เมื่อวันอาทิตย์ งาน YouFest ทำผิดพลาดไปอย่างหนึ่ง (ในหลายอย่าง) คือ ออกเสียง คณะราษฎร ไปว่า /คะ-นะ-ราด/
ที่ถูกคือ /คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน/
โดย ราษฎร /ราด-สะ-ดอน/ ในที่นี้ ก็คือ “ไม่ใช่เจ้า” นั่นเอง
ดังจะเห็นได้จากในวงเล็บที่เน้นย้ำในตอนท้ายของหลักข้อที่ 4 ใน หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่ว่า:
“จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)”
ขอบคุณ อ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ที่ได้กรุณาเตือน โดยอาจารย์ได้กล่าวเตือนอีกด้วยว่า นี่คือการทำให้ความหมายมันเลือนหายไป เมื่อ /คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน/ (ราษฎร) กลายเป็น /คะ-นะ-ราด/ (ราข?) ความหมายมันก็เสียไปแล้ว — จะระมัดระวังยิ่งขึ้นครับ
อาจารย์ย่ายังได้ให้ความต่ออีกด้วยว่า ในหลายประเทศนั้น แนวคิดพื้นฐานที่สำคัญยิ่งกว่าและเป็นที่มาของ “รัฐธรรมนูญ” ก็คือ “คำประกาศสิทธิ” ต่าง ๆ (bill of rights [เช่น Magna Carta, US Bill of Rights]) ซึ่งจำกัดสิทธิของผู้ปกครอง และคุ้มครองปกป้องสิทธิของพลเมือง — และสำหรับประเทศไทย สิ่งที่เทียบเคียงได้กับคำประกาศสิทธิก็คือ “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” ดังกล่าวนั่นเอง
บรรยากาศจากงานส่วนหนึ่ง อ่านได้ที่ YouMedia 2 live blogging
(อ.ธวัชชัย, คนชายขอบ, James Gomez, Keiko Sei, สุนิตย์, และดาราคับคั่ง!)
เผอิญคิด 1: เกมโชว์ใหม่จากเวิร์กพอยท์ ที่จะมาแทน “เกมทศกัณฐ์” ชื่อว่า “ยกสยาม” — ในสมัยที่คณะราษฎรยังอยู่ในอำนาจการเมือง มีรูปปูนปั้นชิ้นหนึ่งชนะการประกวดประณีตศิลปกรรม ซึ่งจัดขึ้นในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2480 ใช้ชื่องานว่า “หลักหกยกสยาม” ... ไม่รู้ว่าเกมโชว์ที่ว่า จะออกมาแนวไหน :)
เผอิญคิด 2: อนุเสาวรีย์กลางแยกหลักสี่ แถวเกษตร ชื่อของมันคือ “อนุเสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” หรือ “อนุเสาวรีย์ปราบกบฏ” — โดยกบฏนี้หมายถึง กบฎบวรเดช ซึ่งนำโดยกลุ่มเจ้าที่ขัดแย้งกับคณะราษฎร ในเรื่องเกียรติยศและอำนาจของกษัตริย์ในระบอบใหม่ (ประชาธิปไตย) — เมื่อคณะราษฏรปราบกบฏบวรเดชลงได้แล้ว ก็ได้สร้างอนุเสาวรีย์นี้เอาไว้เป็นอนุสรณ์ — ชื่อ “หลักสี่” อาจมีที่มาจาก “หลักข้อสี่” ของหลัก 6 ประการฯ ก็เป็นได้ เพื่อเน้นว่า เจ้าจะต้องไม่มีสิทธิเหนือราษฎรอีกต่อไป — “จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)”
ทุกวันนี้คนทั่วไป น้อยคนที่จะเรียกอนุเสาวรีย์นี้ว่าอนุเสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามชื่อเดิม (ผมก็ไม่เคยเรียก - จะมีก็แค่เคยสงสัยว่า นี่มันอนุเสาวรีย์อะไรวะ ทำไมมีพานรัฐธรรมนูญแปะอยู่ข้างบนด้วย) คงเรียกแต่เพียง “อนุเสาวรีย์หลักสี่” แม้แต่ที่มาและความหมายของอนุเสาวรีย์ ก็ยังถูกบิดเบือนไป ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากเว็บไซต์การท่องเที่ยวเขตบางเขน ที่ระบุว่า: “... เป็นอนุสาวรีย์สถานเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ของความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การสู้รบทำนองสงครามกลางเมือง ซึ่งแฝงไว้ด้วยสื่อสัญลักษณ์ที่เป็นศิลปกรรมสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลในขณะนั้น ด้านการชูประเด็นสำคัญที่ยึดเป็นหลักความชอบทางการเมืองของรัฐบาล 5 ประการ คือ กองทัพ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ...” — คือไม่ได้ระบุที่มาที่ชัดเจน (กบฏบวรเดช) และในส่วนของความหมายนั้นก็...คิดได้ยังไง แถมใน 5 ประการนั้นยังมี กองทัพ อีกซะด้วยนะ สงสัยคงเพราะเป็นเขตทหาร!
ทุกครั้งที่ผ่านไปแถว “หลักสี่” ผมจะนึกถึง “หลักสี่” ที่ว่านี้ — หลักข้อที่สี่ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
คิดต่อ: จะเห็นได้ว่า ทั้งกรณี การออกเสียง “คณะราษฎร” ที่เพี้ยนไป หรือชื่ออนุเสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่กลายไปเป็น “อนุเสาวรีย์หลักสี่” นั้น ทำให้พลังในความหมายเดิม (ประชาชน/รัฐธรรมนูญ) นั้นหายไป ซึ่งก็ตอกย้ำที่ว่า การเมืองคือเรื่องของการแย่งชิงพื้นที่ ซึ่งก็รวมถึงการแย่งชิงความหมายด้วย (เช่น สีเหลืองหมายถึงอะไร คนดีคืออะไร คุณธรรมคืออะไร)
หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
- จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
- จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
- จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
- จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
- จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
- จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
เกี่ยวข้อง: ชาตรี ประกิตนนทการ : สถาปัตย์คณะราษฎร บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์
แถม: ธงชัย วินิจจะกูล : ความทรงจำ ภาพสะท้อนและความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา
6 comments:
กลายเป็น คณะราช ไปซะได้
มีความเห็นแย้งเรื่องหลักสี่
เคยอ่านว่าที่มาของมันคือหลักบอกระยะทุก 100 เส้นของคลองที่ขุดไปหัวเมืองรอบพระนคร
เพราะัยังเคยเห็น หลักสอง หลักห้า หลักหก
(แต่ไม่รู้หลักสามอยู่ไหน) - -"
ไม่น่าไปนึกถึงหลักข้อที่ 4 ในหลัก 6 ประการฯ ได้เลยนาาา...
ผมก็อ่านออกเสียง(ในใจ) ว่าคณะ ราช มาตลอด
ทำไมหว่า อ่านภาษาไทยไม่แตก หรือฟัง(จำ)คนอื่นมา
ไม่เคยรู้มาก่อนเลย มันแสดงให้เห็นว่ามันมีพลังที่มองไม่เห็นควบคุมโดยตลอด ฤ
rerngrit: อืม อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ครับ
ชื่อหลักสี่ อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลัก 6 ประการฯ เลยก็ได้
(ผมเคยเห็นป้ายหลักหก จากทางรถไฟ เชียงราก-หัวลำโพง ไม่เคยเห็นหลักอื่นเลย)
แต่สำหรับตัวผมตอนนี้ ชื่อหลักสี่แบบที่โยงกับหลัก 6 ประการฯ มีความหมาย มากกว่าชื่อหลักสี่ที่อยู่ลอย ๆ โดยไม่มีที่มาน่ะครับ
-- พูดง่าย ๆ ว่า ตัวผมเองก็พยายามจะสร้างความหมายขึ้นมาให้กับชื่อ หลักสี่ เช่นกัน
polawat: ผมเอง แม้รู้ว่ามันต้องอ่านว่า ราด-สะ-ดอน แต่พอเห็นทีไร ถ้าไม่ระวังตัว ก็อ่าน ราด ทุกทีไปครับ
ที่อ่าน "คะ-นะ-ราด"
เพราะในหลักสูตรที่เรียนๆ กันมาในห้องเรียน
เค้าเขียนว่า "คณะราษฎร์" นี่ครับ
Post a Comment