ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2010-02-20

Me on #ICT2020 plan

วันนี้ไปงานระดมความเห็นเรื่องแผนไอซีทีในระยะ 10 ปีข้างหน้า (ICT2020) กลุ่ม civic empowerment (คืออะไรก็ไม่ค่อยแน่ใจ ผมก็มั่วไป) ที่เนคเทคเป็นเจ้าภาพ (ผมไป แทน หลายคนมาก ๆ ประมาณว่าแปะมือกัน)

ผมได้เสนอในวงและยังยืนยันว่า ในการทำนโยบายทางสังคมใด ๆ จำเป็นต้องคิดถึงกลุ่มชายขอบทางการเมืองด้วย ไม่ใช่เพียงกลุ่มชายขอบทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ

กลุ่มชายขอบทางการเมือง คือ กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายหรือกิจกรรมของรัฐ กลุ่มคนที่รัฐมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ต่อศีลธรรมอันดีงาม และกลุ่มคนที่ถูกแปะป้ายว่า หัวรุนแรง

คนเหล่านี้ก็เป็นพลเมืองหรือผู้ส่วนได้ส่วนเสียในสังคม และไม่ควรจะต้องถูกกันออกไป เพียงเพราะเขาคิดไม่เหมือนกับรัฐ

ตัวอย่างของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายหรือกิจกรรมของรัฐ ที่ได้ผลกระทบที่เกี่ยวกับสารสนเทศ ในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูล เช่น ชุมชนในมาบตาพุดและประจวบ ที่ขอดูเอกสารประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากรัฐ แต่ถูกปฏิเสธ โดยอ้างเหตุผลเรื่อง ความมั่นคง

ถ้าทัศนคติแบบนี้ยังมีอยู่ และข้ออ้างแบบนี้ยังฟังขึ้น ก็ป่วยการที่จะพูดถึงเทคโนโลยีสารพัดที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร — เพราะถึงมีเทคโนโลยีไป รัฐก็ไม่เปิดอยู่ดี

แค่โยนบรอดแบนด์ตูมลงไป แล้วหวังจะให้เกิดสังคมข้อมูลข่าวสารและปริมณฑลสาธารณะ แบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มันเป็นไปไม่ได้ – ต้องเปลี่ยนทัศนคติของรัฐและสังคมด้วย ในเชิงรูปธรรมก็คือกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ รวมถึงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ก็ต้องสอดคล้องให้มันเปิดให้เข้าถึงได้ด้วย เทคโนโลยีมันถึงจะได้ทำงาน


ในประเด็นสิทธิและบริการที่ขยายไปให้มากกว่าที่ให้กับพลเมือง ผมหมายถึงกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับชุมชนสังคมไทย ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นพลเมืองไทยหรือไม่ก็ตาม แต่ในฐานะที่พวกเขาก็ได้ทำอะไรบางอย่าง (contribute) ให้กับสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นในรูปของแรงงาน ศิลปวัฒนธรรม เงินภาษี ฯลฯ คนเหล่า นี้แม้จะไม่ได้เป็นพลเมืองไทย ก็ควรจะได้รับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการไอซีทีบางอย่างตามสมควรด้วย

ทุกวันนี้ คนทุกคนในสิงคโปร์เข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายได้ทั่วทั่งเกาะ ขอให้มีเบอร์โทรศัพท์มือถือไว้ลงทะเบียนรับรหัสผ่านครั้งแรกก็พอ — Wireless@SG

ผมกำลังพูดถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นพลเมืองไทย และอาจไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร แต่ถึงอย่างไรพวกเขาก็ควรจะเข้าถึงข้อมูลและบริการพื้นฐานได้ — คิดในกรอบของสิบปีข้างหน้า ที่การเข้าไม่ถึงไอซีทีก็เท่ากับจำกัดสิทธิทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ได้เหมือนกัน

จินตนาการถึง การเคลื่อนย้ายแรงงาน (mobility) ที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งจากภายในประเทศเอง และจากอาเซียนซึ่งจะควบรวมกันมากขึ้น

บริการใด ๆ ที่ยังผูกกับจากใช้ที่อยู่ทะเบียนบ้านจดทะเบียน จะกันคนจำนวนมากออกไปโดยทันที เพราะจะมีคนจำนวนมากที่ไม่มีทะเบียนบ้าน (นอกจากแรงงานจากนอกประเทศ และนักท่องเที่ยวแล้ว ยังมี คนไร้บ้าน ในเมืองใหญ่ต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น — ญี่ปุ่นและแคนาดาก็มีแนวโน้มเดียวกัน) ถ้าจะพัฒนาไอซีทีในยุค high mobility ที่คนเคลื่อนไหวไปมามากขึ้น ๆ ก็จำเป็นต้องขจัดข้อจำกัดในทางทะเบียนหรือทางกฎหมายลักษณะนี้ออกไปด้วย

จริง ๆ นักเรียน นักศึกษา จากต่างบ้านต่างเมืองต่างประเทศ ที่อยู่หอพัก ก็ประสบปัญหาเหล่านี้อยู่แล้วในปัจจุบัน คือสมัครบริการอินเทอร์เน็ตเองไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในทะเบียนบ้าน ข้อบังคับของหอพัก ฯลฯ ทำให้ต้องใช้บริการอินเทอร์เน็ตของหอพัก ที่ก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง แพงบ้างไม่แพงบ้าง — คนที่อยู่หอพักหรือบ้านเช่าแบบนี้จะมีจำนวนมากขึ้นอีกมาก ในสิบปีข้างหน้า


สำหรับประเด็นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ โดยหลักใหญ่ใจความแล้ว ผมคิดว่าไอเดีย Universal Design ที่ มณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย นำเสนอในวง นั้นน่าจะครอบคลุมเกือบทั้งหมด เมื่อเสริมกับประเด็นทางเศรษฐกิจการเมือง คือความเป็นเจ้าของและโครงสร้างการควบคุม ก็น่าจะครอบคลุมเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งหมดแล้ว (คิดว่า)

มีเสริมเรื่องภาษาหน่อยนึง คือนอกจากภาษาหลากหลาย ภาษาถิ่น แล้ว ยังมีประเด็นเรื่อง ภาษาที่อ่านเข้าใจได้ ด้วย คือใช้ภาษาที่อ่านไม่ยาก เรียบง่าย ไม่ยาวเกินไป คนทั่วไปอ่านเข้าใจ ใช้เวลาไม่นาน — เรื่องนี้สำคัญ เพราะ ภาษา เป็น interface สำคัญในสังคมข้อมูลข่าวสาร ถ้าอะไรที่จำเป็นต้องอ่าน แต่ดันอ่านยากเกินไป มันก็แย่ — ดู Plain Language Movement


นโยบายก็อย่าง แต่จะดำเนินการให้ได้ตามนั้นอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร ก็อีกเรื่องหนึ่งอ่ะนะ ... ลองดูตัวอย่าง

มีอีกหลายเรื่อง เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ศูนย์ไอทีชุมชน การอ่านออกเขียนได้ — รออ่านสรุปวงคุย 2 วัน เรื่อง civic empowerment นี้ ที่เว็บไซต์ ict2020.in.th


ขอบคุณคนชวน (กองทุนไทย, แผนงานไอซีที สสส., เครือข่ายพลเมืองเน็ต) และเนคเทคที่จัด งานนี้ได้ความรู้เยอะมาก

ขากลับแวะหนองมน ซื้อปลาหมึกบดและปลาหมึกทุบมาอย่างละถุง เย่

technorati tags: , , , ,

No comments: