บันทึกย่อเอกสารที่เรียน เอามาแปะไว้ในบล็อกเผื่อจะมีใครชวนคุย. อันนี้จากวิชาภาษาในสื่อสารมวลชน คณะศิลปศาสตร์ เป็นเอกสารชิ้นแรกที่อ่านในวิชา (ตอนนี้จะหมดเทอมแล้ว). ในบันทึกนี้ผมข้ามรายละเอียดไปเยอะ เพื่อยัดมันให้ลง 1 หน้า A4 (ตัวเอกสารเองผมก็อ่านไม่จบดีด้วย ข้าม ๆ บางส่วนไป). ขอบคุณ Rikker Dockum @thai101 ที่ส่งเอกสารหน้าที่ขาดหายไปให้.
ดาวน์โหลด PDF (81K), OpenDocument (18K)
หลังจากอ่านเอกสารนี้ เราอ่านอีกสองชิ้น ที่เกี่ยวกับภาษาในสื่อไทย. อันหนึ่งเกี่ยวกับการจำแนกระดับภาษาในหนังสือพิมพ์ไทย การใช้ภาษาในหัวข่าว คอข่าว ตัวข่าว โดยอิงตาม High Thai และ Low Thai ของ Diller (Khanittanan, Wilaiwan. 2007, Language of the news media in Thailand). อีกอันดูการสร้างและการใช้แสลงการเมือง (Srinarawat, Deeyu. 2007, Thai political slang: formation and attitudes towards usage).
----
Anthony Diller เสนอว่า ‘ภาษา’ นั้นสามารถหมายถึง ‘ระดับภาษา’ หรือ ‘language subform’ (Edward Sapir) หรือ ‘style’ หรือ ‘register’ (Michael Halliday) โดยยกตัวอย่าง register ในภาษาไทย ได้แก่ ภาษาราชการ, ภาษากฎหมาย, ภาษาการศึกษา, ภาษาตลาด, ภาษาหนังสือ, ภาษาพูด, ภาษาปาก. นักการศึกษาไทยสังเกตว่าความแตกต่างระหว่าง ‘ระดับภาษา’ ดังกล่าว ขึ้นอยู่กับ บริบททาง ‘กาละเทศะ’ (โอกาส-ตำแหน่ง) เช่น ตำแหน่งทางสังคมโดยเปรียบเทียบและความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างคู่สนทนา. Diller ยกตัวอย่างที่อนุมานราชธนพูดถึงการใช้ภาษาที่ดัดจริตหรือใช้เต็มรูปแบบเกินไป เป็นตัวชี้ว่านักวิชาการไทยได้ตระหนักถึงการแบ่งระดับภาษามานานแล้ว. Diller ระบุว่า การที่เขาเลือกใช้คำว่า ‘ระดับภาษา’ หรือ ‘register’ นั้น เป็นความตั้งใจ เพื่อบอกว่า เมื่อนักวิชาการไทยอภิปรายกันเรื่องภาษาศาสตร์สังคม (sociolinguistics) นั้น พวกเขามักจะหมายถึงตัว ‘ระดับภาษา’ นี้ แม้พวกเขาจะใช้คำว่า ‘ภาษา’ เฉย ๆ ก็ตาม.
William J. Gedney ตั้งข้อสังเกตว่าชาวต่างชาติรุ่นก่อน ๆ ที่ศึกษาราชาศัพท์ เข้าใจผิดว่ามันเป็นภาษาอีกภาษาต่างหาก แต่เขาเห็นว่ามันเป็นเพียงระบบการแทนคำศัพท์หนึ่งด้วยอีกคำศัพท์หนึ่งเท่านั้น (a system of lexical substitutions) กล่าวคือเป็นเพียง ‘ระดับภาษา’ อีกระดับ. โดยบริบทในการเลือกระดับภาษานี้ มีทั้ง บริบทภายใน และ บริบทภายนอก. ตัวอย่างของบริบทภายในคือ เมื่อสามัญชนพูดถึงเจ้า ก็อาจใช้ราชาศัพท์, ส่วนบริบทภายนอก เช่น ตำแหน่งทางสังคมของคู่สนทนา ดังได้กล่าวไปแล้ว. อย่างไรก็ตาม Diller เสนอว่าการแบ่งระดับภาษาในภาษาไทยนั้น ไม่ได้เป็นการแบ่งในลักษณะ diglossia ที่มีระดับภาษาสองระดับ สูง-ต่ำ (High Thai และ Low Thai) เพื่อประสงค์การใช้งานที่แบ่งแยกกันชัดเจน. แต่ระดับภาษาในภาษาไทยนั้นมีหลายระดับ สูง-ต่ำโดยเปรียบเทียบ ตามมิติการใช้งาน สังคม และภูมิศาสตร์. Diller เรียกการแบ่งแบบนี้ว่า diglossic register differentiation หรือ diglossic subforms (น. 52-53).
ในเรื่องความแตกต่างระหว่างระดับภาษาสูงกับต่ำนี้ Diller ตั้งข้อสังเกตว่า ความแตกต่างจะพบได้มากที่สุดในชนบท ที่ซึ่งภาษาท้องถิ่นแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากภาษากลาง (Central Thai ซึ่งให้ความหมายทั้งทางภูมิศาสตร์และทางการปกครอง) แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นภาษาเดียวกันอยู่. สิ่งหนึ่งที่ Diller ใช้ชี้ให้เห็นว่ามีความแตกต่างที่มากกว่าในชนบท ก็คือความรู้สึกสำนึก (conscious) ในการพัฒนาทักษะภาษา (language acquisition). เด็กในชนบทจะมีสองช่วง คือ เรียนรู้ระดับภาษาท้องถิ่นในช่วงปฐมวัย และเรียนรู้ระดับภาษากลางเมื่อเข้าศึกษาในโรงเรียน (formal education). ในขณะที่เด็กในเมือง ซึ่งคนรอบ ๆ ใช้ภาษากลางอยู่แล้ว จะเรียนรู้ภาษากลางตั้งแต่ในช่วงปฐมวัย ส่วนการศึกษาในโรงเรียนนั้นเพียงเพิ่มเติมคำศัพท์หรือภาษาพิธีกรรมเฉพาะเท่านั้น. กล่าวคือ โดยเปรียบเทียบแล้ว เด็กในชนบทจะเรียนรู้ภาษากลางอย่างมีสำนึกมากกว่าเด็กในเมือง (น. 53).
ไวยากรณ์ของภาษาไทยนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากสองแหล่งภาษาใหญ่ ตามอิทธิพลทางความคิดในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งใช้ภาษาเหล่านั้น คือ ไวยากรณ์บาลี-สันสกฤต และ ไวยากรณ์กรีก-ละติน (ผ่านภาษาอังกฤษ) โดยคำที่ใช้เรียกส่วนประกอบในไวยากรณ์กรีก-ละติน ถูกแปลเป็นไทยโดยใช้คำบาลี-สันสกฤต (น. 54).
สำหรับชุดคำศัพท์ สมัยสุโขทัยภาษายังไม่มีการแบ่งระดับมากเท่าทุกวันนี้ คำศัพท์ที่ใช้ก็ใช้คำเดียวกันกับผู้อยู่ในระดับสังคมต่าง ๆ กัน เช่น ใช้คำว่า ‘ตีน’ กับพระพุทธเจ้า ใช้คำว่า ‘กู’ กับเจ้า. ชุดศัพท์เขมร-อินเดียนั้นสำคัญมากในการแยกระดับภาษา (register differentiation) โดยคำในภาษาเหล่านี้เข้ามาก่อนทางศาสนาพุทธ และต่อมาใช้ในวัง และใช้ในกวีจากในวัง (น. 55). รัชกาลที่ 4 ให้ความสนใจการใช้ภาษาให้ถูกต้องตามแบบแผน มีการกำหนดลักษณนาม กำหนดการใช้คำต่าง ๆ และแสดงความไม่พอใจที่หนังสือพิมพ์ใช้คำ ‘สำเนียงไพร่เลว’ ไม่ใช้คำ ‘สำเนียงผู้ดี’. การใช้คำทับศัพท์ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้กันแพร่หลาย ไม่ได้รับการยอมรับ มีการคิดคำศัพท์ไทยใหม่ ๆ เพื่อแทนคำทับศัพท์ โดยใช้คำบาลี-สันสฤกตมาสร้างคำใหม่เหล่านี้ (น. 56). เรื่องคำศัพท์นี้ ยังมีเรื่องการเลือกใช้ หรือ lexical variation ที่พูดถึงระดับคำที่ไม่ชัดเจนตายตัว ว่าคำไหนสูงคำไหนต่ำ แต่เป็นลักษณะ ‘สูงกว่า’ ‘ตำ่กว่า’ และคำต่ำก็ถูกใช้ทั่วไปได้ เช่น ‘ตีนแมว’ และการเลี่ยงคำบางคำที่มีความหมายไม่ดีหรือความหมายออกไปทางเรื่องเพศ-โดยเฉพาะในคำราชาศัพท์ (น. 59-62). นอกจากนี้ยังมีเรื่อง personal references (อะไร-อันใด; ใคร-ผู้ใด; ที่-ซึ่ง) ซึ่งเลือกใช้ตามเพศ ความใกล้ชิด ความเป็นทางการ (น. 63-64) และ deixis (นี่-นี้; นั่น-นั้น) ซึ่งเกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ด้วย (น. 64). คำบุพบท (prepositions) บางอันปกติละได้ แต่เมื่อต้องการแก้ปัญหาความกำกวมก็จะถูกใช้แบบเต็ม การใช้คำบุพบทอย่างชัดแจ้ง บ่งถึงภาษาระดับสูง (น. 66-69).
การออกเสียงก็แยกระดับภาษาเช่นกัน เช่น ความแตกต่างระหว่าง /ร/ กับ /ล/ ซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนมีแนวโน้มจะออกเสียง /ร/ เป็น /ล/ (cluster loss) ความกลัวที่จะทำ /ร/ หาย นี้ นำไปสู่การแก้จนเกิน (overcorrection) ที่ใช้ /ร/ แทน /ล/ ในที่ที่ควรใช้ /ล/ และการกระดกลิ้นเพื่อออกเสียง /ร/ จนมากเกิน (over-rolled), การเติมเสียง -s ท้ายคำ หรือการขึ้นเสียงสูงท้ายประโยคเพื่อแสดงว่าเป็นคำถาม ซึ่งได้อิทธิพลมาจากภาษาอังกฤษ (น. 57-59).
ในตอนท้าย Diller เสนอว่า ความแตกต่างของระดับภาษามีเรื่องความขัดแย้งทางวัฒนธรรมอยู่ด้วย ซึ่งสะท้อนออกมาในความขัดแย้งทางระบบการศึกษา การศึกษาและสอนภาษาตามแนว prescriptive (มีภาษาแบบแผนในอุดมคติที่ถูกต้อง) และ descriptive (ภาษาอย่างที่มันเป็น).
เอกสารอ้างอิง
Diller, A. 1985, “High and low Thai: views from within”, in Papers in Southeast Asian Linguistics No.9, ed. D. Bradley, vol. 9, pp. 51-76. Pacific Linguistics, the Australian National University. Available from Southeast Asian Linguistics Archive: http://sealang.net/sala/htm/DILLERAnthonyVN.htm
technorati tags: High Thai, Low Thai, Thai language, register, sociolinguistics, linguistics
1 comment:
เอาอีกๆ สนุกดี
Post a Comment