ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2011-05-06

DataJournalism.in.th บล็อกว่าด้วย "วารสารศาสตร์ข้อมูล"

ไปช่วย @tewson เขียนบล็อกอันใหม่อีกอันนึง ชื่อ วารสารศาสตร์ข้อมูล - Data Journalism

ข้อมูล ข้อมูล ข้อมูล!

ส.ส. คนไหนโดดประชุมบ่อย? งบประมาณกองทัพคิดเป็นกี่เท่าของงบประมาณสาธารณสุข? การชุมนุมประท้วงแต่ละครั้งมีคนเข้าร่วมมากน้อยเท่าใด? จังหวัดไหนมีอัตราว่างงานสูงที่สุด? แต่ละเดือนมีเว็บไซต์ถูกปิดกั้นเท่าไร? ในหนึ่งปีนายกรัฐมนตรีเดินทางไปที่ไหนบ้าง? มหาวิทยาลัยไหนเก็บค่าเรียนแพงที่สุด?

เราสามารถตอบบางคำถามข้างต้นได้ด้วยการค้นข้อมูลที่ถูกเผยแพร่อยู่แล้ว แต่มันอาจจะหมายถึงการนั่งเปิดไฟล์เอกสาร PDF เป็นร้อยหน้า นั่งไล่ดูตารางข้อมูลที่ไม่เป็นระเบียบหลายพันแถว หรือนั่งจ้องตัวเลขยาวยืดและนึกเปรียบเทียบสัดส่วนเอาเองในหัว

กฎหมายกำหนดให้ข้อมูลจำนวนมากถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่น้อยคนนักที่จะใช้ประโยชน์จากมันได้ เพราะมันไม่อยู่ในสภาพที่เข้าใจง่ายหรือเอาไปใช้ต่อได้สะดวก

วารสารศาสตร์ข้อมูล (Data Journalism) ว่าง่าย ๆ ก็คือการเปลี่ยน “ข้อมูล” ให้เป็น “ข่าว”

โดยบล็อก DataJournalism.in.th นี่ว่านี่ ก็จะพยายามเสนอข่าวคราวและตัวอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับวารสารศาสตร์ข้อมูล บางอันก็อาจจะเป็นการแปลหรือสรุปมาจากบทความภาษาอื่น เพื่อให้มันมีแหล่งข้อมูลเรื่องพวกนี้ในภาษาไทยเพิ่มขึ้นด้วย

(หมายเหตุ: ผมย้ายบล็อกส่วนตัวจาก bact.blogspot.com นี้ ไปที่ bact.cc แล้วนะครับ)

technorati tags: , , ,

2011-04-21

moved to bact.cc

ย้ายไป bact.cc ครับ

I moved to bact.cc.

bact' is still a name ;)

technorati tags: , ,

เทคโนโลยี-ภาพลวงตา

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติของสหรัฐ บอกว่าเทคโนโลยีทำให้คนทำอะไรโง่ ๆ

ผมว่ามันน่าสนใจดี เทคโนโลยีทำให้คนมั่นใจเกินเหตุ

คนที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่กล้าปีนเขา ไม่กล้าทำอะไรบางอย่าง เพราะประสบการณ์ยังไม่พอ ความสามารถยังไม่ถึง พอมีเครื่องมืออะไรช่วยที่ทำให้เขามั่นใจ เขาก็จะกล้า

ด้านดีมันก็มี คือมันก็เปิดโอกาส เปิดพรมแดนใหม่ ๆ ลดกำแพงการเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ

ด้านแย่ก็คือ เออ บางทีมันมั่นใจเกินเหตุ สร้าง illusion ไปว่า กูแน่ กูทำได้

ผมสนใจว่า ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต การสื่อสาร ฯลฯ เนี่ย มันทำให้คนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม มั่นใจอะไรเกินเหตุไปไหม ว่าเทคโนโลยีจะมาช่วยให้กิจกรรมกิจการอะไรต่าง ๆ มันไปได้ง่ายดาย เราทำได้ ฯลฯ คือมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นน่ะ มันก็ยังต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ ด้วย จะพึ่งเทคโนโลยีซะเยอะคงไม่ไหว

ทำคลิป ทำอะไร ๆ มันก็ทำได้แล้วแหละ มือถือถ่ายรูป ทำข่าว ทำรายงานต่าง ๆ

แต่สุดท้ายคลิปที่ถ่าย ๆ มา ก็โดนศอฉ.เอาไปใช้ พากษ์ทับเป็นอีกอย่าง ใช่ไหม ?

The Net Delusion โดย Evgeny Morozov เป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ที่พยายามจะพูดถึงประเด็นนี้ อินเทอร์เน็ตไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบ "เสกได้" แน่นอนว่ามันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง แต่ไม่ใช่เพียงฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายปฏิวัติ "ฝ่ายประชาชน" "ฝ่ายสว่าง" จะใช้มันได้ ฝ่ายอำนาจนำ ฝ่ายรัฐ "ฝ่ายมืด" ก็ใช้มันได้เหมือนกัน และอาจจะใช้ได้เก่งกว่า มีประสิทธิภาพกว่าด้วยซ้ำ

Morozov คุยถึงเนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้ กับอาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกสองคน ที่ Open Society Institute นิวยอร์ก:

Morozov คุยหัวข้อเดียวกัน ที่ Carnegie Council (วีดิโอ + บันทึกเป็นข้อความ)

รีวิวหนังสือที่ The Economist, The Observer, The Independent, The Telegraph, NPR

Cory Doctorow เขียนถึง (โต้): We need a serious critique of net activism (ลิงก์จาก @Fringer)

อนิเมชั่นเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและอินเทอร์เน็ต พากษ์โดย Morozov:

2011-04-18

iLaw ชวน "หยุด" ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่

ร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ กำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณา (ดูข่าวที่กรุงเทพธุรกิจ)

สรุป ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา (ดูละเอียดการวิเคราะห์ร่างนี้และข้อสังเกต 10 ประการ ที่: http://ilaw.or.th/node/857) ร่างฉบับใหม่นี้ :

  • จะเน้นการจับ "ตัวกลาง" คือเว็บไซต์มากกว่าตัวผู้กระทำผิดจริง ๆ (เน้น "จับแพะ" ว่าง่าย ๆ)
  • จะมีคณะกรรมการใหม่หนึ่งชุด ซึ่งอำนาจหน้าที่ตามข้อที่ 5 ระบุไว้ว่ามีอำนาจทำอะไรก็ได้ และไม่ต้องขอหมายศาลด้วย (พรบ.คอมฉบับปัจจุบันต้องขอหมายศาล) ซึ่งนักกฎหมายตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเขียนลักษณะเหมือนพ.ร.ก.ฉุกเฉินเลย คือเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.นี้จะมีอำนาจเต็ม
  • โปรแกรมอย่าง torrent, proxy, shark (เอาไว้ดูทราฟิกเน็ต), ฯลฯ พวกนี้จะผิดกฎหมายทันที

ในฐานะผู้ใช้เน็ตคนนึง รู้สึกว่ามันเกินพอดีไปแล้ว แน่นอนว่าคนร้ายเราก็ต้องจัดการ แต่คนที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ควรจะต้องได้รับการคุ้มครองด้วย (ไม่ใช่ว่าจะขี่ช้างจับตั๊กแตน วิ่งไล่วนมันทั่วนา ช้างเหยียบข้าวพวกเราแหลกหมด ตำรวจบอกว่ามันจำเป็น เพราะต้องจับคนร้ายเจ้าตั๊กแตนตัวนั้นให้ได้ ทำไปทำมาจับไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่นาเราพังไปหมดแล้ว ไม่มีใครรับผิดชอบ)

เราควรจะแสดงออกอะไรบ้าง ถึงสิทธิของเราที่มีในพื้นที่ตรงนี้ ขั้นต่ำสุด ที่ทำได้ตอนนี้เลย ก็คือไปแสดงตัวกันหน่อย ด้วยการลงชื่อที่ http://ilaw.or.th/node/883 (Facebook: http://on.fb.me/hICIhM)

ในลิงก์ข้างบนนี้ จะมีรายละเอียด ที่มาที่ไป อธิบายเหตุผลว่าทำไม เราถึงควรจะหยุดมัน ถ้าเห็นด้วย ก็ช่วยสนับสนุนด้วยการลงชื่อครับ

หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

technorati tags: , ,

2011-04-09

ใช้ Public DNS

สัปดาห์ที่ผ่านมา รู้สึกว่าเน็ตที่บ้านมันกาก ๆ ติดมั่งดับมั่ง ไม่ได้ช้า แต่บางครั้งบางที ก็หาเว็บไม่เจอ เลยลองตั้ง DNS (name server) ใหม่

จริง ๆ เคยตั้งไว้นานแล้ว ที่เราเตอร์ที่บ้านเลย แต่เข้าใจว่าช่วงที่ไม่อยู่บ้านบ่อย ๆ มันคงถูกรีเซ็ตไปบ้าง ไอ้ที่ตั้ง ๆ ไว้มันก็หายหมด ก็เลยมาตั้งใหม่อีกที

ค้น ๆ ดูในวิกิพีเดีย พบว่ามันมีบริการ DNS สาธารณะมากขึ้นกว่าแต่ก่อน บางตัวก็เน้นเรื่องไวรัสเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะเลย เช่น Norton DNS

เขียนสรุปเอาไว้ที่บล็อกของเครือข่ายพลเมืองเน็ต: จูนเน็ตให้เร็วขึ้น นิ่งขึ้น ปลอดภัยขึ้น ด้วย DNS ขั้นเทพ!

สำหรับคนที่ตั้งเป็นอยู่แล้ว ก็ใช้เลขไอพีตามนี้ได้เลย:

เลือกใช้ได้ตามสะดวก หรือจะใช้ร่วมกันก็ได้ (เราสามารถกำหนด DNS server หลาย ๆ ที่ไว้ในรายการได้ เผื่อตัวแรกเสีย คอมมันก็จะไปใช้ตัวที่สอง สาม สี่ ไล่ไปตามลำดับ)

ISP เมืองไทย ใช้ DNSSEC กันหมดหรือยัง ? ถ้าใช้อันนี้มันก็จะปลอดภัยยิ่งขึ้นน่ะ รวมไปถึง https ด้วย แล้วเว็บโฮสติ้งไหน ยังมีแต่ ftp ให้ใช้ ไม่มี sftp หรือ scp ให้ อันนี้ก็แย่นะ ควรจะเข้ารหัสข้อมูลกันหน่อย

technorati tags: , ,

2011-03-19

เราเป็นเพียงคนหนึ่งคนที่เพิ่งกลับจากกินเหล้า และตอนนี้เวลาตีสี่

ใช่ ๆ มันเป็นความสูญเสียที่สะเทือนใจ และเราไม่ปฏิเสธว่าเราก็ร้องไห้กับมัน เมื่ออ่านข้อเขียนเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมนี้ ด้วยใจมันโยงถึงกันได้ สึนามิที่ญี่ปุ่น

ไม่ต่างอะไรกับเมื่อช่วงปีใหม่ของปี 2007 เราอยู่บนรถไฟฟ้าบีทีเอส วิ่งผ่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ข้างนอกมืด และเงียบ บรรยากาศหลังสีนามิที่ภาคใต้ของไทย มันเงียบจริง ๆ

แต่ในขณะที่เราสะเทือนใจกับชีวิตที่ถูกคร่าด้วยปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ในที่ไกลออกไป เราเอาหัวใจดวงเดียวกันไปไว้ตรงไหน สำหรับชีวิตที่ถูกคร่าด้วยมือมนุษย์ด้วยกัน ในถนนที่เราเคยเดินเล่น หย่อนใจ ชอปปิ้ง เราใช้ชีวิตจำนวนมากมายที่สยามสแควร์

เราควบคุมธรรมชาติไม่ได้ ความสะเทือนใจนั้นจึงไม่มีพันธนาการของความจะต้องรู้สึกว่าเรามีส่วนร่วมกับการทำให้มันเกิด

ภาพในภาพยนตร์มักสวยงามและตรึงใจเราเสมอ จินตนาการที่หลุดไปจากความรับผิดชอบของตัวเรา ต่างจากชีวิตที่เราต้องสัมผัสตรง ประดักประเดิดที่จะต้องเมกเซนส์กับมัน และฝืนทนอย่างเสียไม่ได้ว่าเรามีส่วนร่วมกับสิ่งตรงหน้า

เราคิดว่าเรามีความสุขดี

เราอยากจะคิดอย่างนั้น

technorati tags: ,

2011-03-18

Thai Criminal Court: Anonymous FTP users are ALL system administrators

Having an access to FTP (File Transfer Protocol) service means you are a system administrator, therefore liable for criminal charge for any content presented on the website, whether you are the poster or not — according to Article 15 of Computer-related Crime Act. We learned this from Thai Criminal Court, on a ruling of Thantawut Thaweewarodomkul, a web designer of Nor Por Chor USA.

Now be afraid. Web designers who have access to FTP (how can they upload flashy animated GIFs without one?) are now all system administrators. Even anonymous FTP users are now all system administrators. And we all now can go to jail.

This is Thailand in 2011.

"ชาวเน็ตอ้างไม่ได้ว่าไม่รู้กฎหมาย ศาลอ้างไม่ได้ว่าไม่รู้เน็ต ?" — ข้อสังเกตจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ต่อคำพิพากษาของศาลอาญา ในคดีนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ผู้ออกแบบเว็บไซต์ norporchorusa.com ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ลงในเว็บไซต์ดังกล่าว และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลระบบของเว็บไซต์ดังกล่าว โดยตั้งคำถามถึงความเข้าใจเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของฝ่ายยุติธรรม ผลกระทบต่อเสรีภาพประชาชน และข้อสังเกตในการใช้หลักฐานบันทึกการจราจร

ถ้าเรายอมรับแนวตัดสิน-ซึ่งอยู่บนฐานของความไม่เข้าใจในเทคโนโลยี-ลักษณะนี้ Anonymous FTP นี่ปวดหัวแน่ครับ ใครล็อกอินเข้าไป ก็เป็นแอดมินกันไปหมด เข้าข่ายรับผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 กันทั้งยวง

ARTICLE 19 expresses concerns on Internet intermediary liabilities.

technorati tags: , ,

2011-02-28

28 ก.พ. 2519 บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมฯ ถูกลอบสังหารเสียชีวิต

บุญสนอง บุณโยทยาน: นักสังคมนิยมและนักวิชาการชาวไทย (1936-1976)
โดย คาร์ล เอ. ทร็อกกี้ (Carl A. Trocki)
แปลจาก Carl A. Trocki, Boonsanong Punyodyana: Thai Socialist and Scholar, 1936-1976, Bulletin of Concerned Asian Scholars. 9: 3 (July-September 1977), pp.52-54.

ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนของผู้ลอบสังหารเมื่อเวลาประมาณ 01.30 น. ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2519 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย แทบไม่น่าสงสัยเลยว่าสาเหตุของการลอบสังหารครั้งนี้เกี่ยวพันกับการเมือง มีเพียงส่วนน้อยในหมู่ชนชั้นนำไทยออกมาแสดงความเสียใจกับการจากไปของเขา ทำให้ไม่ค่อยมีใครคาดหวังว่าจะมีการจับกุมฆาตกรมาดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้คนอีกมากมายที่อาลัยถึงเขาอย่างสุดซึ้ง ซึ่งรวมถึงภรรยาและลูกสาวทั้งสองของเขา เพื่อนนักวิชาการ และประชาชนชาวไทย

บุญสนองเป็นทั้งนักวิชาการผู้ปราดเปรื่องและนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองผู้ไม่เคยย่อท้อ เขาเป็นหนึ่งในนักสังคมศาสตร์เพียงไม่กี่คนที่มีความสามารถโดดเด่นทั้งในเชิงแนวคิดและการปฏิบัติ ผู้ที่เศร้าเสียใจกับการจากไปของเขา มีทั้งนักศึกษาหลายพันคน นักวิชาการ นักเขียนและศิลปิน ชาวนา ชนชั้นแรงงาน ข้าราชการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไทยผู้มีความคิดก้าวหน้า พิธีไว้อาลัยที่จัดขึ้นไม่กี่วันหลังการเสียชีวิตของเขา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผู้เข้าร่วมกว่าหนึ่งหมื่นคน พวกเขาเห็นว่าความตายของบุญสนองเป็นความสูญเสียเชิงสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งสำหรับพวกเขาเองและสำหรับประชาธิปไตยในประเทศไทย

บทความร่วมรำลึกดร.บุญสนอง บุณโยทยาน‏
โดย ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, 27 กุมภาพันธ์ 2553

ความสำเร็จในแวดวงวิชาการ สามารถช่วยให้ก้าวเข้าไปเป็นชนชั้นนำของสังคมไทยได้ หากแต่ บุญสนองได้เลือกทางเดินที่ไม่มีใครเดิน โดยจัดตั้งพรรคสังคมนิยมขึ้น ซึ่งนั่นเหมือนกับการทรยศต่อชนชั้นตัวเอง และด้วยความผิดนี้นี่เองที่ทำให้ บุญสนอง ถูกลอบสังหาร

การสังหาร บุญสนอง อย่างเหี้ยมโหดนั้นเป็นการกระทำที่มุ่งหวังจะสั่งสอน ทั้งนักศึกษา อาจารย์ และปัญญาชนที่ก้าวหน้าให้รู้ว่าพวกเขาไม่ควรจะกระทำการทรยศต่ออำนาจผูกขาดของชนชั้นนำ ขุนนางและพลพรรคที่เป็นนายทุน

แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 34 ปี แต่สภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมเศรษฐกิจที่มองด้วยแนวทางการเมืองของ บุญสนอง แทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสักกี่มากน้อย รอยร้าวและความแตกแยกในสังคมยิ่งทวีความเลวร้ายมากขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองที่หาข้อยุติได้ยากในบรรดากลุ่มหรือชนชั้นต่างๆ ในสังคม

วิกิพีเดีย: บุญสนอง บุณโยทยาน

technorati tags: , , , , ,

2011-02-18

Punctual translation with punctuation marks

ความแตกต่างของคำแปลโดย Google Translate ที่เกิดจากการมีและไม่มีเครื่องหมายวรรคตอน วันนี้พบโดยบังเอิญ (2011.02.18):

  • "ถ่ายในห้อง (มีเครื่องหมายคำพูด) → "shot in the room.
  • ถ่ายในห้อง (ไม่มีเครื่องหมายคำพูด) → Taken in the room.

นี่อาจจะบอกได้ว่า Google Translate ใช้เครื่องหมายวรรคตอนในการคำนวณสถิติเพื่อใช้ในการแปลด้วย

เท่าที่เคยพบ งานทางด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติจำนวนมาก ไม่ค่อยสนใจเครื่องหมายวรรคตอนเท่าไหร่ (เว้นสาขา natural language generation และ discourse analysis) บางทีกรองทิ้งไปเลยก็มี

Say, Bilge and Akman, Varol (1997). Current Approaches to Punctuation in Computational Linguistics

Jones, Bernard (1996). What’s The Point? A (Computational) Theory of Punctuation

Jones, Bernard (1994). Exploring the role of punctuation in parsing natural language text

technorati tags: , ,

2011-02-06

แล้วหน้าที่ของคนตรงนี้คือต้องอพยพไปเรื่อย ๆ ใช่ไหม?

หลังหนีเหตุการณ์ปะทะออกมา เด็กที่ภูมิซรอล ชายแดนไทย-กัมพูชาถาม :

หน้าที่ของคุณคือกู้ชาติใช่ไหมคะ
แล้วหน้าที่ของคนตรงนี้คือต้องอพยพไปเรื่อย ๆ ใช่ไหม?

(ข่าวสามมิติ ช่องสาม 6 ก.พ. 2554 22:30)

technorati tags: , ,

"webmaster" คำเจ้าปัญหา สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์

เว็บมาสเตอร์ (webmaster) เป็นคำจากประวัติศาสตร์ที่มีปัญหา

เมื่อตอนเว็บเริ่มต้น ระบบยังไม่ซับซ้อน ยังมีขนาดเล็ก เว็บไซต์ส่วนใหญ่ คนเดียวทำทุกอย่าง ทั้งลงทุน จดทะเบียน เตรียมการเทคนิค ออกแบบหน้าตา ใส่เนื้อหา ดูแลส่วนต่าง ๆ พูดง่าย ๆ ว่า ทำทุกส่วน รู้ทุกอย่าง ควบคุมได้ทั้งหมด เราจึงเรียกบุคคลคนเดียวนี้ว่า เว็บมาสเตอร์ ซึ่ง master มีความหมายทั้ง ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ(ในการสร้างเว็บไซต์) เป็นผู้มีอำนาจ(ดูแลปกครองเว็บไซต์) และเป็นเจ้าบ้าน(เจ้าของเว็บไซต์)

แต่ตอนนี้ลักษณะดังกล่าว ไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากเว็บไซต์มีขนาดใหญ่ขึ้น ซับซ้อนขึ้น จึงมีการแบ่งงานกันทำ แยกตามความเชี่ยวชาญ ตามความสามารถและทรัพยากร บางคนเป็นเจ้าของลงทุน บางคนจัดการเรื่องเทคนิคโครงสร้างพื้นฐาน บางคนดูแลเซิร์ฟเวอร์ บางคนออกแบบหน้าตา บางคนดูแลเนื้อหา ฯลฯ การใช้คำว่า เว็บมาสเตอร์ เพียงอย่างเดียว จึงกำกวม ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่า ทำหน้าที่อะไร และต้องรับผิดชอบในส่วนใดกิจกรรมใดของเว็บไซต์ดังกล่าว

เนื่องจากหน้าที่และความรับผิดชอบดังกล่าว มีผลตามมาทางกฎหมายด้วย เราจึงควรจะระมัดระวังการใช้คำดังกล่าว และระบุหน้าที่ให้ชัดเจน ไม่พูดคำว่า เว็บมาสเตอร์ ลอย ๆ :)

บทความ Webmaster และ เว็บมาสเตอร์ ในวิกีพีเดีย

technorati tags: , ,