ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2008-12-01

ReadCamp logo and Free Culture movement

ในที่สุดก็มีคนวงกว้างออกไปทักเรื่องโลโก้รี้ดแคมป์ ในประเด็นลิขสิทธิ์ ที่เชื่อมถึงเรื่องคอมมอนส์ .. เย่ :)

ตอบในฐานะผู้ออกแบบโลโก้นะครับ

เรื่องลิขสิทธิ์นี้มีคนถามกันมาตลอด ตั้งแต่โลโก้ยังเห็นกันอยู่แค่สองคน ระหว่างการออกแบบ พอเมลไปขอความเห็นคนอื่น ๆ ว่าพอใช้ได้ไหม ก็มีทักเรื่องลิขสิทธิ์เช่นกัน

แต่ผมก็ยังยืนจะเอาอันนี้แหละ จะมีปรับก็แค่เรื่องช่องไฟนิด ๆ หน่อย ๆ แต่แนวคิดหลักคงเดิม ไม่ได้เปลี่ยน

พอเผยแพร่ออกไป ก็มีคนทักอีกเหมือนเคย จนในวันงานก็มีพี่คนนึงจากกองทุนไทยมาทัก และชวนคุยเรื่องนี้กัน ก็คุยกันอยู่ได้น่าจะครึ่งชั่วโมง ซึ่งที่คุยไปก็คล้าย ๆ กับที่เขียนลงในบล็อกนี้ครับ เดี๋ยวอ่านกันด้านล่าง พี่เขาเสนอให้เปิดเซสชันเรื่องนี้ด้วย (เอาป้ายบอกทางที่มีโลโก้รี้ดแคมป์ มาวงที่โลโก้ เขียนว่า “Is this freeware?” แปะที่ผนังเสนอหัวข้อ) แต่สุดท้ายได้คะแนนโหวตไม่ถึง เลยไม่ได้ถูกจัดลงตาราง ผมเองก็อยากจะคุยเหมือนกัน ตอนหลังเลยเอาไปแปะไว้ห้องสองต่อจากหัวข้อสุดท้ายในตาราง แต่ก็วิ่งไปวิ่งมา จนงานเลิกพอดี เป็นอันว่าไม่ได้คุย

วันอาทิตย์วันรุ่งขึ้น ตื่นมา ก็เลยจะเขียนบล็อกแทน เปิดคอนโทรลพาเนลของเวิร์ดเพรส ก็เห็นลิงก์เข้ามาจากบล็อกคุณ mnop พอดี ในเมลกลุ่มรี้ดแคมป์ Ford ก็แจ้งมาว่ามีคนทักนะ

โอเค มีคนรับประเด็นแล้ว เรามาคุยกัน

...

ในโลโก้นี้มีความประสงค์อยู่หลายอย่าง (บางอันก็กึ่ง ๆ วาระซ่อนเร้น ไม่ได้บอกคนอื่นก่อน :p)

อันแรกก็คือ ชวนดูว่าข้างในมันมีอะไร มันล้ออะไรอยู่บ้าง แล้วทำไมเราเห็นถึงมัน แล้วบางคนอาจจะไม่เห็น (ใครไม่เคยเห็นโลโก้พิซซ่าฮัทมาก่อน ก็คงไม่นึกถึง หรือในเรื่องเจ้าชายน้อยเอง ก็ยังมีคนเห็นไม่เหมือนกัน) อันนี้ก็ตามแนวคิดของงาน ของแต่ละอย่างอ่านได้หลายแบบ แล้วแต่คนอ่าน อำนาจอยู่ที่คนอ่าน-ด้วย

อันสองก็คือแนวคิด rip/read mix burn* ต่อจาก read แล้ว คุณ mix ดัดแปลงมันออกมาเป็นงานใหม่ได้ไหม สร้างเป็นของใหม่ที่อยู่บนฐานเก่า อันนี้เป็นฐานคิดของคอมมอนส์ที่อยู่บนเรื่องของทรัพย์สินร่วมกัน และการสร้างสรรค์งานดัดแปลง derivatives ตัวโลโก้ก็จะสื่อถึงว่า นี่ไง งานดัดแปลง อยู่บนฐานของความคิดคนอื่น ออกมาเป็นงานใหม่ (ซึ่งตัวมันเองก็จะถูกดัดแปลงต่อไปอีก เช่นที่ PRADT ทำ)

อย่างไรก็ตาม ครีเอทีฟคอมมอนส์ ไม่ได้สนับสนุนให้ละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะถึงอย่างไรกลไกของสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ก็ต้องทำงานอยู่บนกฎหมายลิขสิทธิ์ และภาพประกอบของเจ้าชายน้อยยังเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่

จึงนำไปสู่ประสงค์ที่สาม ที่เป็นการเคลื่อนไหวที่อยู่นอกกรอบของครีเอทีฟคอมมอนส์ที่เป็นสัญญาอนุญาต แต่อยู่ในเป้าหมายของขบวนการวัฒนธรรมเสรี Free Culture movement คือ ท้าทายระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ปัจจุบันที่คุ้มครองผลงานกว้างและยาวจนเกินพอดี

ในกรณีนี้ การท้าทายคือการจงใจนำงานอันมีลิขสิทธิ์ มาดัดแปลงเป็นงานใหม่ ว่าง่าย ๆ คือ จงใจทำผิดกฎหมาย และจะยอมเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อ เปลี่ยนแปลงกฎหมาย ต่อไป - ดังเช่นที่ Rosa Parks หญิงผิวสี เคยทำผิดกฎหมาย ปฏิเสธคำสั่งของคนขับรถเมล์ ที่สั่งให้เธอลุกให้คนผิวขาวนั่ง เมื่อ ค.ศ. 1955 เธอถูกดำเนินคดี และเหตุการณ์นี้จุดประกายการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง และนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิพลเมือง (หรือถ้าเกิดกลายเป็นว่า การแก้ไขดัดแปลงนำมาใช้เช่นนี้ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย นี่ก็จะเป็นการทดสอบลิมิตขีดจำกัด ว่าเส้นกฎหมายจำกัดถึงแค่ไหน เพื่อสร้างความชัดเจน และไม่ตกอยู่ในความคลุมเครือ-กลัว)

แน่นอนว่าการทำผิดกฎหมาย ย่อมได้รับการต่อต้านหรือไม่เห็นด้วย แม้จากแนวคิดผู้ที่สนับสนุนแนวคิดครีเอทีฟคอมมอนส์

จึงนำไปสู่คำถามที่สี่ - คำถามพิเศษเพื่อทบทวนตัวเองต่อผู้สนับสนุนสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แต่ยังลังเลกับขบวนการวัฒนธรรมเสรี - คือ หากเราเห็นว่าไม่ควรนำงานในเจ้าชายน้อยมาใช้ในรูปแบบใด ๆ เลย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแค่ไหนแล้วก็ตาม จะด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผูกพันรักชอบหรืออะไรก็แล้วแต่ หากใช้มาตรฐานเดียวกันนี้ กับกรณีดิสนีย์ ขบวนการวัฒนธรรมเสรีที่นำมาสู่ครีเอทีฟคอมมอนส์จะไม่เกิดขึ้นเลย

กรณีการ ‘abuse’ บิดเบือนเจตนารมณ์กฎหมายลิขสิทธิ์ ด้วยการแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์ของตัวออกไปเรื่อย ๆ ของดิสนีย์และบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่หลายแห่ง นำมาสู่การต่อต้านและพัฒนาเป็นขบวนการวัฒนธรรมเสรี ต้นกำเนิดของสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (เป็นเรื่องโจ๊กเสียดสี ที่มีมูลความจริง ว่า กฎหมายลิขสิทธิ์สหรัฐจะถูกแก้ไขเพื่อขยายเวลาคุ้มครองทุก ๆ ครั้งที่การคุ้มครองตัวละครมิกกี้เมาส์ใกล้จะหมดอายุ จนกฎหมายขยายเวลาดังกล่าว มีชื่อเล่นว่า Mickey Mouse Protection Act)

คำถามที่สี่นี้ เป็นคำถามที่เตือนหรือตั้งคำถามว่า ครีเอทีฟคอมมอนส์จะดำเนินไปได้โดยไม่สนใจวัฒนธรรมเสรีอันเป็นรากของตัวหรือไม่ ? ถ้าได้ ไม่สนใจ แล้วครีเอทีฟคอมมอนส์จะเดินทางไปสู่อะไร ? สุดท้ายแล้วอะไรคือเป้าหมายของครีเอทีฟคอมมอนส์ ?

โดยภาพรวมของแนวคิดวัฒนธรรมเสรี Free Culture ก็คือ การปกป้องระบบนิเวศของการสร้างสรรค์เอาไว้ ด้วยการปกป้องผู้สร้างสรรค์อย่างพอดี ๆ ไม่น้อยเกินไปจนคนไม่อยากสร้างสรรค์อะไร แต่ก็ไม่มากเกินไปจนเสมือนไม่มีที่สิ้นสุด (ทั้งในแง่เวลาและแง่ความครอบคลุม) จนไปจำกัดการสร้างสรรค์ของคนใหม่ ๆ หรือทำให้เจ้าของงานเก่า ๆ รู้สึกว่าไม่ต้องสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ อีกแล้ว

ในเรื่องการจำกัดความครอบคลุมของการคุ้มครอง นำมาสู่แนวคิด “สงวนสิทธิ์บางประการ” some rights reserved แทนที่จะเป็น “สงวนสิทธิ์ทั้งหมด” all rights reserved

ซึ่งการสงวนสิทธิ์ประการนี้ จะคุ้มครองสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้สร้างสรรค์เอาไว้ ในขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้ผู้อื่น ๆ นำงานดังกล่าวไปใช้ไปแก้ไขดัดแปลงต่อเติมเป็นงานใหม่ได้ในทางปฏิบัติ (คือนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพราะการขออนุญาตนั้นมีราคาโสหุ้ย overhead ที่อาจจะไม่สามารถจ่ายได้ไหว ทั้งในรูปของเงินหรือเวลา เช่นกรณีศึกษาที่พบว่า การทำหนังเรื่องหนึ่งอาจมีต้นทุนทางกฎหมายและการดำเนินการขออนุญาตต่าง ๆ ถึงกึ่งหนึ่งของต้นทุนสร้างหนังทั้งหมด)

แนวคิดการสงวนสิทธิ์บางประการนี้ นำมาสู่สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ที่ใช้ความสมัครใจเข้าร่วม ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะให้แนวคิดสงวนสิทธิ์บางประการดังกล่าวมีตำแหน่ง fit in สวมอยู่ในระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ปัจจุบัน และใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการนำแนวคิดสงวนสิทธิ์บางประการให้เป็นความจริงได้นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์เท่านั้น ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่จะทำให้มันเป็นความจริงได้

พูดอย่างสรุป คือ

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ จะเป็นการสร้างระบบนิเวศใหม่ ด้วยการผลักดันให้งานเกิดใหม่มาใช้สัญญาอนุญาตแบบนี้ พร้อมชักชวนให้งานเก่า ๆ เปลี่ยนมาด้วย ตามความสมัครใจ - ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ในระบบลิขสิทธิ์เดิม-ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวกฎหมายตัวระบบ คือโลกเดิมมันแย่แล้ว สร้างโลกใหม่ละกัน แล้วของเก่า ๆ ก็ค่อย ๆ อพยพ migrate มาเท่าที่จะทำได้ แบบนี้ก็เนียน ๆ หน่อยค่อยเป็นค่อยไป - เป็นวิวัฒนาการ evolution

ส่วนเป้าสูงสุดของขบวนการเคลื่อนไหววัฒนธรรมเสรีนั้น จะท้าทายระบบเดิม เพื่อนำไปสู่ระบบใหม่ ที่เชื่อว่าเป็นธรรมกับทุกฝ่ายกว่าเดิม คือจะเปลี่ยนโลกเดิมทั้งใบให้เป็นโลกใหม่เลย แบบนี้ก็รุนแรงหน่อย (และเป็นธรรมดาที่จะได้รับการต่อต้านมากหน่อย) - เป็นการปฏิวัติ revolution

“นักปฏิวัติท้ายที่สุดแล้วจะเป็นนักปฏิรูปที่ขยันที่สุด ก้าวหน้าที่สุด
ในทางตรงข้าม นักปฏิรูปหากทำการปฏิรูปเพียงลำพังโดยปราศจากเป้าในการปฏิวัติ
ก็จะเป็นผู้รักษาระบบแห่งการกดขี่ที่ขยันที่สุด อย่างขันแข็งที่สุดเช่นกัน”

โรซา ลุกเซมบวร์ก, นักทฤษฎีมาร์กซิสม์และนักปรัชญาสังคมชาวยิวเยอรมันเชื้อสายโปแลนด์ (สำนวนแปลโดย กลุ่มประกายไฟ)

หมายเหตุ : แม้ตัวผมเองนั้นได้ไปช่วยงานทางกลุ่มทำงานครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทยด้วย แต่การทำโลโก้และจุดประสงค์ที่จะก่อให้เกิดประเด็นถกเถียง-ทบทวน จากประเด็นโลโก้นี้ ไม่ได้สอบถามทางกลุ่มครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทยมาก่อนครับ

* คำว่า “Read Mix Burn” นี้ ที่เคยเกริ่น ๆ กับทีมงานไว้ในเมลฉบับหนึ่งช่วงเตรียมงาน (ช่วงคุยเรื่องชื่องาน) ว่าอยากให้งานมันเป็นซีรีส์ต่อเนื่อง : Read ก็ตามรี้ดแคมป์นี้ อ่าน วิพากษ์ ตีความ Mix คือเอางานมาผสมเล่าใหม่ในสื่อแบบต่าง ๆ Burn จะเป็นประเด็นสิ่งที่คนไม่อยากให้อ่าน หนังสือต้องห้าม หนังโดนแบน เว็บโดนบล็อค - Read Mix Burn นี้ ล้อสโลแกนในโฆษณา iPod+iTunes ของ Apple ที่ว่า Rip Mix Burn

[ จาก บล็อก ReadCamp ]

technorati tags: , , ,

1 comment:

jark said...

แม้จะไม่ค่อยเข้าใจ
แม้จะไม่เห็นด้วย

แต่ก็ขอชื่นชมในความกล้าหาญที่จะทำในสิ่งที่เชื่อ
และความใจกว้างที่ยินดีรับผลสะท้อนทุกกรณีครับ