ปรับปรุง 2008.03.31: แก้สะกดผิด (สระเกิน ที่มองไม่เห็นบนวินโดวส์) เพิ่มลิงก์พี่ไตร แสงศตวรรษ และ technorati แปะคลิป / และตกลง network interface ไม่ได้เจ๊งครับ ปรากฎว่าสงสัยจะ update package อะไรไปแล้วมันเจ๊ง พอลงโอเอสใหม่ มันก็ใช้ได้เหมือนเดิมครับ เน็ตเวิร์ก (ตอนนี้ใช้ Ubuntu 8.04 Beta อยู่)
คลิป Kapook ชวนคุย วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2550 ที่บ้านไร่กาแฟ ขึ้นแล้วนะครับ (ตั้งแต่เมื่อวานเที่ยง ๆ ได้ ผมเพิ่งจะต่อเน็ตได้ network interface โน๊ตบุ๊คเจ๊ง)
ที่ Duocore http://duocore.tv/ (ตอนพิเศษ xxx.kapook.com)
ที่ FukDuk http://fukduk.tv/ (รอ 1 เม.ย. รายการ “กำไข่ ใส่ข่าว”)
เชิญดูและพิจารณานะครับ ความเห็นของผู้คนต่าง ๆ น่าจะพอเห็นใน blogosphere บ้างแล้ว
ความเห็นของผมสั้น ๆ ตอนนี้ ก็คือ งานนี้ คุณปรเมศวร์ แฟร์ ตอบทุกคำถาม แม้จะยืดยาวกินเวลาไปหน่อย โดยเฉพาะในช่วงแรก และออกนอกเรื่องไปไกลหลายทีในช่วงถัด ๆ มา แต่ยังไงคุณปรเมศวร์ก็พยายามตอบทุกข้อ และทุกข้อก็พอฟังได้ - เป็นข้อ ๆ ไป - แต่อย่าเอาคำตอบทั้งหมดมาร้อยกัน เพราะมันจะไม่ค่อยสนิทกันเท่าไหร่นัก บางข้อมันขัดกันเอง - แต่โดยรวมไม่น่าเกลียดครับ ฟังได้ (เชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่คนนะครับ ก็พิจารณาเป็นข้อ ๆ ไป)
แต่ที่(ผม)ฟังไม่ได้จริง ๆ ก็คงจะเป็นทีมงานของ Kapook คนหนึ่ง (เสื้อดำในวิดีโอ) และบางคำที่พี่ไตร-ชีพธรรม (เสื้อ eBay) พูด ลองดูในวิดีโอเองนะครับว่าเป็นอย่างไร (ผมไม่ได้รู้จักพี่ไตรเป็นการส่วนตัว แต่ก็ติดตามผลงานมาตลอด ตั้งแต่สมัยผมทำงานใหม่ ๆ และต้องไปเกี่ยวข้องเรื่องจัดอบรมที่ซอฟต์แวร์ปาร์ค และก็ชอบลีลาการอบรมของพี่เขามาก รู้สึกว่าคนนี้เกิดมาเพื่อสื่อสารเพื่อเป็นโค้ชจริง ๆ ผมเลยรู้สึกผิดหวังในทัศนคติของพี่เขาเรื่อง “ขี้อิจฉา อวดดี อยากเด่น” ฯลฯ - แต่นั่นก็เป็นเรื่องของตัวผมเอง ไม่ได้เป็นความผิดของพี่เขา)
อยากให้ดูคลิปที่ว่าจนจบนะครับ จะได้ฟังความเห็นของทุก ๆ คนอย่างรอบด้าน (เพิ่งดูคลิปของ Duocore จบ พบว่ามีตัดไปบ้างบางส่วน แต่เหมือนเป็นการตัดต่อให้ภาพมันต่อเนื่องมากกว่า เท่าที่ดู ไม่น่าจะมีประเด็นสำคัญอะไรถูกตัดออกไป ยกเว้นช่วงสุดท้ายที่ อดัม FukDuk ซักถามคำถามหลายคำถาม พร้อมข้อมูลประกอบที่ปริ๊นท์ออกมาหลายหน้า — คุณออย Duocore แจ้งว่า ตอนท้ายนี้ไม่ได้เป็นการตัด แต่ที่หายไปน่าจะเป็นเพราะแบตหมดแล้ว แต่ไม่ต้องห่วง ยังไงดูได้ที่เว็บ fukduk.tv ครับ 1 เม.ย. นี้)
(ข้างล่างนี้เกี่ยวข้องกับเรื่อง Kapook น้อยมาก ๆ)
เมื่อคืนได้แลกเปลี่ยนกับ MacroArt, jittat และ sugree ผ่าน twitter (บนรถเมล์ ผ่านมือถือ) ประเด็นสำคัญที่ผมคิดว่าควรจะต้องย้ำตรงนี้ก็คือ ไม่ใช่เรื่องทุกเรื่องที่เราจะจัดการกับมันแบบ ‘ ส่วนตัว’ ได้ (และหลายครั้งถึงทำได้ ก็ไม่ควรทำ) — ถ้าเป็นเรื่องประโยชน์ส่วนตัว ความเสียหายส่วนตัว แน่นอนว่ามันคงจะดีกว่า ถ้าจัดการกันแบบส่วนตัวได้ แต่เมื่อไรที่มันเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ ความเสียหายสาธารณะ ผมไม่คิดว่าการจัดการแบบส่วนตัวจะสามารถทำได้ (และถึงทำได้ ก็ต้องไม่ทำ)
ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่อง ถ้าเห็นว่ามีปัญหาอะไร ก็รายงานไปที่ผู้ต้องหาสิ (เอาจริงสิ ? รายงานไปที่ ผู้ต้องหา นะ) — ผมเห็นเหมือน sugree ว่าเราควรจะมีที่กลางที่เราสามารถเชื่อใจเชื่อถือได้ เพื่อที่เราจะได้รายงานไปที่ดังกล่าวได้ และกระบวนการทุกอย่างต้อง มีส่วนร่วมได้-โปร่งใส-ตรวจสอบได้ (ทำนองเดียวกับการแจ้งไปที่ Bugzilla หรือส่ง support ticket หรือติดตามพัสดุผ่านเว็บ FedEx) — ซึ่งตอนนี้ผมเห็นว่าไม่มี — จึงเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนจะวิ่งไปแจ้งสื่อมากกว่าแจ้งตำรวจ หรือถนนพังก็แจ้งทีวี เพราะแจ้งทางการมาแล้วห้าปีไม่เห็นมีใครมาทำอะไร แจ้งแล้วก็เงียบหาย แจ้งทีวีสิเร็วดี ออกอากาศปุ๊บ รุ่งขึ้นมาเลย หรือในกรณีทุกวันนี้ อินเทอร์เน็ตก็เป็นช่องทางหนึ่ง ที่เราสามารถสื่อสารกับคนอื่น ๆ มาได้มากกว่า กว้างกว่าเดิม อย่างง่าย ๆ — ซึ่งก็มีทั้งเรื่องบอกเล่า ชื่นชม เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
ในกรณีที่ไม่เห็นด้วยนั้น คนเขียนก็อาจจะไม่ได้หวังให้ไปเอาผิดอะไรกับใครด้วยซ้ำ เพราะหลายทีที่มันไม่ได้ผิดกฎหมาย (และเพราะไม่ผิดกฎหมายจึงไปแจ้งตำรวจไม่ได้ อย่างเรื่อง SEO ตำรวจเขาคงงง ๆ มันไม่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว) แต่เขียนไปเพื่อแจ้งให้คนอื่นได้ทราบสิ่งที่เกิด และบอกเล่าความคิดเห็นของเขากับสิ่งเหล่านั้น ว่าเขาไม่เห็นด้วยนะ เพราะอะไร ส่วนคนอื่นจะคิดอย่างไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน และแต่ละคนก็มีสิทธิที่จะโต้แย้งได้อย่างเท่าเทียมเช่นกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ
อินเทอร์เน็ตมีคุณค่า เพราะมันไม่ได้บรรจุแต่เพียง “ความจริง” แต่มันยังมี “บทสนทนาเพื่อแสวงหาความจริง” บรรจุรวมอยู่ด้วย (เราเรียกมันสั้น ๆ ว่า “ความคิดเห็น”)
ไม่ว่าเราจะมีระบบแจ้งเหตุที่น่าเชื่อถือแล้วหรือไม่ อินเทอร์เน็ต/มณฑลสาธารณะจะต้องเป็นที่ที่เราสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นธรรมต่อเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเสรี ถ้าสิ่งที่เราพูดนั้นมีมูล มีเหตุที่เชื่อถือได้อันทำให้เราเชื่อเช่นนั้น และเราพูดไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เราก็ควรจะได้รับการปกป้องทางกฎหมายด้วย (ดูกรณี ชินคอร์ป vs สุภิญญา ที่ชินคอร์ปฟ้องสุภิญญา หลังเธอให้สัมภาษณ์ถึงการเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจครอบครัวของอดีตนายก ซึ่งสุดท้ายศาลอาญามีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง “เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกล่าวแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นวิสัยของบุคคลและประชาชนพึงกระทำได้ ไม่ได้เป็นการมุ่งประสงค์ใส่ความบริษัทให้ต้องเสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่น เกลียดชังแต่อย่างใด” [ผมหวังให้พี่ไตรได้อ่านตรงนี้])
เมื่อคืนตอนที่ผมแลกเปลี่ยนกับทุก ๆ คน (อย่างทุลักทุเล จิ้ม ๆ บนมือถือ) ผมคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องของเว็บใดเว็บหนึ่ง หรือกระทั่งเป็นเรื่องเจาะจงเฉพาะอินเทอร์เน็ต แต่ผมคิดถึงกรณีทั่วไปทั้งหมดเลย (คิดว่าคนอื่น ๆ ก็น่าจะประมาณนี้) เป็นเรื่องของสิทธิในการ(ไม่)สื่อสาร สิทธิที่จะ(ไม่)รู้ และสิทธิที่จะ(ไม่)พูด แน่นอนว่าในกรอบที่จะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่(ต้องพูดแต่ไม่)พูดด้วย - แต่ย้ำว่านี่เป็นการรับผิดชอบต่อสาธารณะ
สิทธิในการสื่อสารเป็นสิทธิโดยธรรมชาติ เราทุกคนเกิดมาพร้อมสิทธิอันนี้ เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องถูกรับรองโดยกฎหมาย เราทุกคนนั้นเมื่อเกิดมาก็ดู ก็ฟัง ก็พูดได้เหมือนกันหมด การกระทำใด ๆ ที่จะทำให้เราดูไม่ได้ ฟังไม่ได้ พูดไม่ได้ (เช่น ดูไม่ได้เพราะเขาเห็นว่าเราโง่เกินไปที่จะดูพระเล่นกีต้าร์ หรือพูดไม่ได้เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ หรือกลัวว่าจะถูกฟ้องหมิ่นประมาท) ย่อมเป็นการริดรอนสิทธิโดยธรรมชาติของเราอันนี้ทั้งสิ้น
คุณ MacroArt สนใจประเด็น code of conduct จรรยาบรรณของบล็อกเกอร์/สื่อพลเมือง จึงขอเสนอลิงก์ด้านล่างอีกรอบครับ
- จรรยาบรรณของสื่อพลเมือง / YouFest / blog tag ภาคพิเศษ - Fringer
- จรรยาบรรณของบล๊อกเกอร์ฉบับ O’Reilly - iTeau
- Bloggers' Code of Conduct (1) (2) (3) - bact'
- Bloggers' Code of Conduct - เมลกลุ่ม YouFest (คนที่ร่วมวง: mk Blognone, hunt Zickr, กล้า Duocore, ผม, คุณจีรนุช ประชาไท)
(เมื่อวาน tweet หลายเรื่องมาก เช่น เรื่องหลักฐาน การทำลายหลักฐาน ความเสียหายที่เกิดต่อสาธารณะแล้ว ฯลฯ ยังไงไปกดหาใน twitter นะครับ ปวดฉี่ ไปแล้ว อยู่ร้านเน็ต หวัดดีครับ)
technorati tags: Internet, code of conduct, blogger, public sphere, xxx, kapook, xxx.kapook.com, ethics
10 comments:
ดูคลิปแล้วเหมือนกันค่ะ ล่าสุดเห็นว่าคุณปรเมศวร์ ลาออกแล้วนะคะ
นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บฯลาออก หวั่นสังคมแคลงใจ
http://thairath.com/online.php?section=newsthairathonline&content=83609
เห็นด้วยครับ กับความคิดของคุณครับ
ปรบมือให้ๆ
ผมสงสัยว่า มีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้อง update blog เก่าบ่อย ๆ ?
ใครที่ตามอ่าน Planet TLWG จะเห็น blog เรื่อง "Goliath vs Networked Davids" และ "xxx.kapook.com" กระโดดขึ้นมาข้างบนบ่อย ๆ โดยที่อ่านไปต้องควานหาว่า "มันมีอะไรใหม่?" ทั้งความยาวของ blog ก็กินเนื้อที่ของ blog คนอื่น ๆ ทำให้ต้อง scroll ข้ามลงมาเพื่อจะอ่านเนื้อหาใหม่ของคนอื่น ๆ ด้วย
แม้ครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ blog ของ bact มีการ flood planet ในลักษณะนี้ แต่ก็เพิ่งเป็นครั้งแรกที่ผมทักท้วง จึงอยากจะหารือถึงความจำเป็นในการ update blog เก่า ถ้า bact มีความจำเป็น จะเป็นไปได้ไหมที่จะไม่ให้ flood planet (เช่น เลือก tag เพื่อให้ขึ้น planet แค่บางเรื่อง) หรืออาจจะมีวิธีอื่น เช่น เลี่ยงการ update blog เก่า แต่ใช้วิธีเขียนเพิ่มใน blog ใหม่ โดยอ้างอิงต่อเนื่องถึงเอา?
ขอบคุณครับ
เพราะว่าใช้ parameter "orderby=updated" ล่ะมั้ง เวลา update blog ทีมันก็เลยขึ้นมาอยู่ด้านบน planet
iake,
ขอบคุณครับ โปรแกรม planet ที่ใช้ไม่ได้มีตัวเลือกนั้น แต่ก็ได้แนวทางไป hack source เจอจุดที่แก้ลำดับการ sort แล้ว มัน hardcode ไว้เลยว่า sort updated ก่อน published และนี่ก็เป็นพฤติกรรมปกติของ planet หลาย ๆ ที่ (อย่างน้อยที่เคยเห็นกับตาก็ที่ planet Debian) และเวลาที่ใคร update blog เก่าบ่อย ๆ ก็มักจะโดนเพ่งเล็ง ว่าต้องการปั่น blog visibility ใน planet เพราะพฤติกรรมปกติของ planet คงต้องการให้ blog ที่มีการ update ได้ขึ้นมาเตะตาผู้อ่าน จะได้ทราบว่ามีการ update แล้วนะ และเจ้าของ blog ก็จะทำเครื่องหมายไว้ชัดเจน ว่าตรงไหนคือส่วนที่ update เพื่อผู้อ่านจะได้ไม่ต้องควานหา และที่สำคัญคือ เขาจะ update เท่าที่จำเป็น และ update ให้น้อยที่สุด เพื่อเลี่ยงการถูกเพ่งเล็ง
การจะปรับพฤติกรรมของ planet ก็เลยต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่าง feature ในการแสดงการ update ที่สำคัญ กับการป้องกันการ flood ซึ่งก็คงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของสมาชิกป้อน blog เองนะครับ ที่จะกำหนดว่าควรเลือกแบบไหน
ขอพิจารณาก่อนนะครับ ว่าควรเลือกแบบไหน ระหว่างนี้ ถ้า bact มีอะไรเพิ่มเติมก็เชิญได้ครับ
ผมว่าจะถามจะถามอยู่หลายที ว่าจะทำยังไงไม่ให้มันขึ้น แต่ก็ลืมทุกทีครับ ขอโทษด้วยครับ พี่เทพถามมาก็ดีแล้วครับ ขอบคุณมาก
ใจผมไม่อยากให้มันโผล่ไปขึ้นใหม่อีกทีใน planet ครับ คือขึ้นแค่ครั้งเดียวก็พอแล้วตอนโพสต์ครั้งแรก ส่วนตอนที่ผมมาแก้คำผิด หรือเพิ่ม tag ก็ไม่อยากให้มันไปโผล่ใหม่เหมือนเป็น update อีก
(กรณีเมื่อวานเป็นการเพิ่ม tag ให้กับโพสต์สามอันที่เกี่ยวข้องกัน และแต่ละอันก็ยาวมาก ทำให้ล้น planet ไปเลย)
ถ้าที่ planet ตั้งไม่ได้ ผมจะตั้งที่บล็อกนี้แทนแล้วกันครับ วิธีที่คิดออกแล้วทำได้เลย คือใช้ feed ที่เลือกเฉพาะที่มี label ที่กำหนด
กรณีที่ไม่เห็นว่ามีประเด็นอะไรเพิ่มเติมมาก
หรือมีเพิ่มเติม แต่เป็นการเพิ่มเติมตัวอย่าง หรืออธิบายให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการเพิ่มประเด็นอะไรใหม่ ผมพยายามจะเขียนรวมไว้กับของเดิม มากกว่าที่จะไปเขียนอันใหม่น่ะครับ (ซึ่งจริง ๆ ก็ดูจะผิดธรรมชาติของ blog ที่น่าจะเป็นงานเขียนแบบสดกว่านี้)
ลองเล่น feedburner กับตัว feed ของ Blogger.com เอง พบว่าการเลือก label นี่ทำแบบ or ไม่ได้ ได้แต่ and
ง่ายที่สุดสงสัยจะเป็นปรับนิสัยการโพสต์ แบบที่พี่เทพแนะนำ
อ่านให้รอบคอบยิ่งขึ้นก่อนโพสต์ จะได้ไม่ต้องตามแก้ครับ
ที่ planet จะปรับก็ได้อยู่ครับ ใช้วิธี hack source เอา เพียงแต่ที่ยังชั่งน้ำหนักอยู่ ก็เป็นเรื่อง feature ที่จะหายไป ในการแสดง blog ที่มีการ update (ในกรณีที่จำเป็นต้อง update หรือมีเหตุอันควร)
เรื่องการเพิ่ม tag ผมเองก็อยากไปใส่ tag ใน blog เก่าของตัวเองเหมือนกัน แต่เคยทำแล้วมันไป flood planet ผมก็เลยงดไป แล้วก็ไม่พยายามแตะต้อง blog เก่าอีก
ในการปรับการเรียง blog ใน planet ผมกำลังรู้สึกเหมือนตัดสินใจแทนสมาชิกคนอื่นอยู่เหมือนกัน ต้องระลึกย้อนกลับไป ว่ามีใครชอบ update blog เก่าอีกบ้าง และ update ในลักษณะไหน แล้วถ้าในอนาคต มีคน update blog แล้วไม่มีใครสังเกตเห็นใน planet เขาจะมาถามผมอีกหรือเปล่า :-/
หรือผมควรเผด็จการไปเลย ว่า update blog ก็จะไม่ดันขึ้นมา ไม่ว่ากรณีใด ๆ อืมม์..
thep: ผมว่าพฤติกรรมของ Planet TLWG ตอนนี้ดีอยู่แล้วนะครับ คือถ้ามีการอัพเดท ก็ให้มันโชว์ขึ้นมาให้ทุกคนเห็น
(เรื่องจะไปปรับว่า อัพเดทแบบไหนโชว์ แบบไหนไม่โชว์ นี่ยุ่งยากไป)
ผมจะปรับพฤติกรรมในการโพสต์/อัพเดทของผมดีกว่าครับ ง่ายกว่า (จะลองดูครับ)
เพิ่งตอบไปตะกี้ - flooded Planet
Post a Comment