วันนี้ไปงานหนังสือ
ตอนไปตั้งใจว่าจะซื้อแค่เล่มเดียว คือ ดีไซน์+คัลเจอร์ 2
(ประชา สุวีรานนท์; สำนักพิมพ์อ่าน; 2552) (อ่านบทวิจารณ์เล่มแรก โดย สุภาพ พิมพ์ชน, @Duangruethai, @birdwithnolegs, ฯลฯ)
สุดท้ายตัดสินใจ ยังไม่ซื้อ ดีไซน์+คัลเจอร์ 2 ด้วยเหตุอยากจำกัดงบไม่ให้บาน และคิดว่าไว้ซื้อวันหลังได้ วันนี้เลยขอเฉพาะหนังสือที่คิดว่า คงหาซื้อตามร้านที่ปกติจะไป-ไม่ได้ พวกหนังสือเก่า หนังสือจากสำนักพิมพ์เล็ก ๆ (ซึ่งผมคิดว่า นี่เป็นความดีงามอย่างหนึ่ง[หรือหนึ่งอย่าง?]ของงานหนังสือ ผมได้รู้จัก สถาบันสถาปนา
ก็จากงานหนังสือสมัยคุรุสภานี่แหละ เขาเอามาเลหลังลดราคา)
ประวัติศาสตร์ในมิติวัฒนธรรมศึกษา (สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ บรรณาธิการ; ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร; 2552)
เล่มที่ 3 ในชุด ยกเครื่องเรื่องวัฒนธรรมศึกษา รวมบทความจากการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 7 เล่มนี้มีบทความของ ธีระ นุชเปี่ยม, ชาตรี ประกิตนนทการ, วรสิทธิ์ ตันตินิพันธุ์กุล, นิติ ภวัครพันธุ์ คิดว่าจะใช้ชิ้นของคนที่สองในงานที่กำลังเขียนอยู่ เลยหยิบ [280 บาท เหลือ 224 บาท. บูธสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โซน C ชั้นล่าง]
เข้านอก/ออกใน: รวมบทสัมภาษณ์และบทความศิลปะร่วมสมัย (พ.ศ. 2546-48) (กฤษณะพล วัฒนวันยู บรรณาธิการ; สำนักพิมพ์สเกล; 2548)
หยิบมาเพราะมันน่าอ่านด้วยก็หนึ่ง ขนาดกะทัดรัด และโดยเฉพาะว่ามันมีบทความของ นพพร ประชากุล อยู่ และเมื่อกลับมาถึงบ้าน เราก็พบอีกว่า นพพร เป็นบรรณาธิการที่ปรึกษาเล่มนี้ด้วย [195 บาท เหลือ 100 บาท. บูธวารสารหนังสือใต้ดิน โซน C ชั้นล่าง - เจอ เมธี โมเดิร์นด็อก ที่บูธนี้ด้วย]
ปรัชญาหลังนวยุค: แนวคิดเพื่อการศึกษาแผนใหม่ (กีรติ บุญเจือ; สำนักพิมพ์ดวงกมล; 2545)
หลัก ๆ นี่เอามาดูศัพท์เลย มีศัพท์บัญญัติที่ไม่เคยเห็นเยอะมาก (หลังนวยุคภาพ = postmodernity !!) รวมทั้งการออกเสียง/สะกดไทยชื่อนักคิดนักเขียนชาวต่างประเทศด้วย เจอพี่ grappa บนรถไฟฟ้า เธอก็ว่าศัพท์เยอะดีนะ น่าสนใจ [250 บาท เหลือ 100 บาท. บูธร้านหนังสือเก่า โซน C ชั้นบน บนหัวผู้จัดการASTV พอดี]
พูดถึงหนังสือแล้ว เมื่อวาน ที่มหาลัย เจอเจ้านี่ บนตู้รับบริจาคหนังสือ:
แนวทางการแก้ไขปัญหาในระบบ NetWare
ครับ สุดยอด ... ผมว่าน่าจะบริจาคเข้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์นะ เอาไปเข้าห้องสมุดโรงเรียนนี่ ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ดูที่ซ้อน ๆ กันอยู่ มี ไมโครโปรเซสเซอร์, ไมโครคอมพิวเตอร์, การอินเทอร์เฟส IBM PC ด้วย
อืม เมืองไทยมีไหมอ่ะ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์ อยากให้มีจัง
ตอนผมเรียนได้เรียน history of computing นิดเดียวเอง เป็นส่วนหนึ่งของวิชา intro to computer science ผมว่าวิชาพวกนี้สำคัญนะ ความเป็นมาในเรื่องของแนวคิดต่าง ๆ history of computing, philosophy of computer science เวลาทำอะไรมันจะได้รู้ที่มาที่ไป ทำไมปัญหาแบบนี้ถึงแก้แบบนี้ ไม่ใช่ว่าก็ทำไปตาม handbook, cookbook มีแต่เทคโนโลยี ไม่มีวิทยาศาสตร์ รู้ตำรา แต่ออกนอกตำราไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าตำรามันอยู่บนฐานไหน แล้วเราจะอยู่บนฐานไหน ในการโต้หรือฉีกออกไป
technorati tags: books, Thai, art, cultural studies, postmodern
1 comment:
Thank youu for being you
Post a Comment