ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2008-05-26

Netizen Unite!

ศิริพร สุวรรณพิทักษ์ (ปุ๊ก) เว็บมาสเตอร์ 212cafe.com ได้ประกันตัวแล้ว — หลังนอนในห้องขังหนึ่งคืน

อ่านบล็อกของปุ๊ก: 212cafe.com เป็นข่าว!

เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ หนังสือพิมพ์ มติชน ออนไลน์ และ ผู้จัดการ ออนไลน์ ลงข่าวชวนเข้าใจผิด และตัดสินปุ๊กไปแล้วในข่าว-โดยไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักฐานที่ปรากฎ

มติชนพาดหัวว่า “จับเว็บมาสเตอร์เว็บโป๊ แพร่ภาพคลิปลับว่อนเน็ต” ถ้านักข่าวมติชนใช้เวลาสักหนึ่งนาทีดูเว็บไซต์ 212cafe.com เสียหน่อย ก็จะรู้ว่ามันไม่ใช่เว็บโป๊ (เว็บไซต์ที่มีแต่ภาพโป๊หรือเนื้อหายั่วยุทางเพศ)

ผู้จัดการพาดหัวว่า “ปดส.จับเจ้าของเว็บลามก แพร่ภาพเริงรักหนุ่มสาว” พร้อมลงรูปประกอบข่าว รูปหนึ่งเป็นภาพจับหน้าจอจากเว็บโป๊แห่งหนึ่ง-ซึ่งไม่ใช่ 212cafe.com ชวนให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่านั่นเป็นภาพที่จับหน้าจอมาจากเว็บ 212cafe.com (ล่าสุดได้มีการเปลี่ยนรูปแล้ว-แต่ไม่ได้แจ้งว่ามีการเปลี่ยนเกิดขึ้น)

อันนั้นเป็นเรื่องของการนำเสนอในสื่อ-การตัดสินโดยพาดหัว

อีกเรื่องก็คือ มาตรฐานในการจับกุมดำเนินคดีหรือการ “ขอความร่วมมือ” เรื่องที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ที่ผ่านมาการ “ขอความร่วมมือ” มีในลักษณะด้วยจาวาทางโทรศัพท์บ่อย ๆ คำถามคือ มันเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ไหม กับการบอกกล่าวด้วยวาจา ทางโทรศัพท์ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า อีกฝากหนึ่งของโทรศัพท์ ที่ขอความมือมานั้น เป็นใคร มีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ หรือไม่ ?

mormmam ในฐานะบล็อกเกอร์ ที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต และตัวเองก็มีสิทธิ์ที่จะถูก “ขอความร่วมมือ” ได้เช่นเดียวกับชาวเน็ตอื่น ๆ ก็ตั้งคำถามถึงมาตรฐานและขั้นตอนวิธีในการดำเนินคดีเช่นกัน ในบล็อกของเขา:
Cyber law, Process and Standard in Thailand

ที่ผ่าน ๆ มา เราก็จะเห็นเสมอ ๆ ว่า ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายใหม่ ๆ อย่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต ทรัพย์สินทางปัญญา ที่คนจำนวนมากยังไม่ทราบกฎหมาย หรือยังสับสนกับกฎหมาย หรือขั้นตอนการดำเนินคดี และสิทธิของตน ก็มักจะมีมิจฉาชีพ (ทั้งที่เป็นคนทั่วไปและที่เป็นเจ้าหน้าที่เสียเอง) ใช้ช่องว่างความสับสนลักลั่นตรงนี้ ไปหลอกลวงหากินกับประชาชนและผู้ประกอบการต่าง ๆ ตลอดเวลา

ไม่ว่าจะเป็นการทำทีเป็นล่อซื้อ แล้วก็จับกุม จากนั้นก็บอกว่า ถ้ายอมจ่ายเงินจำนวนที่กำหนด ก็จะทำให้เรื่องเงียบปล่อยตัวได้ (ข่มขู่) เช่นกรณีร้านหนังสือที่ถูกจับเรื่องขายหนังสือแนะนำเกมที่แถมซีดีที่มีเกมละเมิดลิขสิทธิ์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือการกลั่นแกล้งอ้างกฎหมายที่เกี่ยวข้องขอเข้าตรวจค้นบ่อย ๆ ให้รำคาญ จนทำมาหากินไม่สะดวก จนต้องยอมจ่ายค่าคุ้มครอง ให้ไม่มารบกวน เช่นกรณีร้านเน็ตร้านเกม ถูกกลุ่มคนที่อ้างว่าได้รับมอบหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์เข้ามาตรวจค้น เรียกค่าเสียหาย ... ที่สุดท้ายอาจกลายเป็น “ค่าโง่”

พวกเราได้ยินได้เห็นเรื่องราวเหล่านี้กันไม่รู้กี่ครั้งแล้วในสังคมนี้ ในบ้านเมืองของเรานี้

กลุ่มคนเหล่านั้นหลายกลุ่ม ที่ทนการกลั่นแกล้ง หรือการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ก็ได้มีการรวมตัวกันเพื่อปกป้องตัวเอง และช่วยเหลือเพื่อน ๆ ชะตากรรมเดียวกัน ต่อสู้

กลุ่มร้านเน็ต ร้านเกม (ปัญหาลิขสิทธิ์ ปิดดึก เด็กนักเรียนเล่นเกม) ก็มีการรวมตัวกัน
กลุ่มผู้ประกอบการคาราโอเกะ (ปัญหาลิขสิทธิ์ และการจัดเก็บซ้ำซ้อน) ก็มีการรวมตัวกัน
กลุ่มร้านหนังสือ (ปัญหาลิขสิทธิ์) ก็มีการรวมตัวกัน

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่คนเล่นอินเทอร์เน็ต ชาวเน็ตทั้งหลาย จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองเช่นกัน

ตั้งแต่สิทธิในทางเศรษฐกิจ สิทธิในการทำมาหากินอย่างสุจริต ที่จะได้รับการคุ้มครองให้แข่งขันในกติกาที่เป็นธรรม ไม่มีตุกติก เช่น โกงจำนวนฮิตส์ สิทธิของผู้บริโภค ที่ควรจะได้รับบริการอย่างที่โฆษณา เช่น เว็บไซต์มีเนื้อหาที่ตรงกับคีย์เวิร์ดที่ค้น หรือที่จ่ายเงินค่าอินเทอร์เน็ตไปแล้ว ก็อยากจะได้บริการที่ดี ได้ความเร็วตามที่โฆษณาไว้ ไม่ถูก shape แบนด์วิธ โหลดบิทไม่ได้ เน็ตไม่ล่มบ่อย ๆ และเข้าเว็บไซต์ที่ถูกกฎหมายได้ทุกเว็บไซต์ - ไม่ใช่ว่าพอถูก “ขอความร่วมมือ” หน่อยเดียว ก็เข้าเว็บนั้นเว็บนี้ไม่ได้เสียแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้มีคำสั่งศาลเลย

ในฐานะผู้บริโภคอินเทอร์เน็ต ที่จ่ายเงินรายชั่วโมง รายเดือน พวกเราก็ต้องคาดหวังกับบริการที่ดีเช่นที่ว่า ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องเรียกร้องบริการที่ดีกว่า หรือหากตกลงกันไม่ได้ ก็เคลื่อนไหว หรือพึ่ง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อะไรก็ว่าไป — ทำไมเพื่อนเราจ่ายเงินค่าบริการเท่ากันกับเรา แล้วเขาได้อินเทอร์เน็ตคุณภาพน้อยกว่าเรา ? (หรือเราไม่ได้เดือดร้อน ไม่ต้องสนก็ได้ ?)

ในฐานะที่ชาวเน็ต ก็เป็นพลเมืองเช่นกัน พวกเราก็ต้องปกป้องสิทธิในความเป็นพลเมืองของพวกเรา ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ

สิทธิเสรีภาพที่จะคิด พูด อ่าน เขียน ในทุกสิ่งที่ต้องการ ตราบเท่าที่ไม่ไปรบกวนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

ไม่ใช่ให้ใครมาปิดเว็บไซต์เอาตามอำเภอใจ — คนจะเขียนก็ถูกละเมิด คนจะอ่านก็ถูกละเมิด

ไม่ใช่ให้ใครมากล่าวหาว่าเป็นเว็บไซต์ผิดกฎหมายกันได้ชุ่ย ๆ — อย่างที่นักการเมืองของพรรคเก่าแก่เพิ่งทำ

ไม่ใช่ให้ใครมาใช้กฎหมายข่มขู่หาประโยชน์ได้ง่าย ๆ — กระบวนการยุติธรรมต้องโปร่งใส ผิดก็ว่าไปตามผิด ไม่มีปัญหา แต่ต้องอธิบายได้ และพยายามเข้าใจปัญหา และถือหลักที่ว่า จนกว่าจะพิสูจน์ได้หรือมีพยานหลักฐานชัดเจนซึ่งหน้าว่ากระทำผิด ผู้ต้องหาคือผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่ตัดสินไปก่อน (ไม่ว่าจะโดยสื่อ โดยเจ้าหน้าที่ หรือใครก็ตาม) หรือที่แย่หนักคือ จับไปซะเฉย ๆ ก่อนแล้วค่อยแจ้งข้อหาแบบ 2 บล็อกเกอร์ พระยาพิชัย กับ ท่อนจัน

พวกเรา ชาวเน็ต บล็อกเกอร์ ผู้สื่อข่าวพลเมือง และพลเมืองทุกคน มาร่วมมือร่วมใจกัน รวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของเรา บนพื้นที่ออนไลน์แห่งนี้ และทุก ๆ ที่

(ไม่ว่าคุณจะเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย คิดเหมือน คิดต่าง เราอยากได้ยินเสียงของคุณ เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบล็อกของคุณ ตามความคิดของคุณ ;) )


ลิงก์ที่เกี่ยวข้อง:

technorati tags: , , , , ,

4 comments:

bact' said...

แถลงการณ์สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เรื่อง การสั่งปิดเว็บไซต์การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง (23 มิถุนายน 2548 - รัฐบาลทักษิณ)

mormmam said...

ในมุมของผมเอง นอกจากที่จะมีตกลง วิธีดำเนินการทางกฏหมาย ระหว่างคนทำเว็บและเจ้าหน้าที่ แล้ว

การให้ข้อมูลในส่วนของภาคประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับการใช้ internet ก็ควรจะมีมากกว่านี้ครับ เพราะทุกวันนี้ ถามว่า คนใช้เน็ตรู้เรื่องนี้มากแค่ไหน

มันก็ยังผิดกฏหมายอยู่นั่นล่ะครับ เหอๆ

ปล.ผมว่า เอาแค่ให้คนไทยใช้ ubuntu ให้ได้ซัก 30% ก่อนก็บุญหัวแล้ว

bact' said...

รายงาน: สำรวจความเป็นไป 29 เว็บ ที่ ปชป. บอกว่า “หมิ่น”

bact' said...

http://gopetition.com/online/19589.html
----

แถลงการณ์จาก
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อพลเมือง
ผู้สนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
29 พฤษภาคม 2551

เรื่อง ขอเรียกร้องความรับผิดชอบจากนายเทพไท เสนพงศ์ และ พรรคประชาธิปัตย์ และขอเชิญชวนพลเมืองทุกคนร่วมกันปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

อ่านแถลงการณ์/ร่วมลงชื่อ ได้ที่
http://gopetition.com/online/19589.html