บางทีเราอาจจะต้องดีใจในบางขณะ ที่เราอยู่ในสถานะถูกควบคุมคุกคามเช่นนี้ เพราะนี่อาจจะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า เรายังเป็นสื่อทางเลือกอยู่ และไม่ได้ลืมความเป็นตัวตนของเราไป
บางทีการเป็นสื่อทางเลือก อาจจะหมายถึง การทำให้ตัวเองอยู่ในฐานะหมิ่นเหม่ ท้าทาย “เป็นตัวปัญหากับความคิดกระแสหลัก” อยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ก็เป็นได้
เพราะที่สุดแล้ว สิ่งที่สื่อทางเลือกท้าย ไม่ได้เป็นสิ่งจำเพาะใด ๆ เป็นการเฉพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นศาสนจักร สถาบัน วิทยาศาสตร์ ท้องถิ่น หรือโลกาภิวัฒน์ แต่สิ่งที่สื่อทางเลือกท้าท้าย ก็คือสิ่งที่เป็น “ปกติ” “ธรรมชาติ” ในสังคม
ในวันที่ศาสนจักรมีอำนาจเหนือสังคม สื่อทางเลือกคือเหล่านักวิทยาศาสตร์ผู้กล้าตายที่ประกาศว่าพระเจ้าไม่ได้สร้างโลก มนุษย์กำหนดชะตากรรมตนเองได้ พวกเขาเป็นตัวปัญหาของสังคม หลายคนถูกตราหน้าว่าเป็นพวกนอกศาสนานอกรีต และถูกเผาทั้งเป็น
เวลาผ่านไป ในวันหนึ่ง วันที่วิทยาศาสตร์ได้กลายเป็นวาทกรรมที่มีอำนาจเหนือสังคม สิ่งที่สื่อทางเลือกเสนอก็จะไม่ใช่วิทยาศาสตร์อีกต่อไป แต่เป็นคุณค่าที่วิทยาศาสตร์ได้กดทับมัน ในชื่อที่ผู้คนเหล่านี้สร้างคุณค่าใหม่ให้มันอีกครั้ง ในชื่อ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น”
และในวันที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้ ได้กลายเป็นวาทกรรมหลักในสังคม ก็เป็นหน้าที่ของสื่อทางเลือกนี้แหละ ที่จะท้าทายภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้ ด้วยชุดวาทกรรมท้าทายใหม่ ๆ
ทั้งหมดนี้เพราะอะไร ก็เพราะภารกิจของสื่อทางเลือกนั้น ไม่ใช่อะไรมากไปกว่า การเสนอทางเลือกให้กับสังคม
“นักปฏิวัติท้ายที่สุดแล้วจะเป็นนักปฏิรูปที่ขยันที่สุด ก้าวหน้าที่สุด
ในทางตรงข้าม นักปฏิรูปหากทำการปฏิรูปเพียงลำพังโดยปราศจากเป้าในการปฏิวัติ
ก็จะเป็นผู้รักษาระบบแห่งการกดขี่ที่ขยันที่สุดอย่างขันแข็งที่สุดเช่นกัน”— โรซา ลุกเซมบวร์ก, นักทฤษฎีมาร์กซิสม์และนักปรัชญาสังคมชาวยิวเยอรมันเชื้อสายโปแลนด์
technorati tags: free media, alternative media, cultural hegemony
1 comment:
น่าหัวเราะ ที่จู่ๆ คำว่า "คุกคาม" ได้ถูกผูกขาดไปกับสื่อที่เป็นสื่อทางเลือกเท่านั้น
งานของสื่อ ไม่ได้แค่คิดและเชื่ออย่างเดียว แต่ต้อง "สื่อสาร" กับสังคม ให้สังคมเข้าใจด้วย และงานสื่อสารนี้ต่างหากที่เป็นหัวใจหลัก สื่อสารยังไงให้คนคิดหลากหลาย ยินดีที่จะเปิดใจร่วมคิดในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น
การสื่อสาร หรืออาจจะเป็นสิ่งที่คุณเลือกใช้คำว่า "ท้าทาย" มันก็คือหน้าที่หลักของงานสื่อมิใช่หรือ
หากสื่อมีแต่ความคิด ความเชื่อ ไม่ได้สื่อสารหรือออกมาท้าทายกับสังคม มันก็เหมือนคนที่ไม่ยอมโต
แต่การท้าทายอย่างว่า มันก็มีต้นทุนของมันเป็นธรรมดา อย่าฟูมฟายที่ต้องแบกรับต้นทุนเหล่านั้น
แต่หากเจออุปสรรค แล้วมามัวนั่งจับเจ่าตัดพ้อว่าไม่มีใครเข้าใจ ทั้งที่ลึกๆ ก็แอบหวังดีใจอยู่ลึกๆ ว่า อนาคตจะเป็นของฉัน ฉันคิดถูกแล้ว จะต้องรอให้เวลาอีกกี่สิบกี่ร้อยปีพิสูจน์ความคิดความเชื่อ นั่นมันต่างอะไรกับการดูดาย หาข้ออ้างเพื่อจะได้ไม่ต้องทำอะไร
เพราะก่อนจะหวังที่จะครอบครองอนาคต ช่วยระลึกไว้ด้วยว่าปัจจุบันสำคัญที่สุด
Post a Comment