ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2007-12-21

beyond policy

[ คำเตือนก่อนอ่าน: ในขณะที่เขียนบทความนี้ ในใจผมอยู่ระหว่างตัดสินใจว่า จะ “กาช่องไม่เลือกใคร” หรือ “เลือกพรรคพลังประชาชน” (แต่ไม่ว่าจะเลือกอะไร ก็เพื่อส่งสัญญาณเดียวกัน คือ “ไม่เอารัฐประหาร” ทั้งที่ผ่านมาและในอนาคต) — ดังนั้นข้อเขียนชิ้นนี้ จึงเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องได้รับอิทธิพลจากสิ่งนี้ไม่มากก็น้อย กรุณาใช้ความระมัดระวังในการอ่าน — ติชมใด ๆ ผมถือเป็นกำนัล ขอน้อมรับด้วยความขอบคุณยิ่ง ]



บางที การเลือกตั้งครั้งนี้ อาจไม่ใช่การเลือกพรรคการเมือง อย่างที่แล้ว ๆ มา

ที่ผ่านมา เราบอกว่า สังคมประชาธิปไตยไทย(ไทย) ได้ก้าวพ้นการเลือกตัวบุคคล มาเป็นการเลือกพรรคแล้ว โดยชัยชนะของไทยรักไทยอาจเป็นตัวอย่าง (โดยกลไก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่เพิ่งมีใหม่ในตอนนั้น เป็นตัวอำนวยให้เกิดได้)

เลือกบุคคล ก็คือเลือกจากความชอบพอในตัวบุคคล คนนี้เป็นคนดี
เลือกพรรค ก็คือเลือกจากนโยบายของพรรค

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ พูดตรง ๆ ผมไม่ได้ตัดสินใจจากทั้งสองอย่าง หลายคนคงคิดเหมือนกัน

ตัวบุคคล ? เรารู้จักใครบ้าง ? ถ้าจะคุ้น ๆ ก็มีนามสกุลกระมัง เดา ๆ ก็คงจะเป็นลูกหลานของนักการเมืองหรือคนใหญ่คนโตสักคนนี่แหละ

นโยบาย ? มองไปทั้งหมด จะมากน้อยอ่อนแก่ สุดท้ายก็ไม่พ้น “ประชานิยม” ปะแป้งเปลี่ยนชื่อใช่ไหม ?

บางทีครั้งนี้ หรือไม่ก็หลังจากนี้ไม่นาน เราอาจก้าวพ้นอีกครั้ง จากเลือกนโยบาย ไปสู่การเลือกอุดมการณ์

การที่คนกลุ่มต่าง ๆ รณรงค์เรื่อง No Vote (ไม่ไปเลือก) บ้าง Vote No (กาช่องไม่เลือกใคร) บ้าง เลือกพรรคนี้คือเลือกไม่เอารัฐประหารบ้าง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ (รวมถึง “ล้มรัฐธรรมนูญ = ล้มรัฐประหาร” ในการลงประชามติร่างรธน.50 ด้วย)
ผมคิดว่านี่คือการเลือกอุดมการณ์

คนจำนวนหนึ่ง ใช้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการแสดงพลังทางการเมือง
พวกเขาไม่ได้เข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อเลือกพรรคการเมืองใด
แต่พวกเขาเข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อแสดงอุดมการณ์ทางการเมืองที่เขาเชื่อ

การแสดงอุดมการณ์ดังกล่าว กระทำผ่านการเข้าร่วมการเลือกตั้ง
ผมใช้คำว่า “การเข้าร่วมการเลือกตั้ง” และไม่ใช้คำว่า “ไปลงคะแนนเลือกตั้ง” ก็เพราะการเข้าร่วมนี้ มีได้หลากหลายมากกว่าการไปลงคะแนน

พวกเขาใช้การเลือกตั้ง แสดงความต้องการ ที่นอกเหนือไปจากช่องสี่เหลี่ยมที่ถูกกำหนดให้ทำเครื่องหมายกากบาท
และพวกเขาต้องการจะเป็นผู้กำหนดเครื่องหมายเอง ไม่ใช่รอเลือกจากช่องที่ถูกกำหนดมาให้

บางคน ไปลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ (อีกทั้งอยากให้คนอื่น ๆ ไปลงคะแนนกันเยอะ ๆ ด้วย) เพราะอยากจะแสดงพลังว่า ประชาชนต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากแค่ไหน และประชาชนไม่ต้องการรัฐประหาร

บางคน ไม่ไปลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะอยากจะแสดงพลังว่า ประชาชนไม่ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่จัดโดยคณะรัฐประหาร และกกต.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานแปลก ๆ รวมทั้งมีการแทรกแซงจากคมช.

บางคน ไม่ไปลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ หรือไปกาช่องไม่เลือกใคร เพราะอยากจะส่งสัญญาณว่า พรรคการเมืองทั้งหมดที่มีมาให้เลือก ต่างก็ไม่ได้จริงใจกับประชาชน ไม่มีพรรคใดที่จะเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง

บางคน ไปกาช่องไม่เลือกใคร เพราะจะส่งสัญญาณว่า ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ 2550

บางคน ไปเลือกพรรคที่ไม่ใช่พรรคนอมินีของพรรครัฐบาลก่อน เพราะไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย ‘ขมขื่นเช่นอดีต’

บางคน ไปลงคะแนนเลือกพรรคที่คมช.หมายหัวเป็นศัตรูใหญ่ เพราะอยากจะส่งสัญญาณว่า ประชาชนไม่ต้องการรัฐประหาร และแสดงพลังว่า คุณเอาออกไปได้ ผมก็เอากลับมาได้เหมือนกัน และถ้าคุณจะเอาออกไปอีก ผมก็จะเอากลับมาอีกเช่นกัน

ทั้งหมดที่กล่าวมา ทั้งลงคะแนนและไม่ลงคะแนน ต่างก็เป็นการเข้าร่วมการเลือกตั้งอย่างหนึ่ง และเป็นการเข้าร่วมการเลือกตั้ง แบบไม่สนใจนโยบายของพรรคการเมืองเสียด้วย

แล้วคนเลือกจากอะไรกัน ?

ผมคิดว่า คนจำนวนหนึ่งในสังคมไทย ได้ตัดสินใจจะเลือกจาก “อุดมการณ์” ของพรรคการเมืองแล้ว

ไม่ใช่เลือกจากความชอบพอ ไม่ใช่เลือกจากนโยบาย แต่เลือกจากอุดมการณ์

ส่วนอุดมการณ์ ในสถานการณ์นี้นั้น ก็ง่าย ๆ คือ

“เราจะเอาหรือไม่เอารัฐประหาร (อีกครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า)”

หรือ

“เรายอมรับได้หรือไม่กับผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”

หรือ

“เราจะเอาหรือไม่เอาระบบการเมืองที่ไม่เคยเห็นหัวประชาชน” (ยืมคำสมัชชาคนจน)

ก็แค่นี้เท่านั้น

สำหรับคนจำนวนหนึ่ง การที่เขาไม่เลือกพรรคใดเลย ก็เพราะเขาเห็นว่าในนโยบายสีสันหน้าตาต่าง ๆ นั้น สุดท้ายแล้วต่างก็ไม่สอดรับกับอุดมการณ์ที่เขาจะรับได้

สำหรับคนจำนวนหนึ่ง การที่เขาเลือกพรรคพรรคหนึ่ง ก็เพราะอุดมการณ์และแนวทางของพรรคนั้น (ทั้งปัจจุบันและในอดีต) แม้ว่าเขาจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนวนหนึ่ง หรือตัวบุคคลบางบุคคลในพรรคก็ตาม

หากคิดว่าแนวนโยบายแห่งรัฐนั้นควรจะปรับเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ บนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชน การเปลี่ยนนโยบายเล็กน้อยจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ (แน่นอนว่าไม่ใช่จะเปลี่ยนกันบ่อย ๆ) และไม่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า “ถูกหลอก” มากนัก

แต่การเปลี่ยนอุดมการณ์นั้นไม่ใช่

นโยบายมาแล้วก็ไป เปลี่ยนไปตามสภาวะสังคมเศรษฐกิจ แต่อุดมการณ์นั้นอยู่ยาวยืนยงกว่า

Democrat จึงเป็น Democrat
Republican จึงเป็น Republican
SPD จึงเป็น SPD
CDU จึงเป็น CDU
Die Linke จึงเป็น Die Linke
Labour จึงเป็น Labour
Conservative จึงเป็น Conservative
Green จึงเป็น Green

เราสามารถเลือกอุดมการณ์ได้ จะโดยผ่านพรรคการเมือง ผ่านองค์กรพัฒนาเอกชน ผ่านเครือข่าย ฯลฯ ทางใดกี่ทางก็ได้

ไม่ว่าแต่ละคนจะให้ความหมายของ “เรา” ว่าอย่างไร และประเทศชาติรัฐบาลแบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็น “ของเรา” ได้บ้าง

การเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวานี้ จะเป็นการแสดงอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาชนชาวไทย ว่าเขาอยากได้การเมืองและบ้านเมืองแบบไหน ?

“บ้านเมืองที่เป็นของเรา”

หรือ

“บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา”




(สำหรับตัวผมเอง ไม่ว่าสุดท้ายจะเลือกอะไร แต่ที่สุดก็เพื่อส่งสัญญาณเดียวกัน คือ “ไม่เอารัฐประหาร” ทั้งที่ผ่านมาและในอนาคต “ไม่เอาผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” และ “ไม่เอาการเมืองที่ไม่เห็นหัวประชาชน”)


ชิ่งต่อ:


ตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ “มองข้ามหัวนโยบาย” ที่เว็บไซต์ อารยชน 21 ธ.ค. 2550 — คลิกดูความเห็นเพิ่มเติมที่เว็บไซต์อารยชน

เพิ่มคำเตือนในการอ่านหัวบทความ และความเห็นท้ายบทความ - 22 ธ.ค. 2550

เพิ่มลิงก์ปิยบุตร - 26 ธ.ค. 2550

technorati tags: , ,

6 comments:

CrazyHOrse said...

คุณ bact' มองโลกในแง่ดีมากครับ

เจ้าน้อย ณ สยาม said...

“บ้านเมืองที่เป็นของเรา”

บ้านเมืองนี้เปนของเรา ?

ผมคิดว่าครั้งนี้เปนเพียงแค่ ก้าวแรก

ในช่วงเวลาอีกไม่นาน (ไม่นานแน่ๆ)ก็จะมีการ

ก้าวเดินไปสู่ย่างก้าวที่สอง เพื่อที่ประเทศของเราจะได้

มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามหลักการที่ถูกต้อง

มิใช่ประชาธิปไตยแบบครึ่งๆกลางๆอย่างทุกวันนี้

จริงๆผมคิดว่าหลายๆคนก็รู้

ว่าเพราะอะไร? และใคร?

ที่เปนคนฉุดรั้งประเทศของเราไว้ ทั้งที่ความจริง

ประเทศของเราน่าจะไปได้ไกลกว่านี้..

เด็กเล็กๆในบ้านนอกยังคงต้องเดินถอดรองเท้าไป
โรงเรียน บางคนได้เรียนบ้างไม่ได้เรียนบ้างแล้วแต่บุญแต่กรรม พอถึงหน้าหนาวเราก็จะได้ยินการพูดถึงเรื่องการบริจากผ้าห่ม และเครื่องกันหนาวให้กับคนต่างจังหวัดกันทุกปี คุณคิดยังไงละ?

ภาพมายาที่มีทุกบ้าน ?

ปล.
สวัสดีครับ มาถึงผมก็บ่นๆเลยขอโทษที
สบายดีนะครับ..

Anonymous said...

เป็นบทความที่อ่านแล้วเหมือนจะดี แต่มาสะดุดตรงอยู่ดีๆ ก็สรุปมาว่าอุดมการณ์สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ มีอยู่สามสี่อันแค่นี้ โดยไม่ได้มีตรรกะเชื่อมโยงใดๆ และเป็นการมองข้างเดียว โดยดูจากลักษณะการใช้คำแสดงถึงความพยายามที่จะเบี่ยงเบนความคิดของคนอ่านที่ไม่ได้อ่านละเอียดพอให้เกิดความคิดว่ารัฐประหารเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ประชาธิปไตย ดังนั้นต้องเลือกพรรคที่ได้รับผลกระทบทางลบมากที่สุดจากรัฐประหาร ซึ่งไม่ถูกต้อง ทำให้บทความชิ้นนี้มีค่าเป็นเพียงคำชี้นำให้ประชาชนเกิดภาพที่ไขว้เขวเท่านั้น เข้าลักษณะตีหน้าเศร้า เล่าความจริงครึ่งเดียว มองข้ามประเด็นความสามารถและความดีความเลว ซึ่งดูได้ในรูปของการกระทำต่างๆ ความซื้อสัตย์สุจริต และความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของประชาชน ไม่ใช่แค่พวกพ้อง ของแต่ละพรรค ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ประชาชนควรจะตระหนักก่อนที่จะไปเลือกตั้งครั้งนี้ โดยการเอาประเด็นหยาบๆ ที่ผู้เขียนเรียกว่าอุดมการณ์มากลบเกลื่อน

สรุปแล้ว ภาษาดี โครงสร้างบทความดี แต่ก็ยังสอบตก เพราะใช้จิตใจไม่บริสุทธ์ มีวาระซ่อนเร้นมาเขียน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นผิด แต่ควรแสดงออกให้ชัดเจน ไม่ถือโอกาสเอาความซับซ้อนของสถานการณ์มาหลอกหล่อให้ผู้อ่านสันสน

bact' said...

ขอบคุณทุกท่านที่ติชม (จริง ๆ ติเยอะกว่าเยอะ :P)
crazyhorse: ยังไงอ่ะ ?


เจ้าน้อยฯ: ผมเห็นด้วยว่าถ้าการเลือกตั้งนี้จะนำไปสู่ "ความเปลี่ยนแปลงอะไร" มันก็เป็นเพียงก้าวแรก
.. กลัวก็แต่มันจะนำไปสู่ "ความไม่เปลี่ยนแปลง" น่ะสิ :P

เพราะอะไร? และใคร?
ผมอยากจะบอกว่า เพราะ 'พวกเรากันเอง'
เพราะเรายอมกันเอง - ใช่ไหม?
(ไม่ว่าคุณจะแทน 'ใคร' คนนั้นด้วยใครก็ตาม)


'anonymous': ขอบคุณมากครับ ที่วิพากษ์อย่างละเอียด

ในทีแรกที่เขียน ผมระบุไว้ที่ตอนท้ายของข้อเขียนนี้ไว้ ว่าตัวผมเองจะเลือกและไม่เลือกอะไร
แต่ก็นำออกไปก่อนจะเผยแพร่ เพราะไม่แน่ใจว่ามันเหมาะสมไหม -- สุดท้ายแล้วผมคิดว่าไม่จำเป็นที่จะใส่มันลงไปส่วนหนึ่งของข้อเขียนข้างต้น
-- แต่ก็ขอขอบคุณคุณ 'anonymous' ที่ท้วงติงเข้ามา ให้ได้คิดอีกรอบ -- ผมจะบอกให้ชัดเจนว่าผมจะเลือกหรือไม่เลือกอะไร ไว้ที่หัวของข้อเขียนนี้ (เป็นส่วนแยกจากข้อเขียน เพื่อให้คนอ่านได้ตัดสินข้อเขียนนี้ได้ดียิ่งขึ้น) -- ขอบคุณอีกครั้งครับ


อีกประการหนึ่งคือ ผมไม่ได้ต้องการชักนำโน้มน้าวใคร ให้มาเห็นแบบผม
เพียงแต่ต้องการแสดงความคิดเห็นว่า อย่างน้อยสำหรับตัวผม ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมตัดสินเข้าร่วมการเลือกตั้งด้วยเหตุผลดังที่กล่าวไว้จริง ๆ
และเท่าที่รู้สึก เพื่อนผมหลายคนก็อยู่ในอาการนี้
-- แน่นอน ผมไม่ได้เคลมว่า ทุกคนอยู่ในอาการนี้ (ในข้อเขียนก็เขียนชัดเจนว่า 'บางคน.. บางคน..' และไม่ได้หมายความว่ารวม 'บางคน' ทั้งหมดนี้แล้ว จะเท่ากับ 'ทุกคน')
-- และ 'อุดมการณ์' ที่แสดงไว้สามอย่าง ก็ไม่ได้เป็นทั้งหมดของอุดมการณ์ที่เป็นไปได้ เป็นเพียงอุดมการณ์ที่เป็นไปได้ ของกลุ่ม 'บางคน' ที่กล่าวไว้ก่อนหน้าเท่านั้น
(สำหรับตรรกะในการเชื่อมโยง 'อุดมการณ์' เหล่านี้ สามารถคลิกไปดูได้ตามลิงก์ที่เชื่อมโยงไปครับ)


อีกประเด็นสำคัญคือ ผมไม่ได้ต้องการบอกว่า ให้เลือก
'พรรคที่ได้รับผลกระทบทางลบมากที่สุดจากรัฐประหาร'
ใครจะเลือกหรือไม่เลือกอะไร ก็ทำไป (ดังได้ทำลิงก์ชุดหนึ่งไปยัง 'คำเชิญชวนและตรรกะ')
เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้
มันจะบอกว่า ประชาชน เอาหรือไม่เอา รัฐประหาร


แต่แน่นอน คุณ 'anonymous' ถูกต้องที่ว่า
ผมเห็น (100%) ว่า การรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
(อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะสื่อสารในข้อเขียนข้างต้น - เป็นเพียงประเด็นรองที่สนับสนุนประเด็นหลักเท่านั้น)


ประเด็นหลักอย่างหนึ่งที่ผมต้องการจะสื่อสารในข้อเขียนนี้ แต่เมื่อ่านแล้ว ยังคิดว่าทำได้ไม่ดีพอ ก็คือ
ในขณะนี้ การเมือง และ การต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมือง ไม่ได้กระทำผ่าน 'พรรคการเมือง' และ' การเลือกตั้ง' แต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว
แต่ได้ขยายไปสู่ปริมณฑลอื่น เช่น เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มประชาชนผู้สนใจติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด (active citizen) ซึ่งจำนวนหนึ่งได้เกาะตัวกันเหนียวแน่นขึ้น กลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหว หรือกลุ่มกดดันทางการเมือง (ปรากฎการณ์นี้ เริ่มตั้งแต่การไล่ทักษิณ)
รวมไปถึงสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า 'public sphere' สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดทางการเมืองของคนไทย ที่มาอาณาบริเวณทางภูมิศาสตร์ครอบคลุมทั้งประเทศและทั้งโลก (ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต)
-- ซึ่งทั้งหมดนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ควรสนับสนุนส่งเสริม และอยากจะนำเสนอในโอกาสต่อไปครับ (ในข้อเขียนข้างต้น ได้เอ่ยถึงโดยอ้อมเพียงว่า การไม่ลงคะแนน/ลงคะแนนไม่เลือกใครก็เป็นการแสดงพลังทางการเมืองแบบหนึ่ง
และกล่าวถึงกลุ่มนอกเหนือจากพรรคการเมือง อย่างชัดเจนเพียงเล็กน้อยในตอนท้าย แต่ไม่ได้มีรายละเอียด)



ขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้งครับ โดยเฉพาะคุณ 'anonymous'

fatro said...

ผมทำใจเลือกพรรคที่หัวหน้าพรรคชอบห้างมากกว่าหอศิลป์ไม่ได้ ~

fatro said...

อ้าว โพสผิด ที่ถูกต้อง เอนทรี่นี้ :P

https://www.blogger.com/comment.g?blogID=6296791&postID=3316632392441559016