ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2009-11-29

[1-pager] What's so new about new social movements? โดย David Plotke (1990)

[อัปเดต 2009.12.03: เพิ่มลิงก์ บ่อนอก-หินกรูด]

จากสรุปอ่านเอกสารเทอมที่แล้ว คาบที่เกี่ยวกับ ขบวนการทางสังคมใหม่ (new social movements)

Plotke, David. 1990. What's so new about new social movements? Socialist Review. 20:91-102.

บทความนี้ลองสำรวจข้ออ้าง ความใหม่ ต่าง ๆ ของ ขบวนการทางสังคมใหม่ ว่ามันมีอะไรใหม่จริงหรือ, และถ้าใหม่จริง แล้วมันยังใหม่อยู่ไหมสำหรับตอนนี้ และในบริบทไหน ที่มันจะไม่ใหม่อีกต่อไป.

สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจสำหรับบทความชิ้นนี้ คือการพูดถึง กระบวนการแปะป้ายหรือตราหน้า (stigmatize) แนวคิดที่ผู้แปะป้ายไม่เห็นด้วย และ การสร้างคู่ตรงข้ามแบบสุดขั้ว (polarization และ radicalization) เพื่อบังคับให้สังคม[ต้อง]เลือก[อย่างเต็มใจ]ในทางที่ผู้กำหนดขั้วได้ออกแบบเอาไว้.

----

บทความชิ้นนี้ David Plotke ผู้เขียน สำรวจข้อถกเถียงหลักในวาทกรรมขบวนการทางสังคมใหม่ ในบริบทสังคมการเมืองสหรัฐอเมริกาช่วง 1960s-1980s และเสนอว่า ทฤษฎีเกี่ยวกับขบวนการทางสังคมใหม่นั้นให้ราคา “ความใหม่” (novelty) กับขบวนการทางสังคมใหม่มากเกินไป และการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้โดยไม่ดูบริบทแวดล้อมว่าเหมาะสมหรือไม่ ก็มีแต่จะทำให้เพลี่ยงพล้ำต่อฝ่ายตรงข้าม. ในตอนท้ายบทความ ผู้เขียนเสนอการรื้อสร้างความหมายเพื่อต่อสู้ทางวาทกรรม.

แนวคิดขบวนการทางสังคมใหม่ (New Social Movements; NSM) ซึ่งพัฒนาขึ้นในยุโรปตะวันตก ถูกนำเข้ามาในสหรัฐอเมริกาในช่วง 1960s-1980s และหนึ่งในปัญหาของมันก็คือ การนำมาใช้อย่างไม่วิพากษ์ในบริบทของสหรัฐอเมริกาซึ่งต่างจากยุโรปมาก. แนวคิดนี้ตั้งแต่ทศวรรษ 1960s เป็นต้นมา ประสบความสำเร็จพอสมควรในการต่อสู้ประเด็นสิทธิพลเมือง และต่อมาในประเด็นต่อต้านสงคราม สิทธิผู้หญิง/เฟมินิสต์. ความ “ใหม่” ของขบวนการทางสังคมใหม่นั้น คือความใหม่ที่ปฏิเสธ orthodox Marxism – ซึ่งผู้เขียนมองว่า มันสัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง (relevant) กับสภาพสังคมการเมืองยุโรปในขณะนั้น ที่ orthodox Marxism เป็นกระแสใหญ่ของสังคม, แต่ไม่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง (irrelevant) อีกต่อไปกับสภาวะสังคมตั้งแต่ทศวรรษ 1980s เป็นต้นมา โดยเฉพาะกับบริบทสังคมการเมืองอเมริกัน ที่แนวคิดอนุรักษ์นิยมใหม่ (neoconservative) ได้ขึ้นแทนที่เป็นพลังที่ครอบนำสังคมไปแล้ว.

คำว่า “ใหม่” ใน “ขบวนการทางสังคมใหม่” นั้นถูกอ้างว่า มีความหมายต่างไปจากที่ใช้ในขบวนเสรีนิยมที่เคลื่อนด้วยกลุ่มผลประโยชน์และที่ใช้ในแนวคิดสังคมนิยมคลาสสิก. ความ “ใหม่” ของมันไม่เพียงหมายถึง ประเด็นเป้าหมายใหม่ที่พ้นไปจากการปฏิรูปการเมืองที่ทำเป็นกิจวัตรเท่านั้น, แต่ยังหมายถึง ช่องทางใหม่ ๆ เพื่อจะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นซึ่งไม่สามารถจะบรรลุได้ด้วยช่องทางทางการเมืองแบบดั้งเดิมด้วย. ผู้เขียนอ้างถึง มิเชล ฟูโกต์ และมองว่ากรอบของฟูโกต์ เกี่ยวกับรูปแบบของการต่อต้าน (forms of resistance) สามารถนำมาพิจารณาขบวนการทางสังคมใหม่ได้ โดยมองว่าเป็นการต่อสู้ขัดแย้งกับ ‘government of individualization’ ซึ่งทำผ่านความรู้. คำถามที่ตั้งจึงเป็นการตั้งคำถามต่อวิธีที่ความรู้หมุนเวียนและกระทำการ, ความสัมพันธ์ของมันกับอำนาจ. สิ่งเหล่านี้เป็นการต่อต้านการสร้างและต่อต้านการทำลายอัตลักษณ์ของตัวเองโดยผู้อื่นไปพร้อม ๆ กัน ด้วยมีความต้องการจะนิยามอัตลักษณ์ของตัวเอง. โดยสรุปก็คือ ขบวนการทางสังคมใหม่นั้น ไม่ได้ต่อต้านตัว สถาบัน อำนาจ กลุ่ม หรือ ชนชั้น มากนัก แต่สิ่งที่มันต่อต้านอย่างเต็มที่ คือ เทคนิคและรูปแบบของอำนาจ.

Claus Offe เปรียบเทียบความคิดหรือกระบวนทัศน์ (paradigm) ของการกระทำการทางการเมืองแบบเก่าและใหม่ เอาไว้ว่า กระบวนทัศน์เก่านั้นอยู่กับประเด็น การเติบโตและการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคมและการทหาร และการควบคุมสังคม, ในขณะที่แบบใหม่นั้นอยู่กับประเด็น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน สันติภาพ, หรือพูดรวม ๆ ก็คือ คุณภาพในการใช้ชีวิต [ประเด็นนี้น่าจะคล้าย บ่อนอก-หินกรูด]. ตัวผู้กระทำการในกระบวนทัศน์เก่านั้น เป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจสังคมที่กระทำการในฐานะกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม, ในขณะที่แบบใหม่ แม้จะเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจสังคมเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้กระทำการในฐานะกลุ่มนั้น ๆ แต่ในฐานะกลุ่มที่เกิดมาจากการสร้างร่วมกันระหว่างการเคลื่อนไหว (ascriptive collectivities). แนวคิดนี้ต่างจาก Marx และ Gramsci ที่ว่าต้องมีสำนึกทางชนชั้นมีอัตลักษณ์ก่อนแล้วค่อยร่วมขบวนการ.

กลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ประสบความสำเร็จในการสร้างวาทกรรม “การทำให้ทันสมัยเชิงอนุรักษ์” (conservative modernization). ในทศวรรษ 1970 และ 1980 กลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ประสบความสำเร็จในการตราหน้า (stigmatize) ขบวนการทางสังคมใหม่ที่เริ่มต้นในทศวรรษ 1960 โดยอาศัยทัศนคติความเท่าเทียมทางกฎหมายที่คับแคบอยู่ในขณะนั้น, บวกกับความคิดเสรีนิยมกระแสหลักในสังคมช่วงหลังสงคราม ที่ความคิดเรื่อง ความเติบโต เสรีภาพ ระบบระเบียบ และอำนาจระหว่างประเทศ กำลังได้รับความนิยม, สร้างขั้วตรงข้าม: เติบโต/ไม่เติบโต, เสรีภาพ/รัฐนิยม, อำนาจบริหารที่เชื่อถือได้/ประชาธิปไตยตกขอบ, ระเบียบ/ปัจเจกนิยมอย่างบ้าคลั่ง, ชุมชน/ความแตกแยก, อำนาจระหว่างประเทศ/ความอ่อนแอของประเทศ. การกำหนดขั้วตรงข้ามแบบนี้ โดยอัตโนมัติ ได้ทำให้ทางเลือกแบบการทำให้ทันสมัยเชิงอนุรักษ์ เป็นทางเลือกที่ถูกต้องตามหลักการและมีเหตุผล (legitimate, rational) และทางเลือกของขบวนการทางสังคมใหม่ เป็นทางเลือกที่ไร้เหตุผลและไม่เป็นประชาธิปไตย (irrational, anti-democratic). ที่สำคัญก็คือ ขบวนการทางสังคมใหม่ไม่สามารถตอบโต้วาทกรรมดังกล่าวได้เลย หรือตอบโต้ว่าแนวคิดของพวกตนนั้น เป็นอุดมคติ ซึ่งยิ่งทำให้ทางเลือกแบบ conservative modernization มีน้ำหนักมากขึ้น ว่าแม้จะไม่หวือหวาแต่ก็เป็นทางเลือกที่ยอมรับได้มากกว่า.

ผู้เขียนเสนอว่า ขบวนการทางสังคมใหม่จำเป็นต้องดูบริบททางสังคมและวัฒนธรรมด้วย โดยชี้ถึงความแตกต่างของความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานในยุโรปเทียบกับสหรัฐอเมริกา และความแตกต่างของพื้นที่ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาที่(กระจัด)กระจายไม่ได้รวมศูนย์แบบยุโรป (ซึ่งหมายถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยอัตโนมัติ). พร้อมเสนอว่าในการต่อสู้ทางวาทกรรม ขบวนการทางสังคมใหม่จำเป็นต้องรื้อวาทกรรมขั้วตรงข้ามของอนุรักษ์นิยมใหม่ แล้วสร้างความหมายใหม่ที่เอื้อต่อการต่อสู้ของตัว.

----

ใครที่สนใจเรื่องขบวนการทางสังคม ประภาส ปิ่นตบแต่ง (ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เพิ่งออกหนังสือ แนวการวิเคราะห์การเมืองแบบขบวนการทางสังคม (เห็นครั้งแรกเมื่องานหนังสือที่ผ่านมา) มีทั้งส่วนที่สำรวจทฤษฎีขบวนการทางสังคมสำนักต่าง ๆ และส่วนที่สำรวจงานศึกษาขบวนการทางสังคมในประเทศไทย

ทั้งเล่มนี้ ดาวน์โหลดไปอ่านได้ฟรี จากหน้าเว็บของอ.ประภาส เช่น บทที่ 7 ขบวนการทางสังคมใหม่ (pdf, 18 หน้า)

และอีกบทความจาก ผาสุก พงษ์ไพจิตร (ที่เขียนคำนำให้หนังสือเล่มข้างบน) ทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใช้กับสังคมไทยได้หรือไม่? (doc, 13 หน้า)

technorati tags: , , ,

No comments: