อยากไปเดินบ้าง~~~!
รัฐบาลท้องถิ่นเบอร์ลิน เปิดสวนสาธารณะแห่งใหม่เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา มันเคยเป็นสนามบิน ชื่อ Berlin Tempelhof
Tempelhof เป็นสนามบินที่ผมไม่เคยใช้ ไม่เคยไป ได้แต่ผ่านเฉียดไปเฉียดมา
เบอร์ลินสมัยที่ผมอยู่ มี 3 สนามบิน คือ Tempelhof (THF), Tegel (TXL), และ Schönefeld (SXF) — อันหลังนี่ จริง ๆ มันอยู่นอกเบอร์ลินไปหน่อย อยู่ในรัฐ Brandenburg
ตอนไปเบอร์ลินครั้งแรก ผมนั่ง EasyJet ไปลง Schönefeld (คิดว่าน่าจะมาจากสนามบิน Luton - ไม่ค่อยชัวร์) ส่วนตอนกลับเมืองไทย ผมกลับ Austrian Airlines จาก Tegel
Tegel เป็นสนามบินอันนึงที่ผมชอบ คือมันเล็กดี แล้วมันเป็นวงกลม (หกเหลี่ยม) = เดินง่ายและไม่เหนื่อย วิกิพีเดียบอกว่า ระยะทางจากเครื่องบินไปจนถึงประตูทางออกจากอาคารผู้โดยสาร แค่ 30 เมตร! โคตรแฮปปี้เลยครับ นึกถึงดอนเมืองในประเทศ ที่เดินได้ชิล ๆ ไม่ต้องรีบ แล้วเทียบกะสุวรรณภูมิ ที่นอกจากจะโคตรยาว ไม่มีขนส่งมวลชนภายใน แล้วยังดันมีแต่ซุ้ม King Power ให้เกะกะเล่นตลอดทาง
ในหนังสายลับยุคสงครามเย็น เราจะเห็น Tegel อยู่บ่อย ๆ มันเป็นสนามบินหลักสนามบินหนึ่งในช่วงนั้น
Tegel สร้างในช่วงปฏิบัติการ
Berliner Luftbrücke
สะพานอากาศเบอร์ลิน
หลังจากที่โซเวียตตัดการเดินทางทางบกเข้าสู่เขตปกครองของสัมพันธมิตรในเบอร์ลิน สัมพันธมิตรเลยตอบโต้ด้วยปฏิบัติการนี้ ขนเสบียงอาหารและของใช้ต่าง ๆ เข้าเบอร์ลินทางอากาศ โดยสหราชอาณาจักรใช้สนามบิน Gatow สหรัฐอเมริกาใช้ Tempelhof ส่วนฝรั่งเศสใช้ Tegel แต่ละสนามบินที่ว่ามา อยู่ในเขตปกครองของแต่ละประเทศสัมพันธมิตร เบอร์ลินสมัยนั้นแยกเป็นสี่เขตปกครอง
อนุสรณ์สถาน Luftbrückendenkmal ที่ Tempelhof เพื่อระลึกถึงภารกิจ Luftbrücke ที่ฐานจำรึกข้อความ — Sie gaben ihr Leben für die Freiheit Berlins im Dienste der Luftbrücke 1948/49
— พวกเขาสละชีวิตของพวกเขาเพื่ออิสรภาพของเบอร์ลิน ระหว่างภารกิจสะพานอากาศ 1948/49
การปิดกั้นเบอร์ลินของโซเวียตและปฏิบัติการสะพานอากาศนี้ นำไปสู่การแบ่งเยอรมนีออกเป็นสองส่วน เขตปกครองของโซเวียต กลายเป็นเบอร์ลินตะวันออก ใช้สนามบิน Schönefeld ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง ซึ่งอยู่ในเยอรมนีตะวันออก ส่วนเขตปกครองของสหรัฐอเมริกา-สหราชอาณาจักร-ฝร่ังเศส กลายเป็นเบอร์ลินตะวันตก ใช้ Tempelhof และ Tegel ส่วน Gatow นั้นเป็นสนามบินทางการทหารเพียงอย่างเดียว
Tempelhof สร้างก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่สร้างขึ้นช่วงนาซี ได้กลายเป็นแลนด์มาร์กอันหนึ่งของเบอร์ลินใหม่ ตามแผน เมืองหลวงโลก
Welthauptstade Germania
ที่ฮิตเลอร์และกลุ่มสถาปนิกของเขาได้วาดเอาไว้ (นอร์แมน ฟอสเตอร์ สถาปนิกอังกฤษ บอกไว้ประมาณว่า มันเป็น พ่อสนามบินทุกสถาบัน
) หลังอเมริกาและสัมพันธมิตรเข้ายึดเบอร์ลินได้ บริเวณ Tempelhof ก็ตกอยู่ใต้ปกครองของอเมริกา
Gatow ปิดตัวลงไปไม่นานหลังการรวมเยอรมัน Tempelhof ปิดตัวลงในปี 2008 ส่วน Tegel จะปิดในปี 2012 หลังจากนั้นเบอร์ลินจะเหลือสนามบินพาณิชย์แห่งเดียว คือ Schönefeld ซึ่งจะใช้ชื่อเป็น Berlin-Brandenburg International Airport
ชื่อสนามบินแห่งใหม่นี้เต็ม ๆ ในภาษาเยอรมันคือ Flughafen Berlin Brandenburg „Willy Brandt“ เพื่อเป็นเกียรติแก่ วิลลี บรันดท์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตก ที่ดำเนิน นโยบายตะวันออก
Ostpolitik
ปรับปรุงความสัมพันธ์กับเยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ และสหภาพโซเวียต
นโยบายของเขาก่อให้เกิดการโต้แย้งอย่างมากในเยอรมนีตะวันตก เขาได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1971
วันที่ 7 ธันวาคม 1970 วิลลี บรันดท์ นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี คุกเข่าต่อหน้าอนุสาวรีย์วีรชนชาวโปแลนด์ในการต่อสู้ต่อต้านนาซี ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ขอโทษประชาชนชาวโปแลนด์ที่ถูกฆ่าตายด้วยฝีมือนาซีไปถึง 6 ล้านคน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ขณะที่ไปเยือนอนุสาวรีย์วีรชนโปแลนด์ในการต่อสู้ต่อต้านนาซี โดยไม่มีใครคาดคิด วิลลี บรันดท์ ได้คุกเข่าลงทั้งสองข้าง ภาพนี้เป็นข่าวไปทั่วโลก มีผู้ถามบรันดท์ในภายหลังว่า เขาได้วางแผนหรือทำไปด้วยความรู้สึกโดยอัตโนมัติ เขาตอบแต่เพียงว่า ขณะนั้น เวลานั้น ต้องมีผู้ทำอะไรสักอย่าง
ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการขอโทษครั้งนี้ ก็คือการขอโทษในฐานะตัวแทนของชาวเยอรมันทั้งหมด วิลลี บรันดท์ มิใช่ผู้นำเยอรมันในการทำสงคราม ชาวเยอรมันรุ่นเขาแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสงครามเลยก็ว่าได้ เขาเป็นเพียงลูกหลานของบรรพบุรุษผู้เคยกระทำผิด ในฐานะผู้นำของประเทศที่เคยกระทำผิดทางประวัติศาสตร์กับประชาชนของอีกประเทศหนึ่ง และในภาวะที่คำพูดไร้ซึ่งความหมาย - เขาได้คุกเข่าลง
...
วิลลี บรันดท์เดินทางไปโปแลนด์เพื่อร่วมลงนามในสนธิสัญญากรุงวอร์ซอ ผลของสนธิสัญญา เยอรมันสูญเสียดินแดน 1 ใน 4 ของอาณาจักรไรซ์เดิมให้กับโปแลนด์ ชาวเยอรมันที่ตกค้างในโปแลนด์จำต้องอพยพกลับสู่เยอรมัน ชาวเยอรมันบางส่วนไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญานี้ แต่บรันดท์ชี้แจงว่า เยอรมันจำต้องจ่ายสิ่งเหล่านี้คืนให้กับความสูญเสียจากสงคราม เพื่อที่จะตัดห่วงโซ่แห่งความอยุติธรรมที่เป็นผู้ก่อขึ้น
— คำขอโทษที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์, ใน วิลลี บรันดท์-หมอป่วย-ตากใบและ บก.ฟ้าเดียวกัน. บทความวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 497
นายกเทศมนตรีเบอร์ลินบอกกับพวกเราว่า เมืองเบอร์ลินจะไม่รื้อรันเวย์ออกจาก Tempelhof เพื่อให้ผู้คนที่มาใช้สวนสาธารณะ ได้เห็นอนุสรณ์แห่งประวัติศาสตร์นี้
ต้นพฤศจิกานี้ ผมจะไปเบอร์ลิน ไม่พลาดแน่ ไม่เคยใช้สนามบิน ก็ขอไปเดินบนรันเวย์ละกัน ...
ป.ล. กด ๆ วิกิพีเดียเล่น ไปเจอไอ้นี่ Staaken เขตเล็ก ๆ ด้านตะวันตกของเบอร์ลินตะวันตก ที่ยังไงไม่รู้ สลับไปเป็นเบอร์ลินตะวันออกเฉยเลย มี East/West Staaken ใน East/West Berlin ใน East/West Germany .. เพี้ยนดี
technorati tags: Tempelhof, Berlin, memorial, public parks
No comments:
Post a Comment