ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2010-12-28

สัมภาษณ์ @klaikong เรื่อง "ข้อมูลสาธารณะแบบเปิด" กับการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง #opendata #opengov

Klaikong and Data visualization

ผมสัมภาษณ์ พี่แต๊ก ไกลก้อง ไวทยการ (@klaikong) เอาไว้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2553 ที่ผ่านมา ระหว่างเวิร์กช็อป “Open Data Hackathon” ที่ Opendream คุยกันเรื่องความเคลื่อนไหว “ข้อมูลภาครัฐแบบเปิด” หรือ “ข้อมูลสาธารณะแบบเปิด” (Open Government Data หรือ Open Public Data) กับความจำเป็นของสังคมไทยที่ภาครัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะเข้าถึงได้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถร่วมพัฒนาประเทศไปพร้อม ๆ กัน ด้วยการตัดสินใจบนข้อมูลที่รอบด้าน ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว วันนี้เพิ่งถอดเทปเสร็จ

มีคุยกันเรื่องรูปแบบข้อมูล รวมถึงความเป็นไปได้ในการจะออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง :

เรื่องมาตรฐานข้อมูลเนี่ย ประเทศเราทำไม่ได้จริงซะที คุยกันมานานแล้ว ว่าจะต้องมีระบบมาตรฐาน จะต้องมี standard อะไรต่าง ๆ XML ฯลฯ แต่ถึงทุกวันนี้ เท่าที่เห็น ร้อยละ 80 ข้อมูลก็ยังอยู่ในรูปแบบ PDF ซึ่งอันนี้มันสะท้อนเรื่องวิธีคิดว่า ข้อมูลนี้ก็ยังเป็นข้อมูลของหน่วยงานนั้นอยู่ ถ้าอยากได้ข้อมูลดิบ (raw data) เพื่อจะเอาไปใช้ก็ต้องขออนุญาตก่อน เพราะ PDF มันเอาไปใช้ทำอะไรต่อไม่ได้ ไฟล์ PDF มันสะท้อนความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของของข้อมูลอยู่

ถ้าเราพูดถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล ตัว PDF ก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์นี้ ... มันไปจบแค่การเปิดเอกสารเพื่อดู ... ข้อมูลที่อิเล็กทรอนิกส์ที่จะแลกเปลี่ยนกันแล้วมีประโยชน์เอาไปใช้ต่อได้ มันต้อง “อ่านด้วยเครื่องได้” (machine readable)

สำหรับภาครัฐแล้ว เรามองอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อ ดูได้จากการเอากฎหมายสื่อมาใช้กับอินเทอร์เน็ต พอมองเป็นสื่อนั่นแปลว่าการเปิดข้อมูลคือการเผยแพร่ แค่เผยแพร่ก็จบ ... มันไม่ใช่ มันต้องไม่จบแค่ขั้นการเผยแพร่

คุยกันเรื่องมิติทางการปกครอง การพัฒนาท้องถิ่น และเศรษฐกิจ ของข้อมูลสาธารณะแบบเปิด :

ถ้าเราคิดว่า ข้อมูลภาครัฐทั้งหมดนั้นมันสร้างขึ้นมาด้วยเงินภาษี ด้วยเงินของสาธารณะ ข้อมูลภาครัฐเหล่านี้ก็ควรจะเป็นข้อมูลสาธารณะ ซึ่งเมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว ข้อหนึ่งก็คือ มันต้องเปิดให้สามารถเข้าถึงได้ สองคือ ต้องเปิดในลักษณะที่ทุกคนสามารถเอาข้อมูลนั้นไปใช้ต่อได้ โดยไม่มีข้อจำกัด

การรวบรวมข้อมูลยังไงมันก็เป็นแบบล่างขึ้นบน แต่ปรากฎว่าเมื่อข้อมูลมันไหลขึ้นไปสู่ข้างบนแล้ว มันไม่เคยไหลกลับมาสู่ข้างล่างเลย ... เวลาเราพูดถึงการกระจายอำนาจ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ท้องถิ่นต้องมีชุดข้อมูลเพื่อให้ทำงานได้ ให้ตัดสินใจได้ แต่ที่ผ่านมาท้องถิ่นไม่เคยมีข้อมูลเลย แล้วก็เลยไม่มีทักษะในการใช้ข้อมูลไปด้วย ... ดังนั้น หนึ่งเลย ข้อมูลที่ท้องถิ่นส่งขึ้นไป ต้องถูกส่งกลับลงมาให้ท้องถิ่นใช้ด้วย

ทุกคนต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ โครงการนี้จะดีหรือไม่ดีกับบ้านฉันไหมตัวฉันไหม ก็จะทำให้ไม่ถูกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ว่าจะฝ่ายสนับสนุนหรือคัดค้าน ใช้การโน้มน้าวได้ ทุกคนมีข้อมูล และตัดสินใจบนข้อมูลเหล่านี้

เวลาเราบอกว่าเปิดให้ “ทุกคน” เข้าถึงได้ มันรวมถึงภาคธุรกิจด้วย ซึ่งถ้าภาคธุรกิจนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ แล้วมันสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ มันก็เหมาะสม ซึ่งตราบใดที่ข้อมูลเหล่านี้มันไม่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคง มันก็ควรจะต้องถูกเปิด

อ่านฉบับเต็มที่บล็อกโอเพ่นดรีม - ไกลก้อง ไวทยการ: "Open Data จะทำให้ประเทศเราวิ่งได้เร็วขึ้นอีกมาก"

ปี 2554 ที่จะถึงนี้ โอเพ่นดรีม, ChangeFusion, ธนาคารโลก สำนักงานกรุงเทพ และเพื่อน ๆ รวมถึงเครือข่ายพลเมืองเน็ต จะมีกิจกรรมเกี่ยวกับ Open Public Data ตลอดทั้งปี ตามความถนัดและจุดเน้นของแต่ละองค์กร ขอเชิญชวนทุกคนที่สนใจมาแจมกัน - ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ OpenData.in.th

technorati tags: , , , ,

No comments: