ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2009-04-28

The Condition of Free Culture

(เงื่อนไขสู่วัฒนธรรมเสรี)

ขอคิดต่อจากพี่เทพ

...

เป็นไปได้ว่า เหตุหนึ่งที่ free culture หรือ วัฒนธรรมเสรี นั้นยังไม่แพร่หลายหรือไปไม่ถึงไหนในบางสังคม ก็เพราะ วัฒนธรรมในสังคมนั้น ๆ ไปกันไม่ได้กับแนวคิด เสรี เป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมเสรี

...

เสรี = ไม่ต้องขออนุญาต

คุณสมบัติหลักของ สัญญาอนุญาตแบบเปิด (open licenses) ก็คือ การผู้นำไปใช้ไม่ต้องขออนุญาตผู้ถือครองลิขสิทธิ์

เพียงผู้นำไปใช้ ตกลงยินดีที่จะทำตามเงื่อนไข ที่ทางผู้ถือครองลิขสิทธิ์ประกาศเอาไว้แล้ว-อย่างชัดแจ้ง-ต่อสาธารณะ เขาก็มีสิทธิจะใช้งานนั้นในทันที

สิ่งนี้แปลว่า ถ้าคุณทำตามกติกาเดียวกัน ข้อตกลงเดียวกัน คุณก็จะได้รับการปฏิบัติเหมือน ๆ กัน

แต่สิ่งง่าย ๆ แบบนั้น ก็อาจจะเป็นเรื่องลำบากในสังคมหลายมาตรฐาน ที่กติกาเดียวกันก็มักจะให้ผลกับคนกลุ่มต่าง ๆ ต่างกัน

...

เป็นไปได้เช่นกันว่า เหตุหนึ่งที่วัฒนธรรมเสรี นั้นถูกเข้าใจเพี้ยน ๆ ไป เช่นว่า เสรี ก็คือ ให้ใช้ฟรี แค่ขออนุญาตกันก็พอ นั้นก็เพราะ ความมี ความเป็น authority เป็นเรื่องสำคัญในสังคมนั้น หรือ สังคมนั้นโน้มเอียงไปทางสังคมอุปถัมภ์

ความจำเป็นต้องอนุญาต นั้นแปลว่า จะยังต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด มีอำนาจมากกว่าอีกฝ่ายเสมอ นอกจากนี้มันยังมีแง่มุมของการรวมศูนย์ (centralized) สู่ผู้ให้อนุญาต

ผู้ให้อนุญาตนี้เอง ที่จะเป็นผู้มีสิทธิ์ขาดตัดสินว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ — ซึ่งสิ่งนี้เช่นกัน ก็ไปกันไม่ได้กับเรื่อง ถ้าทำตามกติกาเดียวกัน ก็ควรรับผลเดียวกันเสมอกัน

เพราะความมี ความเป็น authority ที่ใหญ่กว่ากติกานั้น พูดง่าย ๆ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ฉันคือกฎ

อยากจะอนุญาตคนนี้ แต่ไม่อนุญาตคนนั้น มีอะไรไหม ?

...

เสรี != (ไม่เท่ากับ) ไม่ต้องเสียเงิน

ดังที่ได้กล่าวไป การที่ผู้ใช้นำงานในสัญญาอนุญาตแบบเปิดไปใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็เพราะเขาได้ทำตามกติกาที่ทั้งตัวเขาเองและผู้ถือครองลิขสิทธิ์ต่างก็พอใจ

สิ่งนี้คือการแลกเปลี่ยนบนฐานของความพอใจและสมัครใจของทั้งสองฝ่าย — เราอาจเรียกสิ่งนี้ว่าความเกื้อกูลระหว่างกันได้ แต่ที่แน่นอนคือ มันไม่ใช่ความเมตตา ไม่ใช่การทำบุญ ไม่ใช่การให้ทาน และไม่ใช่เรื่องบุญคุณ

(ทัศนคติของ องค์กรที่ บริจาค โค้ดเป็นโอเพนซอร์สแก่สาธารณะและให้ชุมชนมาร่วมทำงานด้วย กับ องค์กรที่ ส่งต่อ โค้ดเป็นโอเพนซอร์สแก่สาธารณะและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในการทำงาน จึงเป็นสองทัศนคติที่แตกต่างกันอย่างมาก)

ความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้นำงานไปใช้และผู้ให้ใช้งาน ในวัฒนธรรมเสรี จึงเป็นไปในลักษณะเท่าเทียมเสมอกัน นั่นคือ ต่างก็เป็น peer กัน แลกเปลี่ยนกันในฐานะความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน

ซึ่งความเป็น peer ที่เสมอกันนี้เอง ที่ก็ไปกันไม่ได้อีก กับเรื่อง authority หรือความสัมพันธ์แบบมีระดับ (client/server, master/slave, ...)

ความต้องการสร้างบุญคุณบารมี และ อำนาจในการอนุญาต (อย่างรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) จึงอาจจะเป็นอีกเหตุ ที่แนวคิดเสรี ใน วัฒนธรรมเสรี อาจจะไปกันไม่ได้กับ สังคมอุปถัมภ์ และ สังคมลำดับชั้น

...

เช่นนี้แล้ว ในทางหนึ่ง ขบวนการวัฒนธรรมเสรี (free culture movement) จึงอาจจะจำเป็นอยู่เอง ที่นอกเหนือจากความพยายามในการปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความเป็นธรรมเสมอภาคขึ้นกว่าเดิมหรือสร้างทางเลือกใหม่ เช่น เนื้อหาแบบเปิดต่าง ๆ แล้ว ก็อาจต้องเข้าร่วมกับการปฏิรูปสังคมโดยรวม เพื่อผลักดันสภาพของสังคม ให้เอื้อกับ แนวคิด เสรี ด้วย

เพราะตัววัฒนธรรมเสรีนั้นไม่ได้อยู่อย่างลอย ๆ หากสัมพันธ์โต้ตอบต่อรองกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ในสังคม การเกิดและดำรงอยู่ของวัฒนธรรมเสรีจึงจำเป็นต้องมีสภาพที่เอื้อให้มันทำเช่นนั้นได้

...

โลกอีกแบบนั้นเป็นไปได้ แค่เปิดฝา แล้วก็แฮ็กมัน

technorati tags: , , ,

4 comments:

Anonymous said...

คิดอะไรมากมายนัก
เสรี ก็คือ เสรี
อนุญาต ก็คือ อนุญาต
มารยาท ก็คือ ขออนุญาต
มารยาทดี ก็คือ เคยขอแล้วก็ต้องขออีก
ก็มันของๆเขา

ถ้าเป็นของๆคุณ คุณก็มีเสรีในตัวเอง
เสรีในจินตนาการ คิดฝันอะไรก็คิดไปสิ

เรื่องเสรีนี่ เอาไปเขียนตำราผมว่า 10 เล่มก็ไม่จบ
นิยามยังไงก็ไม่ครบ
เขียนไป400มาตราก็ยังไม่ครบ
ถ้าคนมันยังหาทางเลี่ยงหลบ

Isriya said...

นี่มันย้อนรอย ปัญหาของชื่อ free software จนต้องมี open source นิ

bact' said...

anonymous: ทุกอย่างเป็นเรื่องสมัครใจครับ
เพียงแต่ถ้าไม่ได้เป็นอะไร ก็ไม่ควรจะเคลมว่าเป็นสิ่งนั้น

mk: ยังไงอ่ะ ?


พี่เทพเขียนต่อประเด็นนี้ Free Cultureพร้อมข้อสังเกตน่าสนใจหลายประเด็น
พร้อมแนะนำงานแปลเรื่อง "ลงหลักปัญญาภูมิ"

chanwit said...

มาเสริม @mk

free software / open source แยกเป็นสองขั้ว RMS เป็นขั้ว free software ส่วน Linus เป็นขั้ว open source