’โดยตรงจากเนื้อหาจริง ๆ ย่อมง่ายและถูกต้องกว่าการอ่าน+ตีความจากภาพวาดอยู่แล้ว)

[ ลิงก์ A List Apart | ผ่าน OSNews.com ]

technorati tags: ,

2007-12-05

Gant - Groovy Ant

“A Groovy-based build system that uses Ant tasks, but no XML.”

Gant เป็นเครื่องมือประกอบสร้างซอฟต์แวร์ (build system) ที่ใช้ Ant ทำงาน และใช้ภาษา Groovy กำหนดค่าต่าง ๆ (แทนที่จะใช้ภาษา XML)

ตัวอย่าง (จากเว็บไซต์ Gant):

includeTargets << gant.targets.Clean
cleanPattern << [ '**/*~' ,  '**/*.bak' ]
cleanDirectory << 'build'

target ( 'default' : 'The default target.' ) {
  println ( 'Default' )
  depends ( clean )
  Ant.echo ( message : 'A default message from Ant.' )
  otherStuff ( )
}

target ( otherStuff : 'Other stuff' ) {
  println ( 'OtherStuff' )
  Ant.echo ( message : 'Another message from Ant.' )
  clean ( )
}

แนวการพัฒนาของ Groovy/Grails อย่างหนึ่งที่ต่างจาก Ruby/Rails ที่พอสังเกตได้ก็คือ Groovy/Grails จะพยายามใช้/หรือทำงานร่วมกับเครื่องมือ/ไลบรารีที่มีอยู่แล้ว เช่น Jetty, Hibernate หรือกรณี Ant ในที่นี้ (ซึ่งแต่ละแนวก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกัน)

technorati tags: , ,

2007-12-04

NetBeans 6.0 + Groovy plug-in

NetBeans 6.0 ออกแล้ว เย่
ความสามารถใหม่ที่ชอบมากของรุ่นนี้ก็คือตัว run profile ที่ Eclipse มีตั้งนานแล้ว แต่ NetBeans เพิ่งจะมี

มีหลายแพ็คเกจให้เลือก ถ้าจะเขียน Java SE ทั่ว ๆ ไป ก็ขนาดแค่ 21 MB เท่านั้น

แพ็คเกจอื่น ๆ ก็มี Web/Java EE, Mobility/Java ME, Ruby/Rails, C/C++ หรือโหลดแบบครบเซ็ตเลยก็ได้
แพ็คเกจต่าง ๆ สามารถโหลดเพิ่มเติม/ปรับรุ่นได้ภายหลัง ด้วยตัว update manager ของ NetBeans

และสำหรับคนที่เขียน Groovy/Grails ลองดู Groovy plug-in (อยู่ระหว่างการพัฒนา ถ้าอยากใช้ตอนนี้ต้อง svn มา build เอง)

technorati tags: , ,

2007-11-30

Creative Commons Thailand port - 1st Public Discussion

ร่างสัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบยอมรับสิทธิ ไม่ใช้เพื่อการค้าและอนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 สำหรับประเทศไทย
ซึ่งจัดทำร่างโดยสำนักกฎหมายธรรมนิติ ได้รับความเห็นชอบจาก ครีเอทีฟคอมมอนส์อินเตอร์เนชัลแนลแล้ว

และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนประชาพิจารณ์
โดยจะเปิดรับความคิดเห็นจากสาธารณชนเป็นเวลา 2 สัปดาห์
ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ถึงวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ดาวน์โหลดร่างสัญญาอนุญาต และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://cc.in.th/

technorati tags: ,

Learn Grails in 2 minutes!

หัด Grails ใน 2 นาที! (ภาษาไทย)
สร้างเว็บแอพพลิเคชั่น-อย่างเร็ว

เอกสารโดย กลุ่มผู้ใช้ Grails ในไทย

Grails นี่คือประมาณ Ruby Groovy on Rails แล้วก็ใช้ไลบรารี “มาตรฐาน” ทั้งหลายได้ เช่น Hibernate

technorati tags: ,

2007-11-29

pronounce it /Kha-na Rat-sa-don/

เมื่อวันอาทิตย์ งาน YouFest ทำผิดพลาดไปอย่างหนึ่ง (ในหลายอย่าง) คือ ออกเสียง คณะราษฎร ไปว่า /คะ-นะ-ราด/

ที่ถูกคือ /คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน/

โดย ราษฎร /ราด-สะ-ดอน/ ในที่นี้ ก็คือ “ไม่ใช่เจ้า” นั่นเอง
ดังจะเห็นได้จากในวงเล็บที่เน้นย้ำในตอนท้ายของหลักข้อที่ 4 ใน หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่ว่า:

“จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)”

ขอบคุณ อ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ที่ได้กรุณาเตือน โดยอาจารย์ได้กล่าวเตือนอีกด้วยว่า นี่คือการทำให้ความหมายมันเลือนหายไป เมื่อ /คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน/ (ราษฎร) กลายเป็น /คะ-นะ-ราด/ (ราข?) ความหมายมันก็เสียไปแล้ว — จะระมัดระวังยิ่งขึ้นครับ

อาจารย์ย่ายังได้ให้ความต่ออีกด้วยว่า ในหลายประเทศนั้น แนวคิดพื้นฐานที่สำคัญยิ่งกว่าและเป็นที่มาของ “รัฐธรรมนูญ” ก็คือ “คำประกาศสิทธิ” ต่าง ๆ (bill of rights [เช่น Magna Carta, US Bill of Rights]) ซึ่งจำกัดสิทธิของผู้ปกครอง และคุ้มครองปกป้องสิทธิของพลเมือง — และสำหรับประเทศไทย สิ่งที่เทียบเคียงได้กับคำประกาศสิทธิก็คือ “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” ดังกล่าวนั่นเอง

บรรยากาศจากงานส่วนหนึ่ง อ่านได้ที่ YouMedia 2 live blogging
(อ.ธวัชชัย, คนชายขอบ, James Gomez, Keiko Sei, สุนิตย์, และดาราคับคั่ง!)

เผอิญคิด 1: เกมโชว์ใหม่จากเวิร์กพอยท์ ที่จะมาแทน “เกมทศกัณฐ์” ชื่อว่า “ยกสยาม” — ในสมัยที่คณะราษฎรยังอยู่ในอำนาจการเมือง มีรูปปูนปั้นชิ้นหนึ่งชนะการประกวดประณีตศิลปกรรม ซึ่งจัดขึ้นในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2480 ใช้ชื่องานว่า “หลักหกยกสยาม” ... ไม่รู้ว่าเกมโชว์ที่ว่า จะออกมาแนวไหน :)

เผอิญคิด 2: อนุเสาวรีย์กลางแยกหลักสี่ แถวเกษตร ชื่อของมันคือ “อนุเสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” หรือ “อนุเสาวรีย์ปราบกบฏ” — โดยกบฏนี้หมายถึง กบฎบวรเดช ซึ่งนำโดยกลุ่มเจ้าที่ขัดแย้งกับคณะราษฎร ในเรื่องเกียรติยศและอำนาจของกษัตริย์ในระบอบใหม่ (ประชาธิปไตย) — เมื่อคณะราษฏรปราบกบฏบวรเดชลงได้แล้ว ก็ได้สร้างอนุเสาวรีย์นี้เอาไว้เป็นอนุสรณ์ — ชื่อ “หลักสี่” อาจมีที่มาจาก “หลักข้อสี่” ของหลัก 6 ประการฯ ก็เป็นได้ เพื่อเน้นว่า เจ้าจะต้องไม่มีสิทธิเหนือราษฎรอีกต่อไป — “จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)”

ทุกวันนี้คนทั่วไป น้อยคนที่จะเรียกอนุเสาวรีย์นี้ว่าอนุเสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามชื่อเดิม (ผมก็ไม่เคยเรียก - จะมีก็แค่เคยสงสัยว่า นี่มันอนุเสาวรีย์อะไรวะ ทำไมมีพานรัฐธรรมนูญแปะอยู่ข้างบนด้วย) คงเรียกแต่เพียง “อนุเสาวรีย์หลักสี่” แม้แต่ที่มาและความหมายของอนุเสาวรีย์ ก็ยังถูกบิดเบือนไป ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากเว็บไซต์การท่องเที่ยวเขตบางเขน ที่ระบุว่า: “... เป็นอนุสาวรีย์สถานเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ของความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การสู้รบทำนองสงครามกลางเมือง ซึ่งแฝงไว้ด้วยสื่อสัญลักษณ์ที่เป็นศิลปกรรมสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลในขณะนั้น ด้านการชูประเด็นสำคัญที่ยึดเป็นหลักความชอบทางการเมืองของรัฐบาล 5 ประการ คือ กองทัพ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ...” — คือไม่ได้ระบุที่มาที่ชัดเจน (กบฏบวรเดช) และในส่วนของความหมายนั้นก็...คิดได้ยังไง แถมใน 5 ประการนั้นยังมี กองทัพ อีกซะด้วยนะ สงสัยคงเพราะเป็นเขตทหาร!

ทุกครั้งที่ผ่านไปแถว “หลักสี่” ผมจะนึกถึง “หลักสี่” ที่ว่านี้ — หลักข้อที่สี่ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

คิดต่อ: จะเห็นได้ว่า ทั้งกรณี การออกเสียง “คณะราษฎร” ที่เพี้ยนไป หรือชื่ออนุเสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่กลายไปเป็น “อนุเสาวรีย์หลักสี่” นั้น ทำให้พลังในความหมายเดิม (ประชาชน/รัฐธรรมนูญ) นั้นหายไป ซึ่งก็ตอกย้ำที่ว่า การเมืองคือเรื่องของการแย่งชิงพื้นที่ ซึ่งก็รวมถึงการแย่งชิงความหมายด้วย (เช่น สีเหลืองหมายถึงอะไร คนดีคืออะไร คุณธรรมคืออะไร)


หลัก 6 ประการของคณะราษฎร

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
  6. จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

หลัก 6 ประการของคณะราษฎร


เกี่ยวข้อง: ชาตรี ประกิตนนทการ : สถาปัตย์คณะราษฎร บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แถม: ธงชัย วินิจจะกูล : ความทรงจำ ภาพสะท้อนและความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา

technorati tags: , ,

2007-11-28

Open source Java port for Mac OS X

Open Source Java 6 port สำหรับ Mac OS X มาแล้ว (รุ่น Developer Preview Release 2) ใช้ได้ทั้งบน Mac OS X 10.4 และ 10.5 ทั้ง 32-bit และ 64-bit

Java 6 port สำหรับ Mac OS X ตัวนี้ ไม่ได้มาจาก Apple แต่มาจากนักพัฒนาอิสระชื่อ Landon Fuller โดยใช้โค้ดจาก BSD Java port (Mac OS X มีหลายส่วนที่พัฒนาจาก BSD) ซึ่งใช้สัญญาอนุญาต Java Research License (มาจากเจรจาระหว่างโครงการ FreeBSD และ Sun)

Landon มีแผนจะส่งโค้ดนี้เข้าโครงการ BSD Java port ต่อไป และโครงการ BSD Java port เองก็มีเป้าหมายที่จะรวมงานของตนเข้ากับโครงการ OpenJDK (ซึ่งใช้สัญญาอนุญาต GPLv2+Classpath Exception)

ในเว็บไซต์ของ Landon Fuller มีโชว์ Puzzle Pirates ที่รันบน Java 6 port ตัวนี้ด้วย ผมชอบเกมนี้มาก เคยติดงอมแงมอยู่พักนึง นอกจากนี้ก็มีภาพ Eclipse (ตัวอย่างของแอพพลิเคชั่น SWT) ที่ใช้ Carbon ด้วย

Charles Nutter นักพัฒนา JRuby ได้ทดสอบ Open Source Java 6 port ตัวนี้กับ JRuby พบว่าในการทดสอบเลขคำนวณจำนวนเต็ม (fibonacci test) JRuby trunk บน open source Java 6 port มีประสิทธิภาพดีกว่าบน Apple JDK 6 preview และตามหลัง Ruby 1.9 (native) ไม่ไกลนัก และหากให้ JRuby trunk บน open source Java 6 port ทำงานในโหมด frameless execution แล้วมันจะมีประสิทธิภาพดีกว่า Ruby 1.9 อยู่เล็กน้อย

ส่วนในการทดสอบ MatrixBenchmark JRuby บน open source Java 6 port ทำงานเร็วกว่า Ruby 1.9 อยู่ราว 25%

แบบนี้นักพัฒนา (จาวา) จำนวนหนึ่งอาจจะยังใช้ Mac OS X 10.4 ต่อไปได้อีกสักพักใหญ่ ๆ เลยล่ะ ไม่ต้องง้อ Apple แล้วเรื่อง JDK — เว้นว่าถ้าอยากจะเขียนโปรแกรมที่ใช้หน้าตาแบบ Cocao ด้วย Java อันนั้นก็อีกเรื่องนึง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับ UI ก็สบายแล้ว

(ตะกี้ได้กิน “ก๊อบ กอบ” ครั้งแรกในรอบหลายปี ได้รสชาติที่ต่างไปจากเลย์จริง ๆ เบื่อเลย์ ตอนแรกจะหยิบเทสโต แต่เหลือบไปเห็นก๊อบ กอบ ซะก่อน ได้เยอะกว่าด้วย มากกว่าตั้ง 10 กรัม :P)

[ ลิงก์ Landon Fuller | ผ่าน Slashdot ]

technorati tags: , ,

2007-11-24

Wikipedia founder: Censorship is a barrier to Thailand progess

“Thailand should recognise that censorship is a barrier to progress.”

— Jimmy Wales, Wikipedia founder

“ประเทศไทยควรสำนึกว่าการเซ็นเซอร์เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้า”

— จิมมี เวลส์, ผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย

สำหรับคนที่ใช้เน็ตทรู หรือเน็ตยี่ห้ออื่น ๆ ที่เข้าวิกิพีเดียไม่ได้ ลอง OpenDNS (อ.มะนาว อธิบายอย่างละเอียดไว้)
— ใช้ได้หรือไม่ได้ยังไง อย่าลืมโทรไปบอกศูนย์บริการด้วย ผู้บริโภคอย่างเราก็มีสิทธิ

[ ลิงก์ Bangkok Post Database | ผ่าน blognone ]

technorati tags: ,

Sunday 25 Nov - YouFest - Citizen Journalism

ฝากประชาสัมพันธ์ครับ วันอาทิตย์นี้แล้ว

เสวนา YouFest ครั้งที่ 5 การสื่อข่าวพลเมือง
อาทิตย์ 25 พ.ย. 2550
13:00-จนกว่าจะพอใจ
@ INET ชั้น 13 ตึกไทยซัมมิท ถนนเพชรบุรี (MRT เพชรบุรี) แผนที่

  • พื้นที่ของสื่อพลเมือง / gotoknow.org
  • โอกาสและข้อจำกัดของสื่อพลเมือง / ประชาไท
  • สิทธิของสื่อพลเมือง / คนชายขอบ
  • กฎหมายหมิ่นประมาทในฐานะเครื่องมือจำกัดเสรีภาพสื่อ / อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์
  • ความอยู่รอดของสื่อพลเมืองในทางการเงิน / TRN Institute และ Friedrich-Naumann-Stiftung*
  • การต่อสู้ทางการเมืองในไซเบอร์สเปซ: สิงคโปร์ / James Gomez นักรณรงค์เพื่อเสรีภาพสื่อ
  • ศิลปะแห่งการสื่อสารประเด็นอ่อนไหว และนักเคลื่อนไหวด้านสื่อ / Keiko Sei นักวิชาการด้านสื่อและศิลปะ
  • เวทีอภิปราย อนาคตของสื่อพลเมือง
  • เทคโนโลยีเพื่อสื่อพลเมือง / duocore, exteen*, จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล, กองทุนไทย*

* รอยืนยัน

รายละเอียดเพิ่มเติม: YouFest, Siam Intelligence

http://youfest.in.th/YouMedia2


ป.ล. ผู้อ่าน blognone สัมภาษณ์อ.ธวัชชัย gotoknow.org / อ.ธวัชชยตอบแล้ว

technorati tags: , ,

2007-11-23

my stomach

ท้องเสียมาตั้งแต่วันจันทร์แล้ว ถ่ายบ่อยและถ่ายเป็นน้ำ

ตอนแรกคิดว่าเดี๋ยวมันก็หายเอง เพราะก็เคยเป็นแบบนี้มาก่อนหลายที ทุกทีก็แค่พยายามกินอะไรร้อน ๆ เดี๋ยวมันก็หาย
วันจันทร์กับอังคาร กินก๋วยเตี๋ยวปลาไปตอนเย็น

เช้าวันพุธ ก็ดูท่าจะโอเคแล้ว มันยังปวด ๆ นิดหน่อย แต่ไม่ได้เป็นอะไรมากแล้ว ก็ยังไปสัมมนาที่แลบได้ กลางวันก็กินข้าวคลุกกะปิที่โรงอาหาร ก่อนจะขึ้นรถกลับตอนสี่โมง ก็ถ่ายไปอีกรอบ แต่ก็คิดว่ามันไม่ได้หนักมาก ไม่น่าจะเป็นอะไรแล้ว

ตอนเย็น ๆ รู้สึกหนาวมาก แต่เราคิดว่าเป็นเพราะห้องสมุดศูนย์รังสิต (ตรงใกล้ ๆ ว.จ. ไม่ใช่หอป๋วย) เค้าเปิดแอร์เย็นเกินไปเอง (นศ.บ่นเยอะ หอป๋วยเองก็เหมือนกัน มีกระดาษความเห็นเขียนประมาณว่า “หมีขาวจะออกมาฆ่านศ.แล้ว”) ไม่ได้คิดว่าตัวเราไม่สบายอะไร

แล้วคืนวันนั้น ไม่รู้นึกครึ้มยังไง เดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อแล้วเห็นคนอื่นเค้ากำลังหยิบเบียร์กัน พอกลับหอไปเราก็เลยเอาบ้าง (ไม่ได้เจียมเลย)

ปรากฎว่า เช้าวันพฤหัส อาการยิ่งหนัก ทั้ง ๆ ที่คืนพุธที่ว่ากินเบียร์ ก็กินไปแค่ไม่ถีง 1/5 ของกระป๋อง(เล็ก)

บ่ายพฤหัสก็ไปติว NetBeans น้อง แล้วก็กลับศูนย์รังสิต วันนั้นทั้งวันกินไปแต่ ไส้กรอกพันเบคอน ตอนกลางวัน

กลับมาที่หอ ไปศูนยเมื่อวานเย็นหมดแรงเลย ตามข้อพับนี่ไม่มีแรงจริง ๆ เมื่อยไปหมด
นึกขึ้นได้ว่ามีผงเกลือแร่ติดอยู่ที่หอ ก็เลยชง ๆ กินไป (ผสมโซดานะ ที่ห้องไม่มีน้ำเปล่าเหลือ - -" — ปกติผมกินโซดาเปล่า ๆ น่ะ เดี๋ยวจะหาว่าขี้เหล้า :P — ตอนเทผสมกันนี่ ฟู่ มาก ๆ)

วันนี้ก็ยังปวดอยู่นิดหน่อย ยังไม่หายดี แต่ก็ดีกว่าเมื่อวานเยอะ ตอนแรกตั้งใจจะไปสัมมนาที่เศรษฐศาสตร์ กับไปห้องสมุดบัญชีที่ท่าพระจันทร์ (ไปยืม The Text Mining Handbook .. มีอยู่เล่มเดียวที่ห้องสมุดบัญชี งงป่ะ บัญชีเค้าใช้ด้วยเหรอ อยากอ่าน แต่มัน request ให้ส่งมารังสิตไม่ได้)

วันนี้กินแต่น้ำ ชา แล้วก็ ฝรั่ง ทั้งวัน ไม่กล้ากินข้าว
เย็นนี้ไปงานแต่งงานเพื่อนที่มหาลัย ไม่รู้จะกินอะไรได้มั๊ย
(เป็นงานแต่งซึ่งจำผิดนึกว่าเป็นเสาร์ที่ผ่านมา หยิบสูทออกจากบ้านซะดิบดี โทรไปหาเพื่อน เฮ้ย งานแต่งxxxมันกี่โมงวะ เพื่อนตอบมาว่า แต่ศุกร์หน้า(นี้)ตะหาก อ้าว แล้ววันนี้งานแต่งใครหว่า เราจำได้ว่าเพื่อนเราแต่งวันนี้อ่ะ ปรากฎว่า ตอนเย็นโทรหาเพื่อนที่โรงเรียน ด้วยธุระอื่น ยังไม่ทันจะพูดอะไร มันถามมาก่อนเลย เฮ้ย ทำไมมึงไม่ไปงานแต่งไอ้yyyวะ? ... เอ้า ชิบหาย กูว่าแล้ว มันต้องมีงานแต่งใครซักคน ... เฮ้อ ปลาทองจริง ๆ - -")

เป็นสัปดาห์ที่ไม่มีแรงจริง ๆ

เอ้อ เมื่อวานไปดูหนังมา (เจ๋งมะ ไม่มีแรง แต่จะไปดูหนัง แต่คิดว่าตอนนั้นถ้าต่อรถกลับบ้านอีกทีทันทีเลย อาจจะไปตายในรถได้ นั่งเฉย ๆ อยู่ในโรงหนังก็ดีกว่าเยอะล่ะน่ะ)

“รักแห่งสยาม” เป็นหนังรัก ของ ทุกวัย และ ทุกเพศ จริง ๆ เราดูแล้วน้ำตาไหลไปหลายตอน มันไม่ได้เศร้าหรอกนะ แต่มันโดน เราคิดว่าคนรุ่นเรา โดยเฉพาะคนในเมือง และเคยมีชีวิตช่วงหนึ่งประมาณนั้น ก็คงจะโดนคล้าย ๆ กับเรา — เพลงก็เพราะด้วย

technorati tags: ,

2007-11-22

Jimmy Wales in Bangkok

ชมบันทึกภาพการบรรยายการสัมภาษณ์ของ จิมมี เวลส์, ผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย, ที่งาน Bangkok ICT Expo 2007 ได้ที่เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

technorati tags: , ,

2007-11-21

BarCamp Bangkok 2008

ไปช่วยกันระดมความคิดได้ที่ BarCamp Bangkok wiki, mk คุยเปิดเรื่องให้ฟังที่บล็อก

แม่งานครั้งแรกนี้ คือ sugree และ keng.ws (kengggg) ที่ร่ำ ๆ จะจัด ๆ มานานแล้ว เมื่อคราว ComWorld ที่ผ่านมา (เห็นอารมณ์พลุ่งพล่านได้อย่างชัดเจน)

ใครเสนอตัวช่วยอะไรได้ ก็เอา ไปบอกกล่าวกันในวิกิ

...เบื่อคอมแล้ว อยากดูโชว์ประมาณ วิธีประกอบเครื่องผลิตไบโอดีเซลจากขยะในครัว งบไม่เกิน 8,000 บาท

technorati tags: , ,

2007-11-19

Hi-Thaksin.net got blocked, again

วันนี้ลองเข้า hi-thaksin.net ดู (จะค้นเรื่องเอกสารลับ) ... เข้าไม่ได้อีกแล้ว

“ ขออภัย ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอระงับการเชื่อมต่อมาที่เวบไซต์นี้ เนื่องจากมีรูปภาพ หรือข้อความที่ไม่เหมาะสม เช่น ลามกอนาจาร การพนัน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ”

เฮ้อ~ ชาติใครอีกล่ะเนี่ย...

technorati tags:

Science Film Festival 2007

เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ 2550
13-23 พ.ย. 2550

@ ท้องฟ้าจำลอง เอกมัย, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลองห้า, พิพิธภัณฑ์เด็ก สวนจตุจักร, TK Park

[ ลิงก์ goethe.de | ผ่าน biolawcom.de ]

technorati tags: , ,

2007-11-18

Voters' Handbook

“ การเมืองไทยควรเป็นเรื่องของนโยบายและโครงการ มากกว่าเรื่องพูดไพเราะไม่ไพเราะ สุภาพไม่สุภาพ คุณธรรมหรือไม่คุณธรรม ”

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข: จะเลือกนโยบาย หรือจะพิจารณาจากรสนิยม

พลิก คู่มือเลือกตั้ง รวมนโยบาย 12 พรรคการเมือง

งานเสวนาที่เกี่ยวข้องช่วงนี้ 2 งาน ที่เศรษฐศาสตร์ มธ.

  • 23 พ.ย. 13:00 - ตลาดนัดนโยบาย “เวทีติดดาวนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง”
  • 26 พ.ย. ทั้งวัน - เสวนาวิชาการ “ความยากจน แรงงาน และสวัสดิการ: โจทย์สำหรับรัฐและชุมชน”

ดูรายละเอียดที่ http://econ.tu.ac.th/seminar/

technorati tags: , ,

2007-11-17

Free Mind Map

ซอฟต์แวร์สำหรับทำ mind mapping/concept mapping นี่มีเยอะมาก
ที่เป็นซอฟต์แวร์เสรีก็เยอะ หรือที่เป็นฟรีแวร์ (แต่ไม่เปิดซอร์สโค้ด) ก็เยอะเช่นกัน

ลองไปดูได้ที่: WP: list of mind mapping software

ตัวที่นิยมใช้กันแพร่หลายในประเทศไทย คือ FreeMind เป็นซอฟต์แวร์เสรี ที่เปิดให้เอาไปใช้เอาไปแก้ไขเพิ่มเติมได้โดยเสรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ใช้ได้กับหลายระบบปฏิบัติการ ทั้ง Windows, Mac OS X, GNU/Linux ฯลฯ (เป็นจาวา) — อธิบายสรรพคุณ / ดาวน์โหลด / mk: วิธีติดตั้งสำหรับคนใช้ลีนุกซ์ Ubuntu

ส่วนโปรแกรม Semantik (เดิมชื่อ Kdissert) ก็น่าสนใจสำหรับคนที่อยากจะทำเอกสาร ทำรายงาน โดยใช้ mind map เป็นเครื่องมือ โดยมันสามารถสร้างเอกสารจากแผนที่ความคิดให้เราได้ด้วย (pdf, latex, odt, txt, html) เจ๋งดี (ตัวนี้เป็น Python/Qt)
ส่วนใครใช้ Ubuntu อยู่จะลง Kdissert จาก apt-get/Synaptic เลยก็ได้ (แต่จะเป็นรุ่นเก่ากว่า)

แนวความคิดเรื่อง “mind map”/“concept map” หรือ “แผ่นที่ความคิด” นี้ เป็นแนวความคิดที่ใช้กันมานานแล้ว หลายศตวรรษ โดยวิกิพีเดียยกตัวอย่างงานของ Porphyry of Tyros นักคิดคนสำคัญในคริสตศตวรรษที่ 3 (ราว 1,700 ปีก่อน):

Mind maps (or similar concepts) have been used for centuries, for learning, brainstorming, memory, visual thinking, and problem solving by educators, engineers, psychologists and people in general. Some of the earliest examples of mind maps were developed by Porphyry of Tyros, a noted thinker of the 3rd century as he graphically visualised the concept categories of Aristotle. Ramon Llull also used these structures of the mind map form.

สำหรับตัวอย่างของไทย อันหนึ่งน่าจะเป็นงานของท่านพุทธทาส ดังภาพนี้:

Buddhadasa's mind map
(จากหนังสือ พุทธทาสลิขิตข้อธรรม บันทึก นึกได้เอง ผังนี้ท่านพุทธทาสบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2495)

ใครสนใจเรื่อง data visualization ลองไปดู
Milestones in the History of Thematic Cartography, Statistical Graphics, and Data Visualization
มีภาพและผังต่าง ๆ เยอะมาก แสดงวิวัฒนาการและการพัฒนาในสาขานี้ น่าสนใจมาก (ลิงก์จากคุณคนชายขอบ – ขอบคุณครับ)

technorati tags: , ,

2007-11-16

Hello ! Siam.

บล็อกใหม่แนะนำ:

Hello ! Siam.
โดย เจ้าน้อย ณ สยาม

แถม ข่าวสัมมนาสันติวิธี ความรุนแรง และสังคมไทย:

“ซ่อน-หา” สังคมไทย

19-20 พ.ย. 2550 (จันทร์-อังคาร)
ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โปรแกรม

จัดโดย คณะรัฐศาสตร์ มธ. ร่วมกับ โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว.

technorati tags: , ,

2007-11-13

Horror in Pink

ภาพชุด “Horror in Pink” (ปีศาจสีชมพู) ในซีรี่ส์ “Pink Man” โดย มานิต ศรีวานิชภูมิ (ขวัญใจ anpanpon) 1 ใน 100 ช่างภาพร่วมสมัยที่ “น่าตื่นเต้น” ที่สุดในโลก จากการคัดเลือกของ 10 ภัณฑารักษ์ชั้นนำ (หนังสือ Blink. โดยสำนักพิมพ์ Phaidon)

เข้ากับกระแสเสื้อชมพูตอนนี้ดี

Q: What did they die for?

A: So we can go shopping.

Horror in Pink (2001) - 1

Horror in Pink (2001) - 2

Horror in Pink (2001) - 3

Horror in Pink (2001) - 4

Horror in Pink (2001) - 6

เมื่อปี 48 มานิตเคยจัดนิทรรศการ “นีโอ-ชาตินิยม”
วสันต์ สิทธิเขตต์ หนึ่งในศิลปินผู้ร่วมแสดง (ต่อมาได้รับรางวัลศิลปาธร ประจำปี พ.ศ. 2550) ได้กล่าวไว้ว่า:

“เพราะฉะนั้นการที่เรามาตั้งสติคิดว่า ฉันไม่ขอเป็นชาตินิยมกับคุณ ถ้าชาตินิยมนั้นหมายถึงการที่จะต้องคับแคบ อคติ หรือชิงชังกับคนที่มีความเห็นแตกต่างจากตัวเอง.... แล้วเราจะอยู่ในความต่างกันได้อย่างไร สิ่งนี้แหละคือสิ่งที่พูดถึงความมีวัฒนธรรม ความมีอารยธรรม เพื่อที่มนุษย์จะพัฒนาสติปัญญามากขึ้น เพื่อที่จะให้ทุกคนมีความรู้ ไม่ใช่ให้อยู่ในความโง่เขลา แล้วจูงเขาไปสู่ผลประโยชน์ของตัวเอง โดยผู้ปกครอง”

[ ลิงก์ Manit Sriwanichpoom | ผ่าน New Mandala ]

(ในเว็บ New Mandala, mk แนะนำให้อ่าน Royalist propaganda and policy nonsense)

technorati tags: , ,

2007-11-12

Media freedom interview on CPMR's media reform newsletter

“ที่เอาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพราะไม่อยากเอาพ.ร.บ.ใหญ่กว่านี้”

— พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม (DSI), 8 พ.ย. 2550

พี่ที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ส่งอีเมลมาสัมภาษณ์ตั้งแต่สองอาทิตย์ที่แล้ว เพิ่งมีเวลาตอบกลับไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

วันศุกร์เขาโทรมาอีกที บอกว่าขออนุญาตรีไรท์ใหม่ เพราะจดหมายข่าวที่เขาจะเอาไปลง มันบางนิดเดียว ลงให้ได้สามหน้า แต่ที่ผมส่งไปมันเก้าหน้ากว่า ๆ ได้ :P เขาจะแบ่งลงเป็นสองฉบับแล้วกัน สัมภาษณ์ลงฉบับนี้ และเลือกประเด็นบางอย่างไปลงฉบับหน้า ผมบอกไปว่ารีไรท์ตามสบายเลยพี่ เพราะพี่รู้จักกลุ่มผู้อ่านดีกว่าผม จะได้เขียนให้เป็นภาษาที่กลุ่มผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ

เลยขอเอาฉบับเต็ม ๆ ที่ส่งไปให้เขาทีแรก (แก้ไขนิดหน่อย) มาลงในบล็อกนี้ (ในนี้ผมใช้ “บล็อก” สำหรับ “blog” และ “บล็อค” สำหรับ “block”) เพื่อให้รับกับงานสัมมนา “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่และการคัดค้านของโลกไซเบอร์ : จากตำราสู่การปฏิบัติจริง” เมื่อ 8 พ.ย. ที่พึ่งผ่านมา (ดูความเห็นคนอื่น ๆ: wonam, คนชายขอบ (พร้อมแผ่นนำเสนอ), วิดีโอสัมภาษณ์วิทยากร (ดาวน์โหลด [wmv])) — ในสัมมนาวิทยากรจาก PTT ICT Solutions ยอมรับและเห็นด้วยว่า ระเบียบการยึดอายัดเซิร์ฟเวอร์ ยังมีช่องโหว่อยู่ เรื่องการที่เจ้าหน้าที่อาจจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้โดยเจ้าของเครื่อง/ศาลไม่รู้

ความเห็นเพิ่มเติมจากบทสัมภาษณ์นี้ ในประเด็นพ.ร.บ.คอมฯ ก็คือ ผมเห็นด้วยกับประเด็นของคุณคนชายขอบมาก (จากสัมมนา) ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของบล็อกเกอร์ในฐานะสื่อพลเมือง และเรื่องมาตรา 14, 15, 16 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจได้ว่า เนื้อหาอะไรที่ “น่าจะเกิด” ความเสียหายได้. ซึ่งเท่ากับว่าให้อำนาจ บุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ในการฟ้องร้อง (โดยความเสียหายยังไม่จำเป็นต้องเกิดจริงด้วยซ้ำ แค่สงสัยว่ามัน “น่าจะเกิด” ได้ ก็ฟ้องได้แล้ว) — กฎหมายหมิ่นประมาท ในปัจจุบัน ให้อำนาจเฉพาะผู้เสียหายเท่านั้น ที่เป็นผู้ฟ้องได้, กรณีเดียวก่อนหน้านี้ที่ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้เสียหายฟ้องได้ ก็คือใน กฎหมายหมิ่นพระบรมฯ เท่านั้น — ซึ่งตรงนี้ก็สอดรับชัดเจนกับที่ พ.ต.อ.ญาณพล ยอมรับบนเวทีว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 2 รายที่ถูกจับไปเงียบ ๆ นั้น ถูกจับด้วย พ.ร.บ.คอมฯ นี้จริง โดยตอบว่า “ที่เอาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพราะไม่อยากเอาพ.ร.บ.ใหญ่กว่านี้”

จากตรงนี้ ประกอบกับประวัติศาสตร์การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมฯ ที่ผ่านมา, แนวโน้มที่จะมีการใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับนี้ เพื่อกลั่นแกล้ง/จำกัด/กำจัดผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน (โดยเฉพาะในทางการเมือง) ก็มีสูงมาก (2 รายที่โดนไป ก็อาจจะใช่.)

ที่รีบร้อนเร่งเร้าให้ออกพ.ร.บ.นี้กันเหลือเกิน (เป็นพ.ร.บ.แรกที่สนช.จากรัฐประหารหยิบมาพิจารณา) ก็เพราะแบบนี้ใช่ไหม ?

พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ร.บ.หนังสือพิมพ์ และอื่น ๆ ที่กำลังตามมา ก็คงมีแรกผลักดันที่ไม่ต่างกัน, และสุดท้ายถ้าไม่มีแรงต้านจากสังคมที่เพียงพอ กฎหมายที่มีเนื้อหากระทบต่อสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ เหล่านี้ก็คงจะผ่านออกมาในลักษณะคล้าย ๆ กัน.

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 [pdf]

ประชาไทรายงานการสัมมนา:

“ความมั่นคงของ ‘รัฐ’ กับความมั่นคงของ ‘รัฐบาล’ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร บางทีรัฐบาลลืมตัวไปว่าตัวเองเป็นรัฐ การคุกคามตัว[รัฐบาล]เอง กลับมองไปว่าเป็นการคุกคามรัฐ”

— โสรัจจ์ พงศ์ลดารมภ์ ผู้อำนวยการศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 8 พ.ย. 2550


บทสัมภาษณ์ จดหมายข่าวปฏิรูปสื่อ

บทสัมภาษณ์

กองบรรณาธิการ จดหมายข่าวปฏิรูปสื่อ

เมื่อใครก็ตาม “คลิก” เข้าสู่โลกไซเบอร์ ในพริบตาข้อมูลข่าวสารทุกมุมโลกก็ปรากฏขึ้นตรงหน้า ใครๆอาจเลือกที่จะรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่สำหรับสังคมไทยวินาทีนี้อาจกลับกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกปิดกั้นความต้องการรับรู้หรือข่าวสารบางอย่าง “มือที่มองไม่เห็น” ของอาดัม สมิธ อาจทำให้กลไกตลาดทำงานได้ แต่มือที่มองไม่เห็นที่ไล่ปิดเว็บไซต์หลัง 19 กันยา กลับทำให้เสรีภาพของผู้คนแคระแกน

เราจึงชวนคุณมาคุยกับเขา เขาคนนั้นที่คุณก็รู้ว่าเป็นใคร??? อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักวิชาการรุ่นใหม่ค่ายธรรมศาสตร์ที่ให้ความสนใจกับเรื่องราวของเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพิเศษ และอีกสถานภาพคือหนึ่งในแกนนำกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ หรือ FACT ที่ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และรณรงค์ต่อเนื่องมาแต่แรกที่เว็บไซต์ถูกปิดลง


ช่วยแนะนำตัวเองให้เครือข่ายสื่อรู้จักมากขึ้น

สวัสดีครับ ผมอาทครับ ว่ากันตามจริงแล้วบางทีผมก็ยังงง ๆ อยู่ ว่าตัวเองจับพลัดจับพลูมาอยู่แถว ๆ นี้ได้ยังไง “เครือข่ายสื่อ” เนี่ย.

คือผมเรียนมาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ งานปัจจุบันก็เป็นงานวิจัยด้าน การประมวลผลภาษาธรรมชาติ การสืบค้นข้อมูลภาษาไทย อะไรประมาณนั้นครับ คือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เสียเป็นส่วนใหญ่. แต่โดยความสนใจทั่ว ๆ ไปก็คือ ทำยังไงให้คนเราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ต้องการได้สะดวกที่สุด (information access) ซึ่งตรงนี้อาจจะเกี่ยวกับเรื่องสื่ออยู่บ้าง แต่เป็นสื่อในเชิงตัวนำพาสารนะครับ ไม่ใช่ในความหมายสื่อสารมวลชนซะทีเดียว.

คือผมมองว่า ในการจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารชิ้นหนึ่งนี่ มันมีหลายกำแพงที่เราต้องข้ามไปให้ได้. อย่างระยะทาง ก็เป็นกำแพงหนึ่งในการส่งข้อมูล, หรือการมีข้อมูลกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบค้นหายาก ก็เป็นกำแพงหนึ่ง, หรือการที่ข้อมูลมันเป็นภาษาอังกฤษ ก็เป็นกำแพงหนึ่งสำหรับคนไทย, หรือการที่ข้อมูลที่หามาได้มันเยอะมากจนอ่านไม่ไหว (information overload) ก็นับเป็นอีกกำแพงหนึ่งได้.

ซึ่งกำแพงที่ได้ยกตัวอย่างไปนี่ ในทางเทคนิคแล้ว ปัจจุบันเราก็มีเทคโนโลยีอย่าง อินเทอร์เน็ต เสิร์ชเอนจิ้น โปรแกรมแปลภาษา โปรแกรมย่อความอัตโนมัติ มาช่วยแก้ปัญหาพวกนี้ไปได้ในระดับหนึ่ง.

อย่างไรก็ตาม มันยังมีกำแพงที่ขวางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอีกจำนวนหนึ่ง ที่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำลายหรือพาเราข้ามมันไปได้ เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาหรือระบบลิขสิทธิ์ที่เข้มงวดเกินไปจนไม่สมเหตุสมผล ก็เป็นกำแพงหนึ่งในการเข้าถึงหรือต่อยอดเผยแพร่ข้อมูลต่อ, หรือการออกแบบเอกสารหรือสื่อที่ไม่ได้คำนึงถึงผู้พิการ (accessibility) ก็เป็นกำแพงในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสำหรับผู้พิการ เป็นต้น.

จากแนวคิดนี้ เราก็จะเห็นว่า การคัดกรองเนื้อหาและการเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนี่ มันก็เป็นกำแพงหนึ่งเช่นกัน.

อาจจะด้วยเหตุนี้ ที่พาผมเข้ามาช่วยงานในเครือข่ายรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการแสดงออกในอินเทอร์เน็ตอย่างทุกวันนี้ครับ คือมันมาตามทางของมันเอง จริง ๆ ไม่ได้คิดจะมาทำเรื่องต่อต้านอะไรแต่แรก แต่มันก็เหมือนกับ ถ้าไม่ทำตรงนี้ เทคโนโลยีอะไรที่พวกเราคิดค้นที่พวกเราทำ มันก็ไม่มีความหมาย เสิร์ชเอนจิ้นคุณดีแค่ไหน หาได้เจอทุกอย่าง แต่ถ้าถูกเซ็นเซอร์ ทุกอย่างมันก็จบ.

ปัจจุบันนอกจากงานวิจัยที่ SIIT ธรรมศาสตร์แล้ว ก็มีมาช่วยงาน FACT นี่ กับโครงการครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons) ของประเทศไทย แล้วก็มีงานอื่น ๆ บ้างครับ แล้วแต่ว่ามีเวลาช่วงที่เขาติดต่อมาไหม. แล้วก็เป็นสมาชิกเครือข่าย YouFest ที่พยายามจะเผยแพร่แนวคิดด้านนิวมีเดีย (new media - สื่อนฤมิต/สื่อใหม่) สื่อพลเมือง อะไรทำนองนี้ในเมืองไทย จากมุมของคนที่ไม่ได้อยู่ในสายสื่อเลย.


กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์มีแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างไร และเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง

สิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิเสรีภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเหล่านี้เราคิดว่ามันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิเสรีภาพที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนมาแต่กำเนิด. ถึงไม่มีกฎหมายไม่มีรัฐธรรมนูญรับรอง เราก็ยังมีสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ — ตรงนี้ต้องย้ำให้ชัดเจน ว่ารัฐไม่ได้เป็นผู้ให้สิทธิเสรีภาพกับเราผ่านทางกฎหมายต่าง ๆ แต่เรามีสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ติดตัวมาอยู่แล้วตั้งแต่เกิดโดยธรรมชาติ.

การเซ็นเซอร์หรือปิดกั้นเว็บไซต์ ละเมิดสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในทุกวันนี้ ที่อินเทอร์เน็ตมันเป็นสื่อแบบสองทาง คือใช้ได้ทั้งเพื่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สื่อสาร และแสดงออก จะเห็นได้จากเว็บบอร์ด และบล็อก (blog) ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย และมีอัตราเติบโตสูงมาก.

และแนวโน้มที่ผมเห็นก็คือ ในช่วงเวลาที่ผ่านมามันเริ่มมีบรรทัดฐานบางอย่างพัฒนาขึ้นในสังคมออนไลน์แล้ว เช่นการเอาอีเมล เบอร์โทรศัพท์ หรือที่อยู่ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่น ไปโพสต์ออนไลน์ อันนี้ถือเป็นเรื่องต้องห้าม ผิดมารยาท.

ตรงนี้มันอาจจะตอบที่ถามกันว่า “เรียกร้องกันแต่สิทธิเสรีภาพ แล้วความรับผิดชอบล่ะอยู่ที่ไหน” ได้เหมือนกัน. คือผมคิดว่าถ้าคุณเปิดโอกาสให้มันได้พัฒนาเรียนรู้กันไปตามธรรมชาติ สิ่งต่าง ๆ อย่าง ความรับผิดชอบ มารยาท ประเพณี มันอาจจะเกิดขึ้นเองก็ได้. แล้วมันจะยั่งยืนมั่นคงกว่าด้วย ถ้ามันเป็นบรรทัดฐาน เป็น norm ของสังคมออนไลน์ขึ้นมาเอง และดูแลกันเอง. ไม่ใช่เป็นกฎที่ใครก็ไม่รู้ตั้งขึ้นมาสั่งให้ทำ. อย่างเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่ยกตัวอย่างไป กฎหมายบ้านเรามันยังไปไม่ถึงตรงนั้นเลย พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลก็ยังถูกดองอยู่ แต่ในขณะเดียวกันมันเป็นบรรทัดฐานในสังคมออนไลน์โดยทั่วไปแล้ว เร็วกว่ากฎหมาย.

ถ้าเรายอมรับว่าสังคมออนไลน์มันต่างจากสังคมออฟไลน์ (offline ในชีวิตจริงนอกออนไลน์) เราก็ควรยอมรับว่ามันก็จะมีวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มของมันเอง.

คือต่อจากเรื่องกำแพงที่ผมว่าไปก่อนหน้านี้ ถ้าเราลองพิจารณาดู เราจะเห็นเลยว่า กำแพงเซ็นเซอร์นี่ มันเรียกได้ว่าเป็นกำแพงประเภท “หาเรื่อง” โดยแท้. คือแต่เดิมมันไม่มีอยู่ ไม่เหมือนพวกกำแพงภาษาที่เป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งกรณีนั้นเราก็ไม่ว่ากัน ก็หาทางข้ามกันไป ถ้าวันหนึ่งเทคโนโลยีมันก้าวหน้าพอ เราก็จะข้ามกำแพงพวกนี้ไปได้โดยง่ายเอง. แต่กำแพงอย่างเซ็นเซอร์นี่ มันเป็นเรื่องหาเรื่องโดยแท้ คนเราสร้างกันขึ้นมาเอง เอามาขวางทางกันเอง ด้วยเหตุผลข้ออ้างต่าง ๆ นานา เพื่อที่จะจำกัดว่า ใครจะสามารถรับรู้อะไรได้หรือไม่ได้. แล้วต่อให้คุณมีเทคโนโลยีดีขนาดไหน คุณก็ไม่สามารถจะข้ามหรือทำลายกำแพงเหล่านี้ได้โดยง่าย. เพราะมันถูกสร้างมาจากวัสดุจำพวกอำนาจรัฐ จารีตประเพณี บรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งคุณใช้เทคโนโลยีเจาะไม่ได้. แต่ต้องใช้ความเข้าใจในสังคม ใช้พลังของประชาชนของคนในสังคมมาเจาะมันพังมันลงมา หรืออย่างน้อยก็ทำให้มันเตี้ยลง.

กิจกรรมของเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย หรือ FACT (Freedom Against Censorship Thailand) ก็จะเป็นไปในแนวทางนี้ ก็คือรณรงค์ให้สังคมได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น. ในขณะเดียวกันเราก็บอกความเห็นของเราไปด้วยว่า เราคิดยังไงก็สิ่งที่เกิดขึ้น เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร เพราะอะไร ก็เป็นลักษณะทั้งสร้างความตระหนักและให้ความรู้ไปในเวลาเดียวกัน. ซึ่งประเด็นบางอย่างมันค่อนข้างใหม่ในสังคมเรา ไม่เฉพาะแค่ออนไลน์นะครับ แม้แต่ออฟไลน์ก็ยังไม่ค่อยแพร่หลายเลย. ตัวอย่างเช่นเรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy) และเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล (personal data) ซึ่งเรื่องนี้ก็มี พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล อยู่ในขั้นตอนพิจารณาอยู่ ไม่แน่ใจว่าถึงขั้นไหนแล้ว แต่เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้หรือยังไม่ให้ความสำคัญ การมีส่วนร่วมจากสังคมในพ.ร.บ.นี้ก็มีน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่ผมคิดว่านี่เป็นพ.ร.บ.ที่จะกระทบกับชีวิตประจำวันของทุกคนในยุคข้อมูลข่าวสารอย่างทุกวันนี้.

กิจกรรมของ FACT ที่ผ่านมาก็มีทั้งการล่ารายชื่อ การออกแถลงการณ์ในวาระโอกาสต่าง ๆ ซึ่งหลายครั้งก็เป็นการทำร่วมกับคปส.และพันธมิตรอื่น ๆ มีการรวมกลุ่มประท้วงเชิงสัญลักษณ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ ที่หน้าห้างพันธุ์ทิพย์และที่หน้ายูเอ็น รวมทั้งการแจกซีดีรวมโปรแกรมต้านเซ็นเซอร์ไปในช่องทางต่าง ๆ สำหรับในเว็บไซต์ ก็จะมีข้อมูลและเอกสารเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ ซึ่งรวมถึงรายชื่อเว็บที่ถูกบล็อค พร้อมอัพเดทข่าวอยู่เรื่อย ๆ ทั้งของในประเทศและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง.

นอกจากนี้อาสาสมัครในเครือข่ายก็พยายามจะไปร่วมสัมมนาในโอกาสต่าง ๆ เช่นที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อซักถามและเสนอความคิดเห็นในเวทีเหล่านั้น และเคยร่วมกับเครือข่ายสื่อใหม่ YouFest จัดงานสัมมนาเล็ก ๆ เกี่ยวกับเรื่องการเซ็นเซอร์อยู่ครั้งหนึ่ง กำลังคิดว่าปลายเดือนนี้อาจจะจัดอีกครั้ง ถ้ามีแรง.

คือเรียกว่าทำอะไรได้ก็ทำ แล้วในเครือข่ายก็ค่อนข้างจะหลากหลาย คือในด้านหนึ่งที่เรามีร่วมกันก็คือเราเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ในด้านวิชาชีพพวกเราก็มีทั้ง เว็บมาสเตอร์ นักข่าว บล็อกเกอร์ โปรแกรมเมอร์ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย คนทำหนังสือวรรณกรรมเยาวชน นักธุรกิจ นักศึกษา เรียกว่าไอเดียนี่ไม่ค่อยตันกันเท่าไหร่ แต่ไม่ค่อยมีแรงทำได้อย่างที่คิด เพราะทุกคนจริง ๆ ก็มีงานประจำกันหมด ไม่ได้เป็นนักรณรงค์มืออาชีพ อย่างผมเองบางทีก็หายหน้าไปบ้างถ้าเกิดว่างานประจำยุ่งมาก.

บางทีเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะ ว่าที่เราทำไป มันจะมีประโยชน์อะไรแค่ไหน. คือถ้าสังคมบอกว่าฉันยินดีที่จะถูกเซ็นเซอร์ ฉันอยากมีคุณพ่อรู้ดีมาคอยบอกว่าฉันควรดูอะไรไม่ดูอะไร. เราก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าเราจะทำไปทำไม อันนี้พูดในนามส่วนตัวนะครับ. คือผมอยากให้ FACT เป็นแค่คนจุดประเด็น แล้วสังคมสานต่อถ้าสังคมเห็นด้วย มากกว่าที่จะให้ FACT เป็นคนทำทุกอย่าง. คือผมไม่เชื่อว่า อะไรที่มีใครสู้มาให้เรา แล้วเราจะเก็บมันไว้ได้. อย่างเรื่องรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยนี่ผมก็ไม่เชื่อ ไม่รู้จะทำให้ตัวเองเชื่อได้ยังไงด้วย.

มันต้องสู้เอง ถึงจะหวงแหน และรู้วิธีที่จะรักษาไว้ได้อย่างยั่งยืน.


ช่วยอธิบายสถานการณ์ในสังคมไทยที่มีการไล่ปิดหรือบล็อคเว็บไซต์ในช่วงที่ผ่านมา

ตกอยู่ในความสับสน.

นี่คือสิ่งแรกเลย เอ๊ะ เว็บนี้ถูกบล็อคหรือเปล่านะ หรือว่าเป็นปัญหาทางเทคนิค เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น คือผมขอใช้คำนี้เลยว่า “อีแอบ” คือไม่รู้จะหาคำอะไรมาเรียกดี บางเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคนั้นแทนที่จะขึ้นหน้าจอ ของกระทรวงไอซีที หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือของไอเอสพี (ISP - Internet Service Provider ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต) ว่า เอ้อเว็บไซต์นี้ถูกบล็อคนะ อย่างตรงไปตรงมา กลับขึ้นหน้าจอว่าไทม์เอาท์บ้างล่ะ (timed out อาการที่เว็บเบราว์เซอร์รอคำตอบจากเว็บไซต์เป็นเวลานานมาก แต่เว็บไซต์ก็ไม่ตอบกลับเสียที จนเลิกรอ) หรือหาเว็บไซต์ไม่เจอบ้างล่ะ หรือหน้านี้ไม่มีอยู่บ้างล่ะ โดยพยายามทำหน้าจอให้เหมือนกับหน้าจอแสดงข้อผิดพลาดทางเทคนิคของโปรแกรม Internet Explorer ให้มากที่สุด เพื่อตบตาผู้ใช้ แต่ทีนี้ ผู้ใช้บางคนเขาใช้โปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์อื่นไง อย่าง Opera หรือ Firefox พอเจอหน้าจอของโปรแกรม Internet Explorer ก็ยังไงล่ะ เขาก็รู้ไง ว่านี่ถูกแหกตาอยู่.

คือเรื่องแค่นี้ คุณยังไม่มีความกล้าเพียงพอเลยที่จะบอกว่าคุณทำ ยืดอกประกาศว่าฉันบล็อคเอง. แต่ในขณะเดียวกันคุณก็มาอ้างศีลธรรมจริยธรรมอันดีงามอะไรมากมาย ซึ่งผมว่ามันตลก. ถ้าคุณมั่นใจในศีลธรรมของคุณ คุณก็เปิดเผยไปเลยสิ ว่าฉันบล็อคเว็บไซต์นี้นะ คนเขาจะได้สรรเสริญระดับศีลธรรมของคุณ. ไม่ใช่ว่ากล้าทำแต่ไม่กล้ารับ.

อีกด้านหนึ่ง ในฝั่งผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปัญหาอย่างหนึ่งจากการที่คนบล็อคทำตัวเป็นอีแอบก็คือ คนกลุ่มหนึ่งก็จะเข้าใจว่ามันเป็นปัญหาทางเทคนิค แล้วก็จะเฉย ๆ นึกว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้ปัญหามันไม่ถูกแก้ไข. ส่วนอีกกลุ่มก็จะหาว่า พวกที่ออกมาโวยวายว่าเว็บไซต์นั้นนี้ถูกบล็อค เป็นการใส่ความกัน จริง ๆ เป็นปัญหาทางเทคนิคต่างหาก พวกที่ออกมาโวยวายนั้นไม่รู้เรื่อง ก็มี.

หรือบางครั้งการบล็อคเกิดขึ้นที่ระดับไอเอสพี ซึ่งบางไอเอสพีก็บล็อค บางไอเอสพีก็ไม่บล็อค. ก็จะเกิดการเถียงกันว่า ฉันเข้าได้ ที่เธอบอกว่าเขาไม่ได้นั้นเธอโกหก ทะเลาะกัน. แต่ความจริงก็คือ ไม่มีใครโกหก พูดความจริงทั้งคู่ เพียงแต่สองคนนี้ใช้ไอเอสพีคนละเจ้ากัน ก็เลยเห็นผลต่างกัน. กรณีแบบนี้ก็ทำให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และก็สร้างปัญหาให้กับการเสนอข่าวการปิดกั้นเว็บไซต์ และการรณรงค์ของ FACT อยู่เหมือนกัน.

ส่วนในฝั่งผู้นักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเสรีภาพ รวมถึงกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ตื่นตัวหน่อย มันก็ทำให้เกิดการปะทะถกเถียงกัน ว่าเส้นมันอยู่ตรงไหน. อะไรที่ยอมให้บล็อคได้ อะไรที่ไม่ควรยอมอย่างเด็ดขาด ซึ่งประเด็นที่ถกเถียงกันส่วนใหญ่ ก็จะเป็นเรื่องภาพโป๊เด็ก เรื่องความรุนแรง ถ้อยคำที่แสดงความเกลียดชังมุ่งร้าย (hate speech) หรือการเหยียดชาติพันธุ์. ซึ่งในทางหนึ่งมันก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนชัดเจน. บางคนก็จะบอกว่าไม่ควรจะปล่อยให้เกิดในสื่อ. ในขณะที่บางคนก็บอกว่า เห็นด้วยว่ามันไม่ควรจะปล่อยให้เกิด แต่ไม่ใช่เฉพาะในสื่อหรือในอินเทอร์เน็ตเท่านั้น มันไม่ควรจะเกิดที่ไหนเลยต่างหาก ดังนั้นการควบคุมก็ไม่ควรจะมาเจาะจงที่ตอนนำเสนอในอินเทอร์เน็ต แต่ควรจะเป็นการบังคับใช้ทั่วไปให้เข้มงวดเหมือนกันหมด. พูดง่าย ๆ คือกลัวว่าเรื่องประเด็นเปราะบางเหล่านั้นจะถูกใช้เป็นข้ออ้าง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นเนื้อหาอย่างอื่น.

ซึ่งจากที่เราเห็นกันมา มันก็มีความเป็นไปได้ เพราะในขณะที่หน่วยงานรัฐออกมาให้เหตุผลเรื่องการปิดกั้นเว็บไซต์ต่าง ๆ ว่าทำไปเพื่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และที่ปิดไปก็เป็นเว็บโป๊เปลือยซะเป็นส่วนใหญ่, เราก็พบว่าในรายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคนั้น จำนวนหนึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการเมือง หรือเว็บไซต์ที่แสดงความคิดเห็นไปในทางที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐหรือคณะรัฐประหาร. คือมันมีการเอาประเด็นหนึ่งมากลบประเด็นหนึ่ง แล้วก็สอดไส้ แอบทำอย่างอื่นไปด้วย ซึ่งเราก็ต้องระวัง.

ซึ่งสุดท้ายแล้ว แม้จะหลาย ๆ ฝ่ายจะไม่ได้เห็นด้วยกันหมดไปทุกเรื่อง ว่าอะไรควรบล็อคไม่ควรบล็อค. แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันก็คือ ถ้าจะมีการบล็อคเกิดขึ้นจริง ๆ มันควรจะโปร่งใสตรวจสอบได้ มีเกณฑ์มีกติกาชัดเจน และอำนาจในการบล็อคนั้น ไม่ควรจะรวมศูนย์อยู่ที่กลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง แต่ควรจะเป็นการทำงานปรึกษาหารือร่วมกันจากทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง. แบบนี้มันถึงจะเป็นที่ยอมรับได้จากสังคมประชาธิปไตย. ซึ่งตรงนี้ก็คล้าย ๆ กับข้อเรียกร้องของทางสายภาพยนนตร์ กลุ่ม Free Thai Cinema Movement ที่เคลื่อนไหวเรื่องแบนหนังตัดหนัง เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิเสรีภาพในทางศิลปะ.


โดยทั่วไปแล้วการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในโลกไซเบอร์มีลักษณะอย่างไร

หลัก ๆ น่าจะมีสามสี่ลักษณะใหญ่:


หนึ่ง — ทำให้เข้าเว็บไซต์หรือแหล่งข้อมูลนั้นไม่ได้ ซึ่งก็มีหลายวิธี เช่น

1) สั่งปิดเว็บไซต์ โดยติดต่อไปที่เว็บโฮสติ้ง (ผู้ให้บริการเช่าพื้นที่บนอินเทอร์เน็ตสำหรับสร้างเว็บไซต์) ขอหรือสั่งให้เขาปิดเว็บไซต์นั้นลง หรือไม่ก็หาทางเจาะระบบเข้าไปทำลายเว็บไซต์ลงซะ. ผลก็คือเว็บไซต์นั้นก็จะหายไปจากอินเทอร์เน็ตเลย ผู้ใช้ไม่ว่าจากประเทศไหนก็จะเข้าไม่ได้อีกแล้ว.

2) ปิดกั้นเว็บไซต์ หรือที่เรียกว่าการบล็อค (block) ซึ่งก็ทำกันได้หลายระดับ ทั้งที่ระดับเกตเวย์ (gateway - เป็นประตูเชื่อมเครือข่ายภายในประเทศออกสู่อินเทอร์เน็ต) ที่ระดับไอเอสพี หรือที่ระดับองค์กรอย่างสถานศึกษาหรือบริษัทบางแห่งก็พบว่ามี. ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการหรือองค์กรนั้น ๆ ไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคได้. หรือถ้าเป็นการบล็อคที่เกตเวย์ระดับประเทศ ก็จะมีผลทำให้ผู้ใช้ในประเทศทั้งประเทศไม่สามารถเข้าเว็บไซต์เหล่านั้นได้ — อย่างไรก็ตามผู้ใช้อื่น ๆ ก็จะยังเข้าได้อยู่. วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐของไทยใช้กันมาก เพราะสะดวกไม่ต้องขอความร่วมมือจากใคร ทำได้เองเลย หรือว่าสามารถกดดันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ทำได้ไม่ยาก, ซึ่งก็อาจจะเกี่ยวกับเรื่องใบอนุญาตประกอบธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วย.

3) ระดมโจมตีก่อกวนเว็บไซต์ ให้ทำงานช้าลงมาก ๆ จนใช้งานไม่ได้ หรือที่เรียกว่า DoS (Denial of Service). คือสั่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำทีเป็นผู้ใช้งานเว็บจำนวนมหาศาลแล้วเรียกใช้งานเว็บไซต์ที่กำหนดพร้อม ๆ กัน ติดต่อกันนาน ๆ. ทำให้ตัวเว็บไซต์นั้นทำงานหนักทำงานไม่ทันจนระบบล่ม หรือว่าทำงานได้ช้ามาก จนผู้ใช้บริการทนไม่ไหวและเลิกใช้ไปเอง.


สอง — คัดกรองเนื้อหา วิธีนี้จะเนียนกว่า คือยังเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ตามปกติอยู่ แต่เนื้อหาบางส่วนในเว็บไซต์จะหายไป ซึ่งแบบนี้จะทำให้สังเกตได้ยากกว่าวิธีแรก.

ตัวอย่างเช่นในประเทศจีนที่เสิร์ชเอนจิ้นหลายเจ้า ยอมกรองเว็บไซต์บางอย่างออกจากผลลัพธ์การค้นหา. คือถ้าเรารู้ที่อยู่ของเว็บไซต์นั้น ก็ยังอาจจะพิมพ์เข้าไปได้เอง แต่มันจะไม่ปรากฎอยู่ในรายการผลลัพธ์ของเสิร์ชเอนจิ้นเลยถ้าค้นหาจากประเทศจีน. ซึ่งถ้าพิจารณาว่าปริมาณการจราจรส่วนใหญ่ของเว็บนั้น วิ่งผ่านเสิร์ชเอนจิ้น, วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ได้ผลดีมาก อีกทั้งสังเกตได้ยากกว่าการทำให้เข้าเว็บไซต์ไม่ได้.

หรือกรณีประเทศไทย ที่ขอความร่วมมือจากกูเกิ้ลให้บล็อคคลิปบางคลิปใน YouTube ไม่ให้ผู้ใช้จากประเทศไทยเห็น ก็เข้าข่ายนี้.


สาม — บิดเบือนเนื้อหา ปล่อยข่าว หรือก่อกวนสร้างความปั่นป่วนในกระดานสนทนาออนไลน์. อันนี้จะเรียกว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็ไม่เชิง ผมไม่แน่ใจ. แต่มันก็มีผลกระทบต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของเราเหมือนกัน. เว็บไซต์บางแห่งถูกก่อกวนด้วยโปรแกรมหรือคนที่ถูกจ้างมาโพสต์ข้อความไร้สาระซ้ำ ๆ กัน หรือโพสต์ข้อความบิดเบือนเบี่ยงประเด็นต่าง ๆ หรือล่อให้เกิดการทะเลาะกัน ที่เขาเรียกว่า “ล่อเป้า” แบบนี้มันก็ทำให้คุณภาพของข้อมูลข่าวสารโดยรวมในอินเทอร์เน็ตลดลง. จะหาอะไรดี ๆ อ่านก็ยากขึ้น เพราะต้องคุ้ยขยะก่อน บางทีก็เบื่อ ขี้เกียจอ่านไปเลย.

เรื่องนี้ตอนแรกผมก็ไม่นึกว่าจะมีจริง จนกระทั่งเห็นกรณีพวก “2.4” อย่างที่รู้กัน ช่วงหลังรัฐประหาร ว่ามีการจัดตั้งเป็นระบบชัดเจน มีการสนับสนุนจากรัฐ. หรือกรณีคล้าย ๆ กันในเอกสารลับที่คุณสมัครออกมาโวย ซึ่งก็เป็นเรื่องของการปล่อยข่าว สร้างกระแสในสังคม ในที่นี้ก็รวมถึงในกระดานสนทนาในอินเทอร์เน็ต. ผมถือว่านี่มันกระทบสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพอย่างสะดวกของผม.


สี่ — อันนี้เป็นแบบโดยอ้อม แต่อาจจะเรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด คือการสร้างความเชื่อ หรือความกลัว เพื่อทำให้เกิด “การเซ็นเซอร์ตัวเอง”. คือเป็นจากปิดกั้นที่ตัวผู้ส่งสารรับสารได้เลย ไม่อยาก/ไม่กล้าโพสต์ ไม่อยาก/ไม่กล้าเปิดดู ไม่อยาก/ไม่กล้าพูดถึง. ผมคิดว่าอันนี้น่ากลัวที่สุด และมีผลกว้างขวางมากกว่าแค่ในอินเทอร์เน็ต แต่รวมถึงทั้งสังคมเลย.

การสร้างความกล้วอะไรต่าง ๆ นี่ มันรวมถึงการใส่มาตราบางมาตราลงมาใน พ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นี่ด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวเนื้อหาในคอมพิวเตอร์ในอินเทอร์เน็ต. มาตรา 14, 15, 16. ซึ่งมันกว้างมาก แล้วแต่เจ้าหน้าที่รัฐจะตีความ. พอมันคลุมเครือกว้างขวางแบบนี้ มันก็นำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเองของผู้ใช้, รวมถึงการเซ็นเซอร์ตัวเองของผู้ให้บริการด้วย คือกันไว้ก่อน กลัวติดร่างแหด้วย. อะไรเห็นท่าไม่ดี ดูเทา ๆ ก็ขอเซ็นเซอร์ไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย. เพราะไม่มีเขาอยากเสี่ยงขึ้นโรงขึ้นศาลกันหรอก ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือว่าบริษัท. เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา. แม้สุดท้ายเราจะพิสูจน์ได้ว่าเราบริสุทธิ์ แต่เงินแต่เวลาที่เสียไปอะไรต่าง ๆ มันเรียกคืนมาไม่ได้. ไหนจะเครียดอีก.


ตอนนี้พ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็ประกาศใช้ไประยะหนึ่งแล้ว พูดได้ว่าการบล็อคเว็บไซต์นี่ มันสามารถทำให้ถูกกฎหมายได้แล้วนะ. แต่คุณก็ต้องมาดูว่า เหตุผลที่เขาให้ประกอบการบล็อคแต่ละเว็บนี่ มันเข้าข่ายที่กฎหมายระบุไว้ อ่อนแก่แค่ไหน. ซึ่งตรงนี้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็จะต้องท้าทายและตรวจสอบ การพิจารณาและการใช้อำนาจของรัฐ. ต้องคานกัน checking and balancing. ใครมาบอกว่าบล็อคตามกฎหมาย เราก็ต้องถามว่าข้อไหนมาตราไหน ไม่ใช่อ้างลอย ๆ.

ผมขอย้ำว่า การบล็อคเว็บไซต์ในเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมามันไม่โปร่งใสเลย. ทาง FACT ยื่นหนังสือถามไปทางกระทรวงไอซีที ก็ไม่ได้รับคำตอบ. บางคนอาจจะว่า มันเป็นเรื่องตลกที่จะไปหวังความโปร่งใสจากการปิดกั้น. แต่ผมก็เห็นหลายประเทศที่เขาก็บล็อคเว็บไซต์เหมือนกันแต่ก็ยังโปร่งใสได้. อย่างในยุโรปเค้าก็บล็อคเว็บพวกเหยียดชาติพันธุ์ เว็บนาซี แต่ของเขามันก็โปร่งใสมีเกณฑ์ชัดเจน. คุณจะเห็นด้วยหรือไม่กับการบล็อคเว็บพวกนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยมันตรวจสอบได้.

เพราะฉะนั้น หน้าที่ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยทุกคนตอนนี้ ก็คือรู้เท่าทันตรงนี้ ว่าระบบมันไม่โปร่งใส ว่ามันมีการตุกติก มีเรื่องอื่นสอดไส้แอบแฝงอยู่. เราจะได้รวมพลังกันร่วมกันตรวจสอบให้จริงจังขึ้น อย่าปล่อยให้อินเทอร์เน็ตตกอยู่ในความควบคุมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง. อินเทอร์เน็ตมันเป็นของเราทุกคน. FACT เองก็พยายามทำตรงนี้ ทำเรื่องให้เป็นข่าว ให้คนตระหนัก. แล้วมันยังมีชุด พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน พ.ร.บ.สิ่งยั่วยุ อะไรพวกนี้อีกเยอะแยะ ที่มันจะมาเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตได้. ไม่เฉพาะ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์.


คุณมีความคิดเห็นอย่างไร ในกรณีการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสองรายโดยไม่ปรากฏความผิดชัดเจน

จากที่ได้ติดตามข่าวจากสื่อและเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสื่อนอกกระแสหลัก. ผมคิดว่ามันเป็นอาการลักลั่น ที่สืบเนื่องมาจากสังคมของเราที่มี “บางเรื่อง” ที่พูดในที่แจ้งไม่ได้. พออยากจับเพราะเรื่อง “บางเรื่อง” นี้ แต่ไม่อยากให้เป็นข่าวว่าเพราะเรื่องนี้, ก็เลยแอบ ๆ จับ แล้วเลี่ยงไปใช้กฎหมายอื่นที่พอใช้ได้หรือไม่แจ้งความผิดให้ชัด แล้วก็พยายามไม่ให้เป็นข่าว. กลัวว่าพอเป็นข่าวแล้วจะต้องบอกว่าผิดเรื่องอะไร.

นี่ถ้าไม่ใช่เพราะเรื่องนี้ไปลงในสื่อต่างประเทศก่อน ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีสื่อไทยได้รู้หรือเปล่า. ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นอุบัติเหตุหรือความผิดพลาดได้ไหม ที่เรื่องนี้ดันเป็นข่าวออกมา.

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ผมเห็นว่าสำคัญมาก และต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดคือ การเสนอพ.ร.บ.เพื่อแก้กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่จะทำให้สื่อเสนอข่าวเรื่องคดีหมิ่นพระบรมฯ ไม่ได้นั้น จะทำให้การจับกุมคดีลักษณะนี้เป็นไปได้โดยไม่ปรากฎเป็นข่าว อย่างถูกกฎหมาย อย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องการ. อีกหน่อยถ้าพ.ร.บ.นั้นผ่าน ก็คงมีคนถูกจับอย่างสองคนนั้นอีกเรื่อย ๆ อย่างเงียบ ๆ ไม่เป็นข่าว ซึ่งน่ากลัว.

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่า ในระหว่างที่สองคนนั้นถูกจับไป มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางรายแจ้งว่า ยังพบทั้งสองคนนั้นออนไลน์อยู่. ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะนำบัญชีอีเมลและบัญชีบริการอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสองรายนั้นไปใช้ และอาจจะทำทีว่าเป็นสองคนนั้นเสียเอง, เพื่อประโยชน์ในการขยายผลหรืออะไรก็สุดแท้แต่, แต่ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ก็ชัดเจนว่า นี่เป็นการขโมยตัวตน (identity theft) หรือพูดง่าย ๆ ว่า ปลอมตัว ซึ่งโดยทั่วไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การกระทำเช่นนี้เป็นความผิด แต่ผมไม่แน่ใจว่ากรณีนี้ที่เจ้าพนักงานกระทำเองมันผิดหรือไม่. แล้วข้อมูลที่ไปได้มาโดยการกระทำอย่างนี้ มันสามารถนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่ ถ้าดูมาตรา 25.

คือก่อนหน้านี้ในสังคมเรา เราก็เซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ในระดับหนึ่งแล้วใช่ไหม รู้ว่าเรื่องไหนควรพูดที่ไหนกับใคร. แต่ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐมาสอดส่องปลอมแปลงแฝงกายมาลักษณะนี้อีก surveillance กันหนักเหลือเกิน. อีกหน่อยผมว่าพวกเราอาจจะต้องหุบปากกันมากกว่านี้ อย่าไปพูดอะไรเลย หน้าต่างมีแต่หูประตูมีแต่ช่องเต็มไปหมด. สุดท้ายแล้วสังคมเราก็คงเป็นสังคมเงียบ ๆ หงอย ๆ มีอะไรก็เงียบ ๆ ไว้ อย่าหาเรื่องใส่ตัว. ซึ่งผมไม่คิดว่ามันจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ที่ประชาธิปไตยจะอยู่ได้. ถ้าคุณไม่มีเสรีภาพในการพูดในการสื่อสาร ก็อย่าหวังว่าจะมีประชาธิปไตยได้. อย่างดีก็ได้เลือกตั้งสองปีครั้งสามปีครั้งไปเรื่อย ๆ ก็สนุกดี ตามมีตามเกิด.

กลับมาที่เรื่องสองคนที่ถูกจับนั้น คำถามอีกอย่างหนึ่ง ที่ทางด้านสิทธิมนุษยชนถามกันมากก็คือ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสองรายนี้ที่ถูกจับกุม ไม่ว่าจะอย่างไร มีความผิดหรือไม่, สิทธิพื้นฐานของพลเมืองต่าง ๆ ของเขาก็ควรจะยังมีอยู่ใช่ไหม ? และก็สมควรจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายใช่ไหม ? อย่างสิทธิในการประกันตัว หรือสิทธิตามกระบวนการยุติธรรม ตอนที่ถูกจับเจ้าพนักงานได้แจ้งให้สองคนนั้นได้รู้ถึงสิทธิของตนและอนุญาตให้ใช้สิทธิเหล่านั้นหรือไม่ ? หรือจริง ๆ มันมีหลายมาตรฐาน ผมเองก็ไม่แน่ใจ.


ทราบว่าเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการให้ความสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ

จริง ๆ ไม่ใช่ตำแหน่งอาจารย์ประจำนะครับ วุฒิยังไม่ถึงเอก ยังเป็นไม่ได้, แต่ก็มีงานสอนบ้างเทอมละสองถึงสามตัว โดยทั้งหมดจะเป็นวิชาปฏิบัติการ. ส่วนนักวิชาการนี่ ก็ไม่กล้าเรียกตัวเองว่าอย่างนั้น. ตัวผมจริง ๆ นี่อยู่ในส่วนของห้องวิจัย ที่ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT). ตอนเรียนตรีก็เรียนที่นี่ เหมือนเป็นบ้านไปแล้วบางที.

ก็สนใจเรื่องอย่างที่ว่าไว้แหละครับ การเข้าถึงสารสนเทศ การออกแบบสารสนเทศ แล้วก็เรื่องซอฟต์แวร์เสรี โอเพนซอร์ส ที่เคยทำอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ตอนนี้กลาย ๆ จากซอฟต์แวร์เสรีมาเป็นพวกวัฒนธรรมเสรีแทน แนว ๆ หนังสือของลอว์เรนซ์ เลสสิก (Free Culture, Lawrence Lessig). ส่วนหัวข้อวิจัยที่ผมเคยทำและทำอยู่ในปัจจุบันก็จะเป็นพวก การย่อความอัตโนมัติ การสืบค้นสารสนเทศ การสกัดสารสนเทศ. ซึ่งเรื่องพวกนี้นอกจากจะต้องอาศัยความรู้เรื่องวิทยาการสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์แล้ว ก็ยังต้องอาศัยความรู้ด้านภาษาศาสตร์ด้วย ก็เลยสนใจเรื่องพวกนั้นไปด้วย แต่ไม่ได้ชำนาญนะครับ แค่รู้บ้างเท่านั้น ถึงเวลาติดขัดต้องใช้จริง ๆ ก็ต้องปรึกษานักภาษาศาสตร์อยู่ดี.

ส่วนตัวตอนนี้ ที่อยากจะศึกษามาก ๆ แต่ไม่มีโอกาสเสียที ก็เป็นเรื่องสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของสังคมเสมือน อย่างในอินเทอร์เน็ต. คือผมสนใจอินเทอร์เน็ตในแง่มันอาจจะเป็น อืม เหมือน สภากาแฟ ของยุคนี้ก็ได้. มีอะไรก็มาคุยกัน แชร์กันในนี้ เป็นพื้นที่สาธารณะที่ความคิดต่าง ๆ มาปะทะสังสรรค์กัน. ซึ่งก่อนหน้านี้มันเสรีมาก แลกเปลี่ยนกันได้ทุกอย่าง, แต่ในช่วงหลังเราก็จะเห็นว่า รัฐพยายามเข้ามาในอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อย ๆ. ทั้งด้วยตัวรัฐเอง และตัวความเชื่อความคิดของรัฐที่ติดตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้ามา. สภาพอินเทอร์เน็ตที่ดูเหมือนจะไม่มีรัฐในตอนแรก มันก็เริ่มขึ้นมากลาย ๆ.

ยกตัวอย่างในวิกิพีเดียภาษาไทย ซึ่งเป็นสารานุกรมออนไลน์ที่ใคร ๆ ก็เข้าไปอ่านไปเขียนได้. เมื่อช่วงเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา ถึงกับมีผู้ใช้บางคนติดป้ายห้ามแก้ไขบทความบางบทความในสารานุกรมนี้ โดยอ้างคำสั่งคณะรัฐประหาร แปะที่หัวบทความเลยนะ. ทั้ง ๆ ที่ถ้าดูตามทางกายภาพ เซิร์ฟเวอร์ก็ไม่ได้อยู่ในเมืองไทย เจ้าของก็ไม่ใช่มูลนิธิของไทย คนเขียนบางคนก็อาจจะไม่ได้อยู่เมืองไทยด้วยซ้ำ อะไรแบบนี้ แล้วคำสั่งคณะรัฐประหารมันมีผลนอกประเทศด้วยรึยังไง. แล้วที่ชัดเจนเรื่อง “รัฐอยู่ในหัว” ก็คือ กรณีนี้ตัวคณะรัฐประหารไม่ได้เป็นผู้เข้ามาในวิกิพีเดียเองด้วยซ้ำ แต่เป็นผู้ใช้วิกิพีเดียเองนี่แหละ ที่เป็นคนแปะป้ายเตือน และเซ็นเซอร์ตัวเอง เป็นคนพารัฐเข้ามาเอง. คือมันเห็นได้ชัดเลยว่า รัฐมันมีอิทธิพลต่อความคิดแค่ไหน ทำให้คนบางกลุ่มกลายเป็นแขนขาของอำนาจรัฐได้อย่างไม่รู้ตัว. ซึ่งสภาพนี้ผมคิดว่ามันเป็นไปโดยอัตโนมัตินะ ไม่ใช่แค่เว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่ง เว็บไซต์หลายแห่งก็เงียบไม่กล้าลงเนื้อหาอะไรที่มันอาจจะขัดกับคำสั่งฯ หรือกระทั่งนอกอินเทอร์เน็ต คุณดูหนังสือพิมพ์ ดูทีวีก็ได้ ช่วงนั้นก็จะเป็นอารมณ์เดียวกัน. บางทีนี่อาจจะเป็นสาเหตุแห่งความ “สงบเรียบร้อย” ในช่วงนั้นก็ได้ คือประชาชนพร้อมที่จะยอมอำนาจรัฐไง. ไม่ว่าอำนาจรัฐนั้นจะมาจากไหนหรือได้มายังไง.

“ โปรดทราบ เนื่องจากมี คำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 5/2549 เรื่อง ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยห้ามเขียน บทความ ข้อความ คำพูด หรืออื่นใด อันอาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นอันขาด หากทางชาววิกิพีเดียเห็นว่าไม่เหมาะสม สามารถดำเนินการลบทันที และขอความร่วมมือระมัดระวังในการแก้ไขบทความด้วย ”

— หน้าบทความ รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 และ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, สารานุกรมวิกิพีเดียภาษาไทย, 22 กันยายน พ.ศ.2549

ถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะหาที่เรียนต่ออะไรทำนองนี้ครับ พร้อม ๆ กับทำงานเรื่องนี้ไปด้วย. ศึกษาการแย่งชิงพื้นที่กันในพื้นที่เสมือนแบบนี้. อาจจะใช้ความรู้ด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติที่ปัจจุบันทำอยู่นี่มาช่วยด้วย. เช่นให้โปรแกรมมันวิเคราะห์หาคำต่าง ๆ ใน คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง หรือคลังข้อมูลเว็บไซต์และกระดานสนทานาย้อนหลัง. แล้วดูว่ามีคำอะไร ประโยคอะไร การให้เหตุผลแบบไหน เกิดขึ้นเยอะในช่วงเวลาไหน. จากข้อมูลพวกนี้เราอาจจะเจออะไรน่าสนใจเพื่อมาศึกษาต่อก็ได้. ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเรียนที่ไหนดี จริง ๆ จะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ แต่ตัวหัวข้อวิจัยอยากจะให้เป็นกรณีของประเทศไทย. ตอนนี้ก็มอง ๆ หาอยู่ พยายามเขียนหัวข้ออยู่, ไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไหร่ ฮ่ะฮ่ะ. คงเป็นพวกนิวมีเดีย อินเทอร์เน็ตกับสังคม.

ดูเหมือนยิ่งเรียน จะยิ่งคอมพิวเตอร์น้อยลงเรื่อย ๆ แต่ก็สนุกดี.


คิดว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะรวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองอย่างไรได้บ้าง

คือถ้ามองเรื่องง่าย ๆ ก่อนเลย เอาจากแนวคิดที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับกันในสังคมเราแล้ว. อย่างน้อยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกค้าของบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต. เท่ากับว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็มี “สิทธิผู้บริโภค” อยู่อย่างหนึ่งแล้ว. ซึ่งก็หมายถึงว่า เขามีสิทธิที่จะเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการใดก็ได้ และเมื่อเลือกแล้ว ก็มีสิทธิที่จะได้รับบริการอย่างที่เห็นในโฆษณา. เช่น โฆษณาว่าเน็ตเร็วเท่านั้นแรงเท่านี้ แต่พอใช้จริงกลับอืดเหลือเกิน ดาวน์โหลดอะไรก็ไม่ได้. หรือว่าถูกจำกัดการใช้งานบางโปรแกรม เช่นดาวน์โหลดด้วยโปรแกรม BitTorrent ไม่ได้. แบบนี้ก็เท่ากับเขาถูกละเมิดสิทธิในฐานะผู้บริโภคแล้ว, ในต่างประเทศตอนนี้ก็มีพูดถึงเรื่องนี้กันมาก เรื่อง network neutrality.

หรือเรื่องการเซ็นเซอร์การบล็อคเว็บไซต์นี่ก็เช่นกัน เราจะมองมันในแง่ผู้บริโภคก็ได้. อย่างที่เราทราบกันว่า ขณะนี้การบล็อคเว็บไซต์ไม่ได้ทำโดยหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียวแล้ว. แต่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ทำ สถานศึกษาก็ทำ. ทีนี้ถ้าเราเป็นผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตกับบริษัทหนึ่ง เราจ่ายเงินเขา 600 บาทต่อเดือน ปรากฎว่าเราเข้าเว็บไซต์จำนวนหนึ่งไม่ได้. พอดีเรารู้จักเพื่อนคนหนึ่ง ที่ใช้อินเทอร์เน็ตของอีกบริษัทหนึ่ง จ่ายรายเดือนราคาพอ ๆ กันเรา แต่เขาเข้าเว็บไซต์เหล่านั้นได้. แบบนี้เราก็จะรู้สึกได้ว่า เอ๊ะ ทำไมจ่ายเงินพอ ๆ กัน แต่ได้รับบริการไม่เท่ากัน.

คือนี่ไม่ต้องมองเรื่องสิทธิพลเมืองสิทธิการรับรู้ข่าวสารเลยนะ มองแค่เรื่องความคุ้มค่า เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อย่างเดียวเลย.

แบบนี้ผู้บริโภคก็จะเห็นแล้วว่า เออมันมีความต่างอยู่นะ แล้วทำไมเขาต้องจ่ายเงินพอ ๆ กันแล้วได้รับบริการที่แย่กว่าด้วย ? หรือทำไมอุตส่าห์ยอมจ่ายไปตั้งแพง ด้วยหวังว่าจะได้รับบริการที่ดีเลิศเหมือนโฆษณา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้อย่างนั้น ?

กรณีเหล่านี้ ในฐานะผู้บริโภค ขั้นแรกก็ควรจะแจ้งไปที่ผู้ให้บริการให้รับทราบปัญหาก่อน ให้โอกาสเขาแก้ไข. แต่ถ้าผู้ให้บริการไม่แก้ไขเสียที ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทนั้น ๆ, หรืออาจจะรวมกันหลายบริษัทก็ได้ ถ้ามีปัญหาใกล้เคียงกัน, ก็ควรจะรวมตัวกันเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม จะรวมกลุ่มกันทางอินเทอร์เน็ตก่อนก็ได้. ทางเว็บบอร์ด ทางอีเมลกลุ่ม หรือเดี๋ยวนี้มีพวกเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ (online social network) อย่าง Facebook จะไปรวมตัวกันทางนั้นก็ได้. แล้วก็ทำหนังสือแจ้งไปทางหน่วนงานที่เกี่ยวข้องซะ ทั้งตัวผู้ให้บริการเอง ทั้ง สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) แล้วก็ทางสื่อต่าง ๆ ด้วย. นอกจากนี้ก็ยังแพร่กระจายข่าวกันได้ทางเว็บล็อกต่าง ๆ หรือจะทำ petition ล่ารายชื่อออนไลน์ก็ทำได้.

กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ในทางหนึ่งก็เพื่อให้สังคมรับรู้ด้วย. ซึ่งการทำแบบนี้ นอกจากจะเป็นการปกป้องสิทธิของตัวผู้ใช้บริการเองแล้ว. ยังเป็นการช่วยปกป้องสิทธิของคนอื่น ๆ ทางอ้อมด้วย คือเตือนคนอื่นไปในตัวว่า ผู้ให้บริการรายนี้มีปัญหาอย่างนี้ ๆ นะ คิดดี ๆ ก่อนจะตัดสินใจใช้.

ก็เป็นกลไกคานกันไปโดยอัตโนมัติ ในการแข่งขันในตลาด. ซึ่งถ้ามีจำนวนลูกค้ามากพอ บริษัทเขาก็ต้องคิดต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ถ้าไม่อยากเสียลูกค้ากลุ่มนี้.

สิ่งเหล่านี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในบ้านเราอาจจะยังไม่รู้ ว่าตัวเองมีสิทธิ. ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เครือข่ายรณรงค์น่าจะต้องทำ. บอกให้เขารู้ว่าเขามีสิทธินะ เขาเลือกได้ เขาต่อรองได้ และเขาไม่ได้อยู่หัวเดียวกระเทียมลีบนะ เขายังมีเพื่อน ๆ อยู่อีกเยอะที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกับเขา และพร้อมจะเรียกร้องร่วมกับเขา. ก็ต้องค่อย ๆ เริ่มจากตรงนี้.

ส่วนเรื่องสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการสื่อสาร สิทธิในการแสดงออก สิทธิพลเมืองอะไรต่าง ๆ มันก็น่าจะขยายจากตรงนี้ได้ คือให้เริ่มจากเรื่องใกล้ ๆ ตัวก่อน มองเป็นเรื่องคุณภาพการให้บริการ. แล้วเราก็ขยายความหมายของการให้บริการนี่ออกไปให้ครอบคลุมเรื่องสิทธิอื่น ๆ.


จริง ๆ อยากจะเน้นเรื่องสิทธิพลเมืองสิทธิในการแสดงออกอะไรพวกนี้ไปเลยนะ. แต่เท่าที่ทำตรงนี้มาระยะหนึ่ง ดูเหมือนมันจะสื่อสารยากในประเด็นพวกนี้. คือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน อาจจะอ่าน มากกว่าพูด ก็เป็นได้ คือรับสารมากกว่าส่งสาร. เรื่องการปิดกั้นสิทธิในการแสดงออก ห้ามโพสต์นั่นโพสต์นี่ ก็เลยไม่กระทบคนกลุ่มใหญ่ อันนี้ผมเดานะ. แต่พอ YouTube ถูกบล็อค แบบนี้มันกระทบคนกลุ่มใหญ่ไง ไม่มีอะไรให้ดู ก็เลยเป็นประเด็นในสังคมขึ้นมา. คือมันต้องเป็นเรื่องใกล้ตัวไง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวแต่ละบุคคล.

ถ้าเมื่อไหร่การสื่อสารในอินเทอร์เน็ตของไทยมัน สองทาง มากกว่านี้. ความตระหนักในสิทธิต่าง ๆ มันก็อาจจะตามมาเองโดยธรรมชาติก็ได้. แต่อย่างไรก็ตาม การให้ความรู้เรื่องสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังต้องทำไปเรื่อย ๆ ทำตั้งแต่ตอนนี้เดี๋ยวนี้.

เรื่อง สื่อพลเมือง ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าทำ. ถ้าทำให้มีสื่อพลเมืองในอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ก็น่าจะทำให้สิทธิเสรีภาพพวกนี้มันถูกทดสอบมากขึ้น ๆ และเป็นประเด็นทางสังคมในที่สุด.

และถ้าพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตที่ถูกพูดถึงกันมากตอนนี้ คงเป็นเรื่อง เว็บ 2.0 (Web 2.0). ส่วนตัวผมมองว่า เว็บ 2.0 นี่ ถ้าจะเทียบกับเว็บสมัยก่อนหน้านี้ ก็คือ เว็บสมัยก่อนหน้านี้มันจะเป็นเรื่องของเครือข่ายของเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นคอมเชื่อมกับคอม ลิงก์กันก็ลิงก์ด้วยสายเคเบิ้ล. แต่เว็บ 2.0 มันมีมิติของมนุษย์เข้ามาด้วย เป็นคนเชื่อมกับคน ลิงก์กันด้วยความสัมพันธ์ของแต่ละบุคคล รวมกันเป็นเครือข่ายทางสังคมออนไลน์. ถ้าคิดตามนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในยุคเว็บ 2.0 ก็น่าจะยิ่งมีช่องทางในการรวมตัวรวมพลังกันมากขึ้น น่าจะลองดูกัน. คนสองสามคน สิบคน อาจจะดูเล็กน้อย แต่ถ้าค่อย ๆ รวมกัน มันก็เป็นพลังได้. เครือข่ายสังคมออนไลน์นี้น่าจะพัฒนาไปเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางสังคมในเมืองไทย, ซึ่งไม่ได้ใช้เฉพาะการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับประเด็นอินเทอร์เน็ตเท่านั้น. แต่จะเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางสังคมในทุกประเด็น. มันคงไม่ได้มาแทนการเคลื่อนไหวข้างนอกอินเทอร์เน็ต แต่จะมาเสริมกัน.

ผมคิดว่าอินเทอร์เน็ตมันจะทำให้ความคิดของคนมันวิ่งไปมาหากันได้เร็วขึ้น. ทำให้เกิดการสทนาแลกเปลี่ยนได้อย่างกว้างขว้างขึ้น มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้น และเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมก็เป็นได้. ซึ่งรัฐอาจจะกลัวตรงนี้ ก็เลยต้องการเข้ามาควบคุมจัดระเบียบ. พวกเราพลเมืองและพลเมืองอินเทอร์เน็ตทุกคน ก็ต้องพยายามรักษาพื้นที่ของเราตรงนี้ไว้ให้ปลอดจากการแทรกแซงโดยอำนาจรัฐและอำนาจอื่น ๆ. ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ พื้นที่สื่อพวกนั้นเราพลเมืองธรรมดาเข้าถึงได้ยากมาก. พวกเราพลเมืองจึงต้องรักษาพื้นที่ที่เรามีอยู่ไม่มากนักในอินเทอร์เน็ตเอาไว้. ไม่ใช่เพื่อตัวอินเทอร์เน็ตหรือตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเอง แต่เพื่อสังคมทั้งหมด.

[จบ]


หมายเหตุ: แนวคิดเรื่อง “กำแพง” (กำแพงสารสนเทศ/อุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล) ในบทสัมภาษณ์นี้ ถูกเรียบเรียงและใช้ชื่อนี้เป็นครั้งแรกในการนำเสนอที่งาน YouMedia (YouFest ครั้งแรก) โดยใช้ชื่อการนำเสนอว่า “Technologies for Knowledge Society” (เดิมได้รับมอบหมายให้พูดเรื่องครีเอทีฟคอมมอนส์ แต่เตรียมไปไม่ทัน) สามารถดูการนำเสนอ(+ภาพประกอบบนกระดาน) ได้ในวิดีโอ (ลิงก์ดาวน์โหลดที่เว็บ YouFest)

เครือข่าย YouFest จะจัดงานเสวนาอีกครั้ง วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน นี้ ข่าวสารงานเสวนาจะแจ้งให้ทราบต่อไป (ติดตามข่าวได้ที่เว็บ YouFest)

technorati tags: , ,