“ที่เอาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพราะไม่อยากเอาพ.ร.บ.ใหญ่กว่านี้”
— พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม (DSI), 8 พ.ย. 2550
พี่ที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ส่งอีเมลมาสัมภาษณ์ตั้งแต่สองอาทิตย์ที่แล้ว เพิ่งมีเวลาตอบกลับไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
วันศุกร์เขาโทรมาอีกที บอกว่าขออนุญาตรีไรท์ใหม่ เพราะจดหมายข่าวที่เขาจะเอาไปลง มันบางนิดเดียว ลงให้ได้สามหน้า แต่ที่ผมส่งไปมันเก้าหน้ากว่า ๆ ได้ :P เขาจะแบ่งลงเป็นสองฉบับแล้วกัน สัมภาษณ์ลงฉบับนี้ และเลือกประเด็นบางอย่างไปลงฉบับหน้า ผมบอกไปว่ารีไรท์ตามสบายเลยพี่ เพราะพี่รู้จักกลุ่มผู้อ่านดีกว่าผม จะได้เขียนให้เป็นภาษาที่กลุ่มผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ
เลยขอเอาฉบับเต็ม ๆ ที่ส่งไปให้เขาทีแรก (แก้ไขนิดหน่อย) มาลงในบล็อกนี้ (ในนี้ผมใช้ “บล็อก” สำหรับ “blog” และ “บล็อค” สำหรับ “block”) เพื่อให้รับกับงานสัมมนา “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่และการคัดค้านของโลกไซเบอร์ : จากตำราสู่การปฏิบัติจริง” เมื่อ 8 พ.ย. ที่พึ่งผ่านมา (ดูความเห็นคนอื่น ๆ: wonam, คนชายขอบ (พร้อมแผ่นนำเสนอ), วิดีโอสัมภาษณ์วิทยากร (ดาวน์โหลด [wmv])) — ในสัมมนาวิทยากรจาก PTT ICT Solutions ยอมรับและเห็นด้วยว่า ระเบียบการยึดอายัดเซิร์ฟเวอร์ ยังมีช่องโหว่อยู่ เรื่องการที่เจ้าหน้าที่อาจจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้โดยเจ้าของเครื่อง/ศาลไม่รู้
ความเห็นเพิ่มเติมจากบทสัมภาษณ์นี้ ในประเด็นพ.ร.บ.คอมฯ ก็คือ ผมเห็นด้วยกับประเด็นของคุณคนชายขอบมาก (จากสัมมนา) ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของบล็อกเกอร์ในฐานะสื่อพลเมือง และเรื่องมาตรา 14, 15, 16 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจได้ว่า เนื้อหาอะไรที่ “น่าจะเกิด” ความเสียหายได้. ซึ่งเท่ากับว่าให้อำนาจ บุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ในการฟ้องร้อง (โดยความเสียหายยังไม่จำเป็นต้องเกิดจริงด้วยซ้ำ แค่สงสัยว่ามัน “น่าจะเกิด” ได้ ก็ฟ้องได้แล้ว) — กฎหมายหมิ่นประมาท ในปัจจุบัน ให้อำนาจเฉพาะผู้เสียหายเท่านั้น ที่เป็นผู้ฟ้องได้, กรณีเดียวก่อนหน้านี้ที่ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้เสียหายฟ้องได้ ก็คือใน กฎหมายหมิ่นพระบรมฯ เท่านั้น — ซึ่งตรงนี้ก็สอดรับชัดเจนกับที่ พ.ต.อ.ญาณพล ยอมรับบนเวทีว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 2 รายที่ถูกจับไปเงียบ ๆ นั้น ถูกจับด้วย พ.ร.บ.คอมฯ นี้จริง โดยตอบว่า “ที่เอาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพราะไม่อยากเอาพ.ร.บ.ใหญ่กว่านี้”
จากตรงนี้ ประกอบกับประวัติศาสตร์การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมฯ ที่ผ่านมา, แนวโน้มที่จะมีการใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับนี้ เพื่อกลั่นแกล้ง/จำกัด/กำจัดผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน (โดยเฉพาะในทางการเมือง) ก็มีสูงมาก (2 รายที่โดนไป ก็อาจจะใช่.)
ที่รีบร้อนเร่งเร้าให้ออกพ.ร.บ.นี้กันเหลือเกิน (เป็นพ.ร.บ.แรกที่สนช.จากรัฐประหารหยิบมาพิจารณา) ก็เพราะแบบนี้ใช่ไหม ?
พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ร.บ.หนังสือพิมพ์ และอื่น ๆ ที่กำลังตามมา ก็คงมีแรกผลักดันที่ไม่ต่างกัน, และสุดท้ายถ้าไม่มีแรงต้านจากสังคมที่เพียงพอ กฎหมายที่มีเนื้อหากระทบต่อสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ เหล่านี้ก็คงจะผ่านออกมาในลักษณะคล้าย ๆ กัน.
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 [pdf]
ประชาไทรายงานการสัมมนา:
- สังคมไซเบอร์หลัง พ.ร.บ.คอม (1): เครื่องมือใหม่ของคดีหมิ่นฯ? — ความพิเศษของ ‘คดีหมิ่นพระบรมฯ’ ในกระบวนการยุติธรรม และพ.ร.บ.คอมฯ ในฐานะอวตารของกฎหมายหมิ่นประมาท/พระบรมฯ
- สังคมไซเบอร์หลัง พ.ร.บ.คอม (2): แนวโน้ม ‘สื่อพลเมือง’ กลัวและเกร็งภายใต้ความ มั่นคงของรัฐ — ความมั่นคงของรัฐ vs ความมั่นคงของรัฐบาล, สิทธิของบล็อกเกอร์ในฐานะสื่อพลเมือง, และการคิดแทน
“ความมั่นคงของ ‘รัฐ’ กับความมั่นคงของ ‘รัฐบาล’ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร บางทีรัฐบาลลืมตัวไปว่าตัวเองเป็นรัฐ การคุกคามตัว[รัฐบาล]เอง กลับมองไปว่าเป็นการคุกคามรัฐ”
— โสรัจจ์ พงศ์ลดารมภ์ ผู้อำนวยการศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 8 พ.ย. 2550
บทสัมภาษณ์ จดหมายข่าวปฏิรูปสื่อ
- 2007.11.05 – ฉบับแรกที่ส่งให้คปส.
- 2007.11.09 – ปรับปรุงเพิ่มเติมจากที่ส่งให้คปส.เล็กน้อย
- ขยายความบางประเด็น/ศัพท์เทคนิคที่เดิมไม่ชัดเจนเล็กน้อย
- แทรกหมายเลขมาตรากฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ข้อมูลจากคุณจีรนุชและคุณสฤณี จากเวทีสัมมนาพ.ร.บ.คอมฯ 8 พ.ย. 2550)
- 2007.11.13 – เพิ่มลิงก์
- 2007.11.19 – เพิ่มลิงก์ บันทึกข้อความเรื่อง “การปฏิบัติการข่าวสารตั้งแต่ปัจจุบันถึงวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง” (เอกสารลับ) และแก้ไขที่ตกหล่นไม่ชัดเจนในประเด็นนี้
บทสัมภาษณ์
กองบรรณาธิการ จดหมายข่าวปฏิรูปสื่อ
เมื่อใครก็ตาม “คลิก” เข้าสู่โลกไซเบอร์ ในพริบตาข้อมูลข่าวสารทุกมุมโลกก็ปรากฏขึ้นตรงหน้า ใครๆอาจเลือกที่จะรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่สำหรับสังคมไทยวินาทีนี้อาจกลับกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกปิดกั้นความต้องการรับรู้หรือข่าวสารบางอย่าง “มือที่มองไม่เห็น” ของอาดัม สมิธ อาจทำให้กลไกตลาดทำงานได้ แต่มือที่มองไม่เห็นที่ไล่ปิดเว็บไซต์หลัง 19 กันยา กลับทำให้เสรีภาพของผู้คนแคระแกน
เราจึงชวนคุณมาคุยกับเขา เขาคนนั้นที่คุณก็รู้ว่าเป็นใคร??? อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักวิชาการรุ่นใหม่ค่ายธรรมศาสตร์ที่ให้ความสนใจกับเรื่องราวของเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพิเศษ และอีกสถานภาพคือหนึ่งในแกนนำกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ หรือ FACT ที่ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และรณรงค์ต่อเนื่องมาแต่แรกที่เว็บไซต์ถูกปิดลง
ช่วยแนะนำตัวเองให้เครือข่ายสื่อรู้จักมากขึ้น
สวัสดีครับ ผมอาทครับ ว่ากันตามจริงแล้วบางทีผมก็ยังงง ๆ อยู่ ว่าตัวเองจับพลัดจับพลูมาอยู่แถว ๆ นี้ได้ยังไง “เครือข่ายสื่อ” เนี่ย.
คือผมเรียนมาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ งานปัจจุบันก็เป็นงานวิจัยด้าน การประมวลผลภาษาธรรมชาติ การสืบค้นข้อมูลภาษาไทย อะไรประมาณนั้นครับ คือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เสียเป็นส่วนใหญ่. แต่โดยความสนใจทั่ว ๆ ไปก็คือ ทำยังไงให้คนเราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ต้องการได้สะดวกที่สุด (information access) ซึ่งตรงนี้อาจจะเกี่ยวกับเรื่องสื่ออยู่บ้าง แต่เป็นสื่อในเชิงตัวนำพาสารนะครับ ไม่ใช่ในความหมายสื่อสารมวลชนซะทีเดียว.
คือผมมองว่า ในการจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารชิ้นหนึ่งนี่ มันมีหลายกำแพงที่เราต้องข้ามไปให้ได้. อย่างระยะทาง ก็เป็นกำแพงหนึ่งในการส่งข้อมูล, หรือการมีข้อมูลกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบค้นหายาก ก็เป็นกำแพงหนึ่ง, หรือการที่ข้อมูลมันเป็นภาษาอังกฤษ ก็เป็นกำแพงหนึ่งสำหรับคนไทย, หรือการที่ข้อมูลที่หามาได้มันเยอะมากจนอ่านไม่ไหว (information overload) ก็นับเป็นอีกกำแพงหนึ่งได้.
ซึ่งกำแพงที่ได้ยกตัวอย่างไปนี่ ในทางเทคนิคแล้ว ปัจจุบันเราก็มีเทคโนโลยีอย่าง อินเทอร์เน็ต เสิร์ชเอนจิ้น โปรแกรมแปลภาษา โปรแกรมย่อความอัตโนมัติ มาช่วยแก้ปัญหาพวกนี้ไปได้ในระดับหนึ่ง.
อย่างไรก็ตาม มันยังมีกำแพงที่ขวางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอีกจำนวนหนึ่ง ที่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำลายหรือพาเราข้ามมันไปได้ เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาหรือระบบลิขสิทธิ์ที่เข้มงวดเกินไปจนไม่สมเหตุสมผล ก็เป็นกำแพงหนึ่งในการเข้าถึงหรือต่อยอดเผยแพร่ข้อมูลต่อ, หรือการออกแบบเอกสารหรือสื่อที่ไม่ได้คำนึงถึงผู้พิการ (accessibility) ก็เป็นกำแพงในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสำหรับผู้พิการ เป็นต้น.
จากแนวคิดนี้ เราก็จะเห็นว่า การคัดกรองเนื้อหาและการเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนี่ มันก็เป็นกำแพงหนึ่งเช่นกัน.
อาจจะด้วยเหตุนี้ ที่พาผมเข้ามาช่วยงานในเครือข่ายรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการแสดงออกในอินเทอร์เน็ตอย่างทุกวันนี้ครับ คือมันมาตามทางของมันเอง จริง ๆ ไม่ได้คิดจะมาทำเรื่องต่อต้านอะไรแต่แรก แต่มันก็เหมือนกับ ถ้าไม่ทำตรงนี้ เทคโนโลยีอะไรที่พวกเราคิดค้นที่พวกเราทำ มันก็ไม่มีความหมาย เสิร์ชเอนจิ้นคุณดีแค่ไหน หาได้เจอทุกอย่าง แต่ถ้าถูกเซ็นเซอร์ ทุกอย่างมันก็จบ.
ปัจจุบันนอกจากงานวิจัยที่ SIIT ธรรมศาสตร์แล้ว ก็มีมาช่วยงาน FACT นี่ กับโครงการครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons) ของประเทศไทย แล้วก็มีงานอื่น ๆ บ้างครับ แล้วแต่ว่ามีเวลาช่วงที่เขาติดต่อมาไหม. แล้วก็เป็นสมาชิกเครือข่าย YouFest ที่พยายามจะเผยแพร่แนวคิดด้านนิวมีเดีย (new media - สื่อนฤมิต/สื่อใหม่) สื่อพลเมือง อะไรทำนองนี้ในเมืองไทย จากมุมของคนที่ไม่ได้อยู่ในสายสื่อเลย.
กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์มีแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างไร และเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
สิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิเสรีภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเหล่านี้เราคิดว่ามันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิเสรีภาพที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนมาแต่กำเนิด. ถึงไม่มีกฎหมายไม่มีรัฐธรรมนูญรับรอง เราก็ยังมีสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ — ตรงนี้ต้องย้ำให้ชัดเจน ว่ารัฐไม่ได้เป็นผู้ให้สิทธิเสรีภาพกับเราผ่านทางกฎหมายต่าง ๆ แต่เรามีสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ติดตัวมาอยู่แล้วตั้งแต่เกิดโดยธรรมชาติ.
การเซ็นเซอร์หรือปิดกั้นเว็บไซต์ ละเมิดสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในทุกวันนี้ ที่อินเทอร์เน็ตมันเป็นสื่อแบบสองทาง คือใช้ได้ทั้งเพื่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สื่อสาร และแสดงออก จะเห็นได้จากเว็บบอร์ด และบล็อก (blog) ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย และมีอัตราเติบโตสูงมาก.
และแนวโน้มที่ผมเห็นก็คือ ในช่วงเวลาที่ผ่านมามันเริ่มมีบรรทัดฐานบางอย่างพัฒนาขึ้นในสังคมออนไลน์แล้ว เช่นการเอาอีเมล เบอร์โทรศัพท์ หรือที่อยู่ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่น ไปโพสต์ออนไลน์ อันนี้ถือเป็นเรื่องต้องห้าม ผิดมารยาท.
ตรงนี้มันอาจจะตอบที่ถามกันว่า “เรียกร้องกันแต่สิทธิเสรีภาพ แล้วความรับผิดชอบล่ะอยู่ที่ไหน” ได้เหมือนกัน. คือผมคิดว่าถ้าคุณเปิดโอกาสให้มันได้พัฒนาเรียนรู้กันไปตามธรรมชาติ สิ่งต่าง ๆ อย่าง ความรับผิดชอบ มารยาท ประเพณี มันอาจจะเกิดขึ้นเองก็ได้. แล้วมันจะยั่งยืนมั่นคงกว่าด้วย ถ้ามันเป็นบรรทัดฐาน เป็น norm ของสังคมออนไลน์ขึ้นมาเอง และดูแลกันเอง. ไม่ใช่เป็นกฎที่ใครก็ไม่รู้ตั้งขึ้นมาสั่งให้ทำ. อย่างเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่ยกตัวอย่างไป กฎหมายบ้านเรามันยังไปไม่ถึงตรงนั้นเลย พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลก็ยังถูกดองอยู่ แต่ในขณะเดียวกันมันเป็นบรรทัดฐานในสังคมออนไลน์โดยทั่วไปแล้ว เร็วกว่ากฎหมาย.
ถ้าเรายอมรับว่าสังคมออนไลน์มันต่างจากสังคมออฟไลน์ (offline ในชีวิตจริงนอกออนไลน์) เราก็ควรยอมรับว่ามันก็จะมีวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มของมันเอง.
คือต่อจากเรื่องกำแพงที่ผมว่าไปก่อนหน้านี้ ถ้าเราลองพิจารณาดู เราจะเห็นเลยว่า กำแพงเซ็นเซอร์นี่ มันเรียกได้ว่าเป็นกำแพงประเภท “หาเรื่อง” โดยแท้. คือแต่เดิมมันไม่มีอยู่ ไม่เหมือนพวกกำแพงภาษาที่เป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งกรณีนั้นเราก็ไม่ว่ากัน ก็หาทางข้ามกันไป ถ้าวันหนึ่งเทคโนโลยีมันก้าวหน้าพอ เราก็จะข้ามกำแพงพวกนี้ไปได้โดยง่ายเอง. แต่กำแพงอย่างเซ็นเซอร์นี่ มันเป็นเรื่องหาเรื่องโดยแท้ คนเราสร้างกันขึ้นมาเอง เอามาขวางทางกันเอง ด้วยเหตุผลข้ออ้างต่าง ๆ นานา เพื่อที่จะจำกัดว่า ใครจะสามารถรับรู้อะไรได้หรือไม่ได้. แล้วต่อให้คุณมีเทคโนโลยีดีขนาดไหน คุณก็ไม่สามารถจะข้ามหรือทำลายกำแพงเหล่านี้ได้โดยง่าย. เพราะมันถูกสร้างมาจากวัสดุจำพวกอำนาจรัฐ จารีตประเพณี บรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งคุณใช้เทคโนโลยีเจาะไม่ได้. แต่ต้องใช้ความเข้าใจในสังคม ใช้พลังของประชาชนของคนในสังคมมาเจาะมันพังมันลงมา หรืออย่างน้อยก็ทำให้มันเตี้ยลง.
กิจกรรมของเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย หรือ FACT (Freedom Against Censorship Thailand) ก็จะเป็นไปในแนวทางนี้ ก็คือรณรงค์ให้สังคมได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น. ในขณะเดียวกันเราก็บอกความเห็นของเราไปด้วยว่า เราคิดยังไงก็สิ่งที่เกิดขึ้น เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร เพราะอะไร ก็เป็นลักษณะทั้งสร้างความตระหนักและให้ความรู้ไปในเวลาเดียวกัน. ซึ่งประเด็นบางอย่างมันค่อนข้างใหม่ในสังคมเรา ไม่เฉพาะแค่ออนไลน์นะครับ แม้แต่ออฟไลน์ก็ยังไม่ค่อยแพร่หลายเลย. ตัวอย่างเช่นเรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy) และเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล (personal data) ซึ่งเรื่องนี้ก็มี พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล อยู่ในขั้นตอนพิจารณาอยู่ ไม่แน่ใจว่าถึงขั้นไหนแล้ว แต่เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้หรือยังไม่ให้ความสำคัญ การมีส่วนร่วมจากสังคมในพ.ร.บ.นี้ก็มีน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่ผมคิดว่านี่เป็นพ.ร.บ.ที่จะกระทบกับชีวิตประจำวันของทุกคนในยุคข้อมูลข่าวสารอย่างทุกวันนี้.
กิจกรรมของ FACT ที่ผ่านมาก็มีทั้งการล่ารายชื่อ การออกแถลงการณ์ในวาระโอกาสต่าง ๆ ซึ่งหลายครั้งก็เป็นการทำร่วมกับคปส.และพันธมิตรอื่น ๆ มีการรวมกลุ่มประท้วงเชิงสัญลักษณ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ ที่หน้าห้างพันธุ์ทิพย์และที่หน้ายูเอ็น รวมทั้งการแจกซีดีรวมโปรแกรมต้านเซ็นเซอร์ไปในช่องทางต่าง ๆ สำหรับในเว็บไซต์ ก็จะมีข้อมูลและเอกสารเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ ซึ่งรวมถึงรายชื่อเว็บที่ถูกบล็อค พร้อมอัพเดทข่าวอยู่เรื่อย ๆ ทั้งของในประเทศและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง.
นอกจากนี้อาสาสมัครในเครือข่ายก็พยายามจะไปร่วมสัมมนาในโอกาสต่าง ๆ เช่นที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อซักถามและเสนอความคิดเห็นในเวทีเหล่านั้น และเคยร่วมกับเครือข่ายสื่อใหม่ YouFest จัดงานสัมมนาเล็ก ๆ เกี่ยวกับเรื่องการเซ็นเซอร์อยู่ครั้งหนึ่ง กำลังคิดว่าปลายเดือนนี้อาจจะจัดอีกครั้ง ถ้ามีแรง.
คือเรียกว่าทำอะไรได้ก็ทำ แล้วในเครือข่ายก็ค่อนข้างจะหลากหลาย คือในด้านหนึ่งที่เรามีร่วมกันก็คือเราเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ในด้านวิชาชีพพวกเราก็มีทั้ง เว็บมาสเตอร์ นักข่าว บล็อกเกอร์ โปรแกรมเมอร์ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย คนทำหนังสือวรรณกรรมเยาวชน นักธุรกิจ นักศึกษา เรียกว่าไอเดียนี่ไม่ค่อยตันกันเท่าไหร่ แต่ไม่ค่อยมีแรงทำได้อย่างที่คิด เพราะทุกคนจริง ๆ ก็มีงานประจำกันหมด ไม่ได้เป็นนักรณรงค์มืออาชีพ อย่างผมเองบางทีก็หายหน้าไปบ้างถ้าเกิดว่างานประจำยุ่งมาก.
บางทีเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะ ว่าที่เราทำไป มันจะมีประโยชน์อะไรแค่ไหน. คือถ้าสังคมบอกว่าฉันยินดีที่จะถูกเซ็นเซอร์ ฉันอยากมีคุณพ่อรู้ดีมาคอยบอกว่าฉันควรดูอะไรไม่ดูอะไร. เราก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าเราจะทำไปทำไม อันนี้พูดในนามส่วนตัวนะครับ. คือผมอยากให้ FACT เป็นแค่คนจุดประเด็น แล้วสังคมสานต่อถ้าสังคมเห็นด้วย มากกว่าที่จะให้ FACT เป็นคนทำทุกอย่าง. คือผมไม่เชื่อว่า อะไรที่มีใครสู้มาให้เรา แล้วเราจะเก็บมันไว้ได้. อย่างเรื่องรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยนี่ผมก็ไม่เชื่อ ไม่รู้จะทำให้ตัวเองเชื่อได้ยังไงด้วย.
มันต้องสู้เอง ถึงจะหวงแหน และรู้วิธีที่จะรักษาไว้ได้อย่างยั่งยืน.
ช่วยอธิบายสถานการณ์ในสังคมไทยที่มีการไล่ปิดหรือบล็อคเว็บไซต์ในช่วงที่ผ่านมา
ตกอยู่ในความสับสน.
นี่คือสิ่งแรกเลย เอ๊ะ เว็บนี้ถูกบล็อคหรือเปล่านะ หรือว่าเป็นปัญหาทางเทคนิค เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น คือผมขอใช้คำนี้เลยว่า “อีแอบ” คือไม่รู้จะหาคำอะไรมาเรียกดี บางเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคนั้นแทนที่จะขึ้นหน้าจอ ของกระทรวงไอซีที หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือของไอเอสพี (ISP - Internet Service Provider ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต) ว่า เอ้อเว็บไซต์นี้ถูกบล็อคนะ อย่างตรงไปตรงมา กลับขึ้นหน้าจอว่าไทม์เอาท์บ้างล่ะ (timed out อาการที่เว็บเบราว์เซอร์รอคำตอบจากเว็บไซต์เป็นเวลานานมาก แต่เว็บไซต์ก็ไม่ตอบกลับเสียที จนเลิกรอ) หรือหาเว็บไซต์ไม่เจอบ้างล่ะ หรือหน้านี้ไม่มีอยู่บ้างล่ะ โดยพยายามทำหน้าจอให้เหมือนกับหน้าจอแสดงข้อผิดพลาดทางเทคนิคของโปรแกรม Internet Explorer ให้มากที่สุด เพื่อตบตาผู้ใช้ แต่ทีนี้ ผู้ใช้บางคนเขาใช้โปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์อื่นไง อย่าง Opera หรือ Firefox พอเจอหน้าจอของโปรแกรม Internet Explorer ก็ยังไงล่ะ เขาก็รู้ไง ว่านี่ถูกแหกตาอยู่.
คือเรื่องแค่นี้ คุณยังไม่มีความกล้าเพียงพอเลยที่จะบอกว่าคุณทำ ยืดอกประกาศว่าฉันบล็อคเอง. แต่ในขณะเดียวกันคุณก็มาอ้างศีลธรรมจริยธรรมอันดีงามอะไรมากมาย ซึ่งผมว่ามันตลก. ถ้าคุณมั่นใจในศีลธรรมของคุณ คุณก็เปิดเผยไปเลยสิ ว่าฉันบล็อคเว็บไซต์นี้นะ คนเขาจะได้สรรเสริญระดับศีลธรรมของคุณ. ไม่ใช่ว่ากล้าทำแต่ไม่กล้ารับ.
อีกด้านหนึ่ง ในฝั่งผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปัญหาอย่างหนึ่งจากการที่คนบล็อคทำตัวเป็นอีแอบก็คือ คนกลุ่มหนึ่งก็จะเข้าใจว่ามันเป็นปัญหาทางเทคนิค แล้วก็จะเฉย ๆ นึกว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้ปัญหามันไม่ถูกแก้ไข. ส่วนอีกกลุ่มก็จะหาว่า พวกที่ออกมาโวยวายว่าเว็บไซต์นั้นนี้ถูกบล็อค เป็นการใส่ความกัน จริง ๆ เป็นปัญหาทางเทคนิคต่างหาก พวกที่ออกมาโวยวายนั้นไม่รู้เรื่อง ก็มี.
หรือบางครั้งการบล็อคเกิดขึ้นที่ระดับไอเอสพี ซึ่งบางไอเอสพีก็บล็อค บางไอเอสพีก็ไม่บล็อค. ก็จะเกิดการเถียงกันว่า ฉันเข้าได้ ที่เธอบอกว่าเขาไม่ได้นั้นเธอโกหก ทะเลาะกัน. แต่ความจริงก็คือ ไม่มีใครโกหก พูดความจริงทั้งคู่ เพียงแต่สองคนนี้ใช้ไอเอสพีคนละเจ้ากัน ก็เลยเห็นผลต่างกัน. กรณีแบบนี้ก็ทำให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และก็สร้างปัญหาให้กับการเสนอข่าวการปิดกั้นเว็บไซต์ และการรณรงค์ของ FACT อยู่เหมือนกัน.
ส่วนในฝั่งผู้นักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเสรีภาพ รวมถึงกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ตื่นตัวหน่อย มันก็ทำให้เกิดการปะทะถกเถียงกัน ว่าเส้นมันอยู่ตรงไหน. อะไรที่ยอมให้บล็อคได้ อะไรที่ไม่ควรยอมอย่างเด็ดขาด ซึ่งประเด็นที่ถกเถียงกันส่วนใหญ่ ก็จะเป็นเรื่องภาพโป๊เด็ก เรื่องความรุนแรง ถ้อยคำที่แสดงความเกลียดชังมุ่งร้าย (hate speech) หรือการเหยียดชาติพันธุ์. ซึ่งในทางหนึ่งมันก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนชัดเจน. บางคนก็จะบอกว่าไม่ควรจะปล่อยให้เกิดในสื่อ. ในขณะที่บางคนก็บอกว่า เห็นด้วยว่ามันไม่ควรจะปล่อยให้เกิด แต่ไม่ใช่เฉพาะในสื่อหรือในอินเทอร์เน็ตเท่านั้น มันไม่ควรจะเกิดที่ไหนเลยต่างหาก ดังนั้นการควบคุมก็ไม่ควรจะมาเจาะจงที่ตอนนำเสนอในอินเทอร์เน็ต แต่ควรจะเป็นการบังคับใช้ทั่วไปให้เข้มงวดเหมือนกันหมด. พูดง่าย ๆ คือกลัวว่าเรื่องประเด็นเปราะบางเหล่านั้นจะถูกใช้เป็นข้ออ้าง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นเนื้อหาอย่างอื่น.
ซึ่งจากที่เราเห็นกันมา มันก็มีความเป็นไปได้ เพราะในขณะที่หน่วยงานรัฐออกมาให้เหตุผลเรื่องการปิดกั้นเว็บไซต์ต่าง ๆ ว่าทำไปเพื่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และที่ปิดไปก็เป็นเว็บโป๊เปลือยซะเป็นส่วนใหญ่, เราก็พบว่าในรายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคนั้น จำนวนหนึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการเมือง หรือเว็บไซต์ที่แสดงความคิดเห็นไปในทางที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐหรือคณะรัฐประหาร. คือมันมีการเอาประเด็นหนึ่งมากลบประเด็นหนึ่ง แล้วก็สอดไส้ แอบทำอย่างอื่นไปด้วย ซึ่งเราก็ต้องระวัง.
ซึ่งสุดท้ายแล้ว แม้จะหลาย ๆ ฝ่ายจะไม่ได้เห็นด้วยกันหมดไปทุกเรื่อง ว่าอะไรควรบล็อคไม่ควรบล็อค. แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันก็คือ ถ้าจะมีการบล็อคเกิดขึ้นจริง ๆ มันควรจะโปร่งใสตรวจสอบได้ มีเกณฑ์มีกติกาชัดเจน และอำนาจในการบล็อคนั้น ไม่ควรจะรวมศูนย์อยู่ที่กลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง แต่ควรจะเป็นการทำงานปรึกษาหารือร่วมกันจากทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง. แบบนี้มันถึงจะเป็นที่ยอมรับได้จากสังคมประชาธิปไตย. ซึ่งตรงนี้ก็คล้าย ๆ กับข้อเรียกร้องของทางสายภาพยนนตร์ กลุ่ม Free Thai Cinema Movement ที่เคลื่อนไหวเรื่องแบนหนังตัดหนัง เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิเสรีภาพในทางศิลปะ.
โดยทั่วไปแล้วการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในโลกไซเบอร์มีลักษณะอย่างไร
หลัก ๆ น่าจะมีสามสี่ลักษณะใหญ่:
หนึ่ง — ทำให้เข้าเว็บไซต์หรือแหล่งข้อมูลนั้นไม่ได้ ซึ่งก็มีหลายวิธี เช่น
1) สั่งปิดเว็บไซต์ โดยติดต่อไปที่เว็บโฮสติ้ง (ผู้ให้บริการเช่าพื้นที่บนอินเทอร์เน็ตสำหรับสร้างเว็บไซต์) ขอหรือสั่งให้เขาปิดเว็บไซต์นั้นลง หรือไม่ก็หาทางเจาะระบบเข้าไปทำลายเว็บไซต์ลงซะ. ผลก็คือเว็บไซต์นั้นก็จะหายไปจากอินเทอร์เน็ตเลย ผู้ใช้ไม่ว่าจากประเทศไหนก็จะเข้าไม่ได้อีกแล้ว.
2) ปิดกั้นเว็บไซต์ หรือที่เรียกว่าการบล็อค (block) ซึ่งก็ทำกันได้หลายระดับ ทั้งที่ระดับเกตเวย์ (gateway - เป็นประตูเชื่อมเครือข่ายภายในประเทศออกสู่อินเทอร์เน็ต) ที่ระดับไอเอสพี หรือที่ระดับองค์กรอย่างสถานศึกษาหรือบริษัทบางแห่งก็พบว่ามี. ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการหรือองค์กรนั้น ๆ ไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคได้. หรือถ้าเป็นการบล็อคที่เกตเวย์ระดับประเทศ ก็จะมีผลทำให้ผู้ใช้ในประเทศทั้งประเทศไม่สามารถเข้าเว็บไซต์เหล่านั้นได้ — อย่างไรก็ตามผู้ใช้อื่น ๆ ก็จะยังเข้าได้อยู่. วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐของไทยใช้กันมาก เพราะสะดวกไม่ต้องขอความร่วมมือจากใคร ทำได้เองเลย หรือว่าสามารถกดดันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ทำได้ไม่ยาก, ซึ่งก็อาจจะเกี่ยวกับเรื่องใบอนุญาตประกอบธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วย.
3) ระดมโจมตีก่อกวนเว็บไซต์ ให้ทำงานช้าลงมาก ๆ จนใช้งานไม่ได้ หรือที่เรียกว่า DoS (Denial of Service). คือสั่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำทีเป็นผู้ใช้งานเว็บจำนวนมหาศาลแล้วเรียกใช้งานเว็บไซต์ที่กำหนดพร้อม ๆ กัน ติดต่อกันนาน ๆ. ทำให้ตัวเว็บไซต์นั้นทำงานหนักทำงานไม่ทันจนระบบล่ม หรือว่าทำงานได้ช้ามาก จนผู้ใช้บริการทนไม่ไหวและเลิกใช้ไปเอง.
สอง — คัดกรองเนื้อหา วิธีนี้จะเนียนกว่า คือยังเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ตามปกติอยู่ แต่เนื้อหาบางส่วนในเว็บไซต์จะหายไป ซึ่งแบบนี้จะทำให้สังเกตได้ยากกว่าวิธีแรก.
ตัวอย่างเช่นในประเทศจีนที่เสิร์ชเอนจิ้นหลายเจ้า ยอมกรองเว็บไซต์บางอย่างออกจากผลลัพธ์การค้นหา. คือถ้าเรารู้ที่อยู่ของเว็บไซต์นั้น ก็ยังอาจจะพิมพ์เข้าไปได้เอง แต่มันจะไม่ปรากฎอยู่ในรายการผลลัพธ์ของเสิร์ชเอนจิ้นเลยถ้าค้นหาจากประเทศจีน. ซึ่งถ้าพิจารณาว่าปริมาณการจราจรส่วนใหญ่ของเว็บนั้น วิ่งผ่านเสิร์ชเอนจิ้น, วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ได้ผลดีมาก อีกทั้งสังเกตได้ยากกว่าการทำให้เข้าเว็บไซต์ไม่ได้.
หรือกรณีประเทศไทย ที่ขอความร่วมมือจากกูเกิ้ลให้บล็อคคลิปบางคลิปใน YouTube ไม่ให้ผู้ใช้จากประเทศไทยเห็น ก็เข้าข่ายนี้.
สาม — บิดเบือนเนื้อหา ปล่อยข่าว หรือก่อกวนสร้างความปั่นป่วนในกระดานสนทนาออนไลน์. อันนี้จะเรียกว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็ไม่เชิง ผมไม่แน่ใจ. แต่มันก็มีผลกระทบต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของเราเหมือนกัน. เว็บไซต์บางแห่งถูกก่อกวนด้วยโปรแกรมหรือคนที่ถูกจ้างมาโพสต์ข้อความไร้สาระซ้ำ ๆ กัน หรือโพสต์ข้อความบิดเบือนเบี่ยงประเด็นต่าง ๆ หรือล่อให้เกิดการทะเลาะกัน ที่เขาเรียกว่า “ล่อเป้า” แบบนี้มันก็ทำให้คุณภาพของข้อมูลข่าวสารโดยรวมในอินเทอร์เน็ตลดลง. จะหาอะไรดี ๆ อ่านก็ยากขึ้น เพราะต้องคุ้ยขยะก่อน บางทีก็เบื่อ ขี้เกียจอ่านไปเลย.
เรื่องนี้ตอนแรกผมก็ไม่นึกว่าจะมีจริง จนกระทั่งเห็นกรณีพวก “2.4” อย่างที่รู้กัน ช่วงหลังรัฐประหาร ว่ามีการจัดตั้งเป็นระบบชัดเจน มีการสนับสนุนจากรัฐ. หรือกรณีคล้าย ๆ กันในเอกสารลับที่คุณสมัครออกมาโวย ซึ่งก็เป็นเรื่องของการปล่อยข่าว สร้างกระแสในสังคม ในที่นี้ก็รวมถึงในกระดานสนทนาในอินเทอร์เน็ต. ผมถือว่านี่มันกระทบสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพอย่างสะดวกของผม.
สี่ — อันนี้เป็นแบบโดยอ้อม แต่อาจจะเรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด คือการสร้างความเชื่อ หรือความกลัว เพื่อทำให้เกิด “การเซ็นเซอร์ตัวเอง”. คือเป็นจากปิดกั้นที่ตัวผู้ส่งสารรับสารได้เลย ไม่อยาก/ไม่กล้าโพสต์ ไม่อยาก/ไม่กล้าเปิดดู ไม่อยาก/ไม่กล้าพูดถึง. ผมคิดว่าอันนี้น่ากลัวที่สุด และมีผลกว้างขวางมากกว่าแค่ในอินเทอร์เน็ต แต่รวมถึงทั้งสังคมเลย.
การสร้างความกล้วอะไรต่าง ๆ นี่ มันรวมถึงการใส่มาตราบางมาตราลงมาใน พ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นี่ด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวเนื้อหาในคอมพิวเตอร์ในอินเทอร์เน็ต. มาตรา 14, 15, 16. ซึ่งมันกว้างมาก แล้วแต่เจ้าหน้าที่รัฐจะตีความ. พอมันคลุมเครือกว้างขวางแบบนี้ มันก็นำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเองของผู้ใช้, รวมถึงการเซ็นเซอร์ตัวเองของผู้ให้บริการด้วย คือกันไว้ก่อน กลัวติดร่างแหด้วย. อะไรเห็นท่าไม่ดี ดูเทา ๆ ก็ขอเซ็นเซอร์ไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย. เพราะไม่มีเขาอยากเสี่ยงขึ้นโรงขึ้นศาลกันหรอก ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือว่าบริษัท. เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา. แม้สุดท้ายเราจะพิสูจน์ได้ว่าเราบริสุทธิ์ แต่เงินแต่เวลาที่เสียไปอะไรต่าง ๆ มันเรียกคืนมาไม่ได้. ไหนจะเครียดอีก.
ตอนนี้พ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็ประกาศใช้ไประยะหนึ่งแล้ว พูดได้ว่าการบล็อคเว็บไซต์นี่ มันสามารถทำให้ถูกกฎหมายได้แล้วนะ. แต่คุณก็ต้องมาดูว่า เหตุผลที่เขาให้ประกอบการบล็อคแต่ละเว็บนี่ มันเข้าข่ายที่กฎหมายระบุไว้ อ่อนแก่แค่ไหน. ซึ่งตรงนี้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็จะต้องท้าทายและตรวจสอบ การพิจารณาและการใช้อำนาจของรัฐ. ต้องคานกัน checking and balancing. ใครมาบอกว่าบล็อคตามกฎหมาย เราก็ต้องถามว่าข้อไหนมาตราไหน ไม่ใช่อ้างลอย ๆ.
ผมขอย้ำว่า การบล็อคเว็บไซต์ในเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมามันไม่โปร่งใสเลย. ทาง FACT ยื่นหนังสือถามไปทางกระทรวงไอซีที ก็ไม่ได้รับคำตอบ. บางคนอาจจะว่า มันเป็นเรื่องตลกที่จะไปหวังความโปร่งใสจากการปิดกั้น. แต่ผมก็เห็นหลายประเทศที่เขาก็บล็อคเว็บไซต์เหมือนกันแต่ก็ยังโปร่งใสได้. อย่างในยุโรปเค้าก็บล็อคเว็บพวกเหยียดชาติพันธุ์ เว็บนาซี แต่ของเขามันก็โปร่งใสมีเกณฑ์ชัดเจน. คุณจะเห็นด้วยหรือไม่กับการบล็อคเว็บพวกนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยมันตรวจสอบได้.
เพราะฉะนั้น หน้าที่ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยทุกคนตอนนี้ ก็คือรู้เท่าทันตรงนี้ ว่าระบบมันไม่โปร่งใส ว่ามันมีการตุกติก มีเรื่องอื่นสอดไส้แอบแฝงอยู่. เราจะได้รวมพลังกันร่วมกันตรวจสอบให้จริงจังขึ้น อย่าปล่อยให้อินเทอร์เน็ตตกอยู่ในความควบคุมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง. อินเทอร์เน็ตมันเป็นของเราทุกคน. FACT เองก็พยายามทำตรงนี้ ทำเรื่องให้เป็นข่าว ให้คนตระหนัก. แล้วมันยังมีชุด พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน พ.ร.บ.สิ่งยั่วยุ อะไรพวกนี้อีกเยอะแยะ ที่มันจะมาเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตได้. ไม่เฉพาะ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์.
คุณมีความคิดเห็นอย่างไร ในกรณีการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสองรายโดยไม่ปรากฏความผิดชัดเจน
จากที่ได้ติดตามข่าวจากสื่อและเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสื่อนอกกระแสหลัก. ผมคิดว่ามันเป็นอาการลักลั่น ที่สืบเนื่องมาจากสังคมของเราที่มี “บางเรื่อง” ที่พูดในที่แจ้งไม่ได้. พออยากจับเพราะเรื่อง “บางเรื่อง” นี้ แต่ไม่อยากให้เป็นข่าวว่าเพราะเรื่องนี้, ก็เลยแอบ ๆ จับ แล้วเลี่ยงไปใช้กฎหมายอื่นที่พอใช้ได้หรือไม่แจ้งความผิดให้ชัด แล้วก็พยายามไม่ให้เป็นข่าว. กลัวว่าพอเป็นข่าวแล้วจะต้องบอกว่าผิดเรื่องอะไร.
นี่ถ้าไม่ใช่เพราะเรื่องนี้ไปลงในสื่อต่างประเทศก่อน ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีสื่อไทยได้รู้หรือเปล่า. ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นอุบัติเหตุหรือความผิดพลาดได้ไหม ที่เรื่องนี้ดันเป็นข่าวออกมา.
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ผมเห็นว่าสำคัญมาก และต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดคือ การเสนอพ.ร.บ.เพื่อแก้กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่จะทำให้สื่อเสนอข่าวเรื่องคดีหมิ่นพระบรมฯ ไม่ได้นั้น จะทำให้การจับกุมคดีลักษณะนี้เป็นไปได้โดยไม่ปรากฎเป็นข่าว อย่างถูกกฎหมาย อย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องการ. อีกหน่อยถ้าพ.ร.บ.นั้นผ่าน ก็คงมีคนถูกจับอย่างสองคนนั้นอีกเรื่อย ๆ อย่างเงียบ ๆ ไม่เป็นข่าว ซึ่งน่ากลัว.
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่า ในระหว่างที่สองคนนั้นถูกจับไป มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางรายแจ้งว่า ยังพบทั้งสองคนนั้นออนไลน์อยู่. ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะนำบัญชีอีเมลและบัญชีบริการอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสองรายนั้นไปใช้ และอาจจะทำทีว่าเป็นสองคนนั้นเสียเอง, เพื่อประโยชน์ในการขยายผลหรืออะไรก็สุดแท้แต่, แต่ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ก็ชัดเจนว่า นี่เป็นการขโมยตัวตน (identity theft) หรือพูดง่าย ๆ ว่า ปลอมตัว ซึ่งโดยทั่วไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การกระทำเช่นนี้เป็นความผิด แต่ผมไม่แน่ใจว่ากรณีนี้ที่เจ้าพนักงานกระทำเองมันผิดหรือไม่. แล้วข้อมูลที่ไปได้มาโดยการกระทำอย่างนี้ มันสามารถนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่ ถ้าดูมาตรา 25.
คือก่อนหน้านี้ในสังคมเรา เราก็เซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ในระดับหนึ่งแล้วใช่ไหม รู้ว่าเรื่องไหนควรพูดที่ไหนกับใคร. แต่ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐมาสอดส่องปลอมแปลงแฝงกายมาลักษณะนี้อีก surveillance กันหนักเหลือเกิน. อีกหน่อยผมว่าพวกเราอาจจะต้องหุบปากกันมากกว่านี้ อย่าไปพูดอะไรเลย หน้าต่างมีแต่หูประตูมีแต่ช่องเต็มไปหมด. สุดท้ายแล้วสังคมเราก็คงเป็นสังคมเงียบ ๆ หงอย ๆ มีอะไรก็เงียบ ๆ ไว้ อย่าหาเรื่องใส่ตัว. ซึ่งผมไม่คิดว่ามันจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ที่ประชาธิปไตยจะอยู่ได้. ถ้าคุณไม่มีเสรีภาพในการพูดในการสื่อสาร ก็อย่าหวังว่าจะมีประชาธิปไตยได้. อย่างดีก็ได้เลือกตั้งสองปีครั้งสามปีครั้งไปเรื่อย ๆ ก็สนุกดี ตามมีตามเกิด.
กลับมาที่เรื่องสองคนที่ถูกจับนั้น คำถามอีกอย่างหนึ่ง ที่ทางด้านสิทธิมนุษยชนถามกันมากก็คือ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสองรายนี้ที่ถูกจับกุม ไม่ว่าจะอย่างไร มีความผิดหรือไม่, สิทธิพื้นฐานของพลเมืองต่าง ๆ ของเขาก็ควรจะยังมีอยู่ใช่ไหม ? และก็สมควรจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายใช่ไหม ? อย่างสิทธิในการประกันตัว หรือสิทธิตามกระบวนการยุติธรรม ตอนที่ถูกจับเจ้าพนักงานได้แจ้งให้สองคนนั้นได้รู้ถึงสิทธิของตนและอนุญาตให้ใช้สิทธิเหล่านั้นหรือไม่ ? หรือจริง ๆ มันมีหลายมาตรฐาน ผมเองก็ไม่แน่ใจ.
ทราบว่าเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการให้ความสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ
จริง ๆ ไม่ใช่ตำแหน่งอาจารย์ประจำนะครับ วุฒิยังไม่ถึงเอก ยังเป็นไม่ได้, แต่ก็มีงานสอนบ้างเทอมละสองถึงสามตัว โดยทั้งหมดจะเป็นวิชาปฏิบัติการ. ส่วนนักวิชาการนี่ ก็ไม่กล้าเรียกตัวเองว่าอย่างนั้น. ตัวผมจริง ๆ นี่อยู่ในส่วนของห้องวิจัย ที่ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT). ตอนเรียนตรีก็เรียนที่นี่ เหมือนเป็นบ้านไปแล้วบางที.
ก็สนใจเรื่องอย่างที่ว่าไว้แหละครับ การเข้าถึงสารสนเทศ การออกแบบสารสนเทศ แล้วก็เรื่องซอฟต์แวร์เสรี โอเพนซอร์ส ที่เคยทำอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ตอนนี้กลาย ๆ จากซอฟต์แวร์เสรีมาเป็นพวกวัฒนธรรมเสรีแทน แนว ๆ หนังสือของลอว์เรนซ์ เลสสิก (Free Culture, Lawrence Lessig). ส่วนหัวข้อวิจัยที่ผมเคยทำและทำอยู่ในปัจจุบันก็จะเป็นพวก การย่อความอัตโนมัติ การสืบค้นสารสนเทศ การสกัดสารสนเทศ. ซึ่งเรื่องพวกนี้นอกจากจะต้องอาศัยความรู้เรื่องวิทยาการสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์แล้ว ก็ยังต้องอาศัยความรู้ด้านภาษาศาสตร์ด้วย ก็เลยสนใจเรื่องพวกนั้นไปด้วย แต่ไม่ได้ชำนาญนะครับ แค่รู้บ้างเท่านั้น ถึงเวลาติดขัดต้องใช้จริง ๆ ก็ต้องปรึกษานักภาษาศาสตร์อยู่ดี.
ส่วนตัวตอนนี้ ที่อยากจะศึกษามาก ๆ แต่ไม่มีโอกาสเสียที ก็เป็นเรื่องสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของสังคมเสมือน อย่างในอินเทอร์เน็ต. คือผมสนใจอินเทอร์เน็ตในแง่มันอาจจะเป็น อืม เหมือน สภากาแฟ ของยุคนี้ก็ได้. มีอะไรก็มาคุยกัน แชร์กันในนี้ เป็นพื้นที่สาธารณะที่ความคิดต่าง ๆ มาปะทะสังสรรค์กัน. ซึ่งก่อนหน้านี้มันเสรีมาก แลกเปลี่ยนกันได้ทุกอย่าง, แต่ในช่วงหลังเราก็จะเห็นว่า รัฐพยายามเข้ามาในอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อย ๆ. ทั้งด้วยตัวรัฐเอง และตัวความเชื่อความคิดของรัฐที่ติดตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้ามา. สภาพอินเทอร์เน็ตที่ดูเหมือนจะไม่มีรัฐในตอนแรก มันก็เริ่มขึ้นมากลาย ๆ.
ยกตัวอย่างในวิกิพีเดียภาษาไทย ซึ่งเป็นสารานุกรมออนไลน์ที่ใคร ๆ ก็เข้าไปอ่านไปเขียนได้. เมื่อช่วงเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา ถึงกับมีผู้ใช้บางคนติดป้ายห้ามแก้ไขบทความบางบทความในสารานุกรมนี้ โดยอ้างคำสั่งคณะรัฐประหาร แปะที่หัวบทความเลยนะ. ทั้ง ๆ ที่ถ้าดูตามทางกายภาพ เซิร์ฟเวอร์ก็ไม่ได้อยู่ในเมืองไทย เจ้าของก็ไม่ใช่มูลนิธิของไทย คนเขียนบางคนก็อาจจะไม่ได้อยู่เมืองไทยด้วยซ้ำ อะไรแบบนี้ แล้วคำสั่งคณะรัฐประหารมันมีผลนอกประเทศด้วยรึยังไง. แล้วที่ชัดเจนเรื่อง “รัฐอยู่ในหัว” ก็คือ กรณีนี้ตัวคณะรัฐประหารไม่ได้เป็นผู้เข้ามาในวิกิพีเดียเองด้วยซ้ำ แต่เป็นผู้ใช้วิกิพีเดียเองนี่แหละ ที่เป็นคนแปะป้ายเตือน และเซ็นเซอร์ตัวเอง เป็นคนพารัฐเข้ามาเอง. คือมันเห็นได้ชัดเลยว่า รัฐมันมีอิทธิพลต่อความคิดแค่ไหน ทำให้คนบางกลุ่มกลายเป็นแขนขาของอำนาจรัฐได้อย่างไม่รู้ตัว. ซึ่งสภาพนี้ผมคิดว่ามันเป็นไปโดยอัตโนมัตินะ ไม่ใช่แค่เว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่ง เว็บไซต์หลายแห่งก็เงียบไม่กล้าลงเนื้อหาอะไรที่มันอาจจะขัดกับคำสั่งฯ หรือกระทั่งนอกอินเทอร์เน็ต คุณดูหนังสือพิมพ์ ดูทีวีก็ได้ ช่วงนั้นก็จะเป็นอารมณ์เดียวกัน. บางทีนี่อาจจะเป็นสาเหตุแห่งความ “สงบเรียบร้อย” ในช่วงนั้นก็ได้ คือประชาชนพร้อมที่จะยอมอำนาจรัฐไง. ไม่ว่าอำนาจรัฐนั้นจะมาจากไหนหรือได้มายังไง.
“ โปรดทราบ เนื่องจากมี คำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 5/2549 เรื่อง ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยห้ามเขียน บทความ ข้อความ คำพูด หรืออื่นใด อันอาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นอันขาด หากทางชาววิกิพีเดียเห็นว่าไม่เหมาะสม สามารถดำเนินการลบทันที และขอความร่วมมือระมัดระวังในการแก้ไขบทความด้วย ”
— หน้าบทความ รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 และ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, สารานุกรมวิกิพีเดียภาษาไทย, 22 กันยายน พ.ศ.2549
ถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะหาที่เรียนต่ออะไรทำนองนี้ครับ พร้อม ๆ กับทำงานเรื่องนี้ไปด้วย. ศึกษาการแย่งชิงพื้นที่กันในพื้นที่เสมือนแบบนี้. อาจจะใช้ความรู้ด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติที่ปัจจุบันทำอยู่นี่มาช่วยด้วย. เช่นให้โปรแกรมมันวิเคราะห์หาคำต่าง ๆ ใน คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง หรือคลังข้อมูลเว็บไซต์และกระดานสนทานาย้อนหลัง. แล้วดูว่ามีคำอะไร ประโยคอะไร การให้เหตุผลแบบไหน เกิดขึ้นเยอะในช่วงเวลาไหน. จากข้อมูลพวกนี้เราอาจจะเจออะไรน่าสนใจเพื่อมาศึกษาต่อก็ได้. ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเรียนที่ไหนดี จริง ๆ จะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ แต่ตัวหัวข้อวิจัยอยากจะให้เป็นกรณีของประเทศไทย. ตอนนี้ก็มอง ๆ หาอยู่ พยายามเขียนหัวข้ออยู่, ไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไหร่ ฮ่ะฮ่ะ. คงเป็นพวกนิวมีเดีย อินเทอร์เน็ตกับสังคม.
ดูเหมือนยิ่งเรียน จะยิ่งคอมพิวเตอร์น้อยลงเรื่อย ๆ แต่ก็สนุกดี.
คิดว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะรวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองอย่างไรได้บ้าง
คือถ้ามองเรื่องง่าย ๆ ก่อนเลย เอาจากแนวคิดที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับกันในสังคมเราแล้ว. อย่างน้อยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกค้าของบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต. เท่ากับว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็มี “สิทธิผู้บริโภค” อยู่อย่างหนึ่งแล้ว. ซึ่งก็หมายถึงว่า เขามีสิทธิที่จะเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการใดก็ได้ และเมื่อเลือกแล้ว ก็มีสิทธิที่จะได้รับบริการอย่างที่เห็นในโฆษณา. เช่น โฆษณาว่าเน็ตเร็วเท่านั้นแรงเท่านี้ แต่พอใช้จริงกลับอืดเหลือเกิน ดาวน์โหลดอะไรก็ไม่ได้. หรือว่าถูกจำกัดการใช้งานบางโปรแกรม เช่นดาวน์โหลดด้วยโปรแกรม BitTorrent ไม่ได้. แบบนี้ก็เท่ากับเขาถูกละเมิดสิทธิในฐานะผู้บริโภคแล้ว, ในต่างประเทศตอนนี้ก็มีพูดถึงเรื่องนี้กันมาก เรื่อง network neutrality.
หรือเรื่องการเซ็นเซอร์การบล็อคเว็บไซต์นี่ก็เช่นกัน เราจะมองมันในแง่ผู้บริโภคก็ได้. อย่างที่เราทราบกันว่า ขณะนี้การบล็อคเว็บไซต์ไม่ได้ทำโดยหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียวแล้ว. แต่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ทำ สถานศึกษาก็ทำ. ทีนี้ถ้าเราเป็นผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตกับบริษัทหนึ่ง เราจ่ายเงินเขา 600 บาทต่อเดือน ปรากฎว่าเราเข้าเว็บไซต์จำนวนหนึ่งไม่ได้. พอดีเรารู้จักเพื่อนคนหนึ่ง ที่ใช้อินเทอร์เน็ตของอีกบริษัทหนึ่ง จ่ายรายเดือนราคาพอ ๆ กันเรา แต่เขาเข้าเว็บไซต์เหล่านั้นได้. แบบนี้เราก็จะรู้สึกได้ว่า เอ๊ะ ทำไมจ่ายเงินพอ ๆ กัน แต่ได้รับบริการไม่เท่ากัน.
คือนี่ไม่ต้องมองเรื่องสิทธิพลเมืองสิทธิการรับรู้ข่าวสารเลยนะ มองแค่เรื่องความคุ้มค่า เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อย่างเดียวเลย.
แบบนี้ผู้บริโภคก็จะเห็นแล้วว่า เออมันมีความต่างอยู่นะ แล้วทำไมเขาต้องจ่ายเงินพอ ๆ กันแล้วได้รับบริการที่แย่กว่าด้วย ? หรือทำไมอุตส่าห์ยอมจ่ายไปตั้งแพง ด้วยหวังว่าจะได้รับบริการที่ดีเลิศเหมือนโฆษณา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้อย่างนั้น ?
กรณีเหล่านี้ ในฐานะผู้บริโภค ขั้นแรกก็ควรจะแจ้งไปที่ผู้ให้บริการให้รับทราบปัญหาก่อน ให้โอกาสเขาแก้ไข. แต่ถ้าผู้ให้บริการไม่แก้ไขเสียที ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทนั้น ๆ, หรืออาจจะรวมกันหลายบริษัทก็ได้ ถ้ามีปัญหาใกล้เคียงกัน, ก็ควรจะรวมตัวกันเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม จะรวมกลุ่มกันทางอินเทอร์เน็ตก่อนก็ได้. ทางเว็บบอร์ด ทางอีเมลกลุ่ม หรือเดี๋ยวนี้มีพวกเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ (online social network) อย่าง Facebook จะไปรวมตัวกันทางนั้นก็ได้. แล้วก็ทำหนังสือแจ้งไปทางหน่วนงานที่เกี่ยวข้องซะ ทั้งตัวผู้ให้บริการเอง ทั้ง สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) แล้วก็ทางสื่อต่าง ๆ ด้วย. นอกจากนี้ก็ยังแพร่กระจายข่าวกันได้ทางเว็บล็อกต่าง ๆ หรือจะทำ petition ล่ารายชื่อออนไลน์ก็ทำได้.
กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ในทางหนึ่งก็เพื่อให้สังคมรับรู้ด้วย. ซึ่งการทำแบบนี้ นอกจากจะเป็นการปกป้องสิทธิของตัวผู้ใช้บริการเองแล้ว. ยังเป็นการช่วยปกป้องสิทธิของคนอื่น ๆ ทางอ้อมด้วย คือเตือนคนอื่นไปในตัวว่า ผู้ให้บริการรายนี้มีปัญหาอย่างนี้ ๆ นะ คิดดี ๆ ก่อนจะตัดสินใจใช้.
ก็เป็นกลไกคานกันไปโดยอัตโนมัติ ในการแข่งขันในตลาด. ซึ่งถ้ามีจำนวนลูกค้ามากพอ บริษัทเขาก็ต้องคิดต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ถ้าไม่อยากเสียลูกค้ากลุ่มนี้.
สิ่งเหล่านี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในบ้านเราอาจจะยังไม่รู้ ว่าตัวเองมีสิทธิ. ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เครือข่ายรณรงค์น่าจะต้องทำ. บอกให้เขารู้ว่าเขามีสิทธินะ เขาเลือกได้ เขาต่อรองได้ และเขาไม่ได้อยู่หัวเดียวกระเทียมลีบนะ เขายังมีเพื่อน ๆ อยู่อีกเยอะที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกับเขา และพร้อมจะเรียกร้องร่วมกับเขา. ก็ต้องค่อย ๆ เริ่มจากตรงนี้.
ส่วนเรื่องสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการสื่อสาร สิทธิในการแสดงออก สิทธิพลเมืองอะไรต่าง ๆ มันก็น่าจะขยายจากตรงนี้ได้ คือให้เริ่มจากเรื่องใกล้ ๆ ตัวก่อน มองเป็นเรื่องคุณภาพการให้บริการ. แล้วเราก็ขยายความหมายของการให้บริการนี่ออกไปให้ครอบคลุมเรื่องสิทธิอื่น ๆ.
จริง ๆ อยากจะเน้นเรื่องสิทธิพลเมืองสิทธิในการแสดงออกอะไรพวกนี้ไปเลยนะ. แต่เท่าที่ทำตรงนี้มาระยะหนึ่ง ดูเหมือนมันจะสื่อสารยากในประเด็นพวกนี้. คือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน อาจจะอ่าน มากกว่าพูด ก็เป็นได้ คือรับสารมากกว่าส่งสาร. เรื่องการปิดกั้นสิทธิในการแสดงออก ห้ามโพสต์นั่นโพสต์นี่ ก็เลยไม่กระทบคนกลุ่มใหญ่ อันนี้ผมเดานะ. แต่พอ YouTube ถูกบล็อค แบบนี้มันกระทบคนกลุ่มใหญ่ไง ไม่มีอะไรให้ดู ก็เลยเป็นประเด็นในสังคมขึ้นมา. คือมันต้องเป็นเรื่องใกล้ตัวไง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวแต่ละบุคคล.
ถ้าเมื่อไหร่การสื่อสารในอินเทอร์เน็ตของไทยมัน สองทาง มากกว่านี้. ความตระหนักในสิทธิต่าง ๆ มันก็อาจจะตามมาเองโดยธรรมชาติก็ได้. แต่อย่างไรก็ตาม การให้ความรู้เรื่องสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังต้องทำไปเรื่อย ๆ ทำตั้งแต่ตอนนี้เดี๋ยวนี้.
เรื่อง สื่อพลเมือง ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าทำ. ถ้าทำให้มีสื่อพลเมืองในอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ก็น่าจะทำให้สิทธิเสรีภาพพวกนี้มันถูกทดสอบมากขึ้น ๆ และเป็นประเด็นทางสังคมในที่สุด.
และถ้าพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตที่ถูกพูดถึงกันมากตอนนี้ คงเป็นเรื่อง เว็บ 2.0 (Web 2.0). ส่วนตัวผมมองว่า เว็บ 2.0 นี่ ถ้าจะเทียบกับเว็บสมัยก่อนหน้านี้ ก็คือ เว็บสมัยก่อนหน้านี้มันจะเป็นเรื่องของเครือข่ายของเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นคอมเชื่อมกับคอม ลิงก์กันก็ลิงก์ด้วยสายเคเบิ้ล. แต่เว็บ 2.0 มันมีมิติของมนุษย์เข้ามาด้วย เป็นคนเชื่อมกับคน ลิงก์กันด้วยความสัมพันธ์ของแต่ละบุคคล รวมกันเป็นเครือข่ายทางสังคมออนไลน์. ถ้าคิดตามนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในยุคเว็บ 2.0 ก็น่าจะยิ่งมีช่องทางในการรวมตัวรวมพลังกันมากขึ้น น่าจะลองดูกัน. คนสองสามคน สิบคน อาจจะดูเล็กน้อย แต่ถ้าค่อย ๆ รวมกัน มันก็เป็นพลังได้. เครือข่ายสังคมออนไลน์นี้น่าจะพัฒนาไปเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางสังคมในเมืองไทย, ซึ่งไม่ได้ใช้เฉพาะการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับประเด็นอินเทอร์เน็ตเท่านั้น. แต่จะเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางสังคมในทุกประเด็น. มันคงไม่ได้มาแทนการเคลื่อนไหวข้างนอกอินเทอร์เน็ต แต่จะมาเสริมกัน.
ผมคิดว่าอินเทอร์เน็ตมันจะทำให้ความคิดของคนมันวิ่งไปมาหากันได้เร็วขึ้น. ทำให้เกิดการสทนาแลกเปลี่ยนได้อย่างกว้างขว้างขึ้น มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้น และเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมก็เป็นได้. ซึ่งรัฐอาจจะกลัวตรงนี้ ก็เลยต้องการเข้ามาควบคุมจัดระเบียบ. พวกเราพลเมืองและพลเมืองอินเทอร์เน็ตทุกคน ก็ต้องพยายามรักษาพื้นที่ของเราตรงนี้ไว้ให้ปลอดจากการแทรกแซงโดยอำนาจรัฐและอำนาจอื่น ๆ. ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ พื้นที่สื่อพวกนั้นเราพลเมืองธรรมดาเข้าถึงได้ยากมาก. พวกเราพลเมืองจึงต้องรักษาพื้นที่ที่เรามีอยู่ไม่มากนักในอินเทอร์เน็ตเอาไว้. ไม่ใช่เพื่อตัวอินเทอร์เน็ตหรือตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเอง แต่เพื่อสังคมทั้งหมด.
[จบ]
หมายเหตุ: แนวคิดเรื่อง “กำแพง” (กำแพงสารสนเทศ/อุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล) ในบทสัมภาษณ์นี้ ถูกเรียบเรียงและใช้ชื่อนี้เป็นครั้งแรกในการนำเสนอที่งาน YouMedia (YouFest ครั้งแรก) โดยใช้ชื่อการนำเสนอว่า “Technologies for Knowledge Society” (เดิมได้รับมอบหมายให้พูดเรื่องครีเอทีฟคอมมอนส์ แต่เตรียมไปไม่ทัน) สามารถดูการนำเสนอ(+ภาพประกอบบนกระดาน) ได้ในวิดีโอ (ลิงก์ดาวน์โหลดที่เว็บ YouFest)
เครือข่าย YouFest จะจัดงานเสวนาอีกครั้ง วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน นี้ ข่าวสารงานเสวนาจะแจ้งให้ทราบต่อไป (ติดตามข่าวได้ที่เว็บ YouFest)
technorati tags: media freedom, blogger rights, cyber-crime
8 comments:
cool interview :D
เขียนดีมากครับ ตั้งแต่รู้จักกันมาไม่คิดว่าจะเขียนดีขนาดนี้ (แซว)
โห สู้ๆ ยาวมากวะ เดี๋ยวพรุ่งนี้มาอ่านต่อ วันนี้จะตายแล้ว -_-"
mk (fringer, anpanpon, etc.): เพราะพวกเรารู้จักกัน/ได้คุยกันไงล่ะ ถึงได้เขียนออกมาได้ คิดอยู่คนเดียว เขียนไม่ได้หรอก
เช่น ไอเดียเรื่อง "กำแพง" โผล่ขึ้นมาในงาน YouFest ครั้งแรก ที่มีคนหลาย ๆ คนช่วยกันจัดและร่วมกันแชร์ไอเดีย
มาสนับสนุน mk อีกคน
เชียน(พูด)ลำดับได้ดีมาก
ดีๆ เข้าใจง่าย เป็นฉากๆไปเลย : )
เขียนได้ดีครับ ...
แต่จริงๆ เพิ่งอ่านไปได้ไม่กี่ย่อหน้าก็ยอมแพ้แล้วครับ
ไว้จะกลับมาอ่านใหม่ครับ
จดหมายข่าวปฏิรูปสื่อ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ก.ย.-ต.ค.2550
Post a Comment