ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2009-09-26

(เพื่อ "ภูมิซรอล") [review] ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. โดย จิตร ภูมิศักดิ์.

เทอมที่แล้ว เรียนวิชามานุษยวิทยาภาษากับยุกติ หนังสือเล่มแรกที่ทุกคนต้องอ่านและวิจารณ์ ก็คือ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ โดย จิตร ภูมิศักดิ์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม, 2544 [2519]).

(ทั้งหมดต้องวิจารณ์สองเล่ม. อีกเล่มนั้น แล้วแต่ว่าใครจะเลือกเล่มไหน, จาก 3-4 เล่มที่ยุกติเลือกมาอีกที, ซึ่งผมเลือก Portraits of “the Whiteman”: Linguistic play and cultural symbols among the Western Apache โดย Keith Basso (Cambridge: Cambridge University Press, 1995 [1979]) ตามที่เคยโพสต์แบ่งกันอ่านไว้แล้ว)

ช่วงนี้มีข่าว เรื่องเขมร ๆ โผล่มาบ่อย เริ่มจากการประท้วงของพันธมิตรที่ปราสาทพระวิหาร ตามด้วยเรื่องกลุ่ม 40 ส.ว. นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน ภูมิซรอล เพราะเป็นคำเขมร :

ควรเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่ เพราะชื่อนี้เป็นภาษาเขมร ที่แปลเป็นๆไทยว่าแผ่นดินอุดมสมบูรณ์ แสดงว่าประชาชนชาวเขมรอุดมสมบูรณ์ไม่ใช่ประชาชนไทยสมบูรณ์

ส่วนชาวบ้านภูมิซรอลก็ตอกกลับ ให้ไปเปลี่ยนบ้านตัวเองเถอะ ฉันอยู่ของฉันมาดี ๆ จะมายุ่งอะไรชื่อหมู่บ้านฉัน ในข่าวนั้น มีพูดถึง ภาษาส่วย ด้วย

ยังมีความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อีกมากมาย เช่นบทความสองชิ้นนี้ : ภูมิซรอล (ตอนวิหารแห่งความเขลา) โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี (Mekong Review) และ ชาติที่ภูมิซรอลกับชาติที่มัฆวาน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ (มติชนรายสัปดาห์ 25 ก.ค. 2551)

วันนี้เลยเอาตัวที่วิจารณ์ความเป็นมาของคำสยามฯ มาแบ่งกันอ่านด้วย มีเรื่องคำเขมร คำไทย คำส่วย ฯลฯ พวกนี้อยู่บ้าง คนในภูมิภาคนี้สัมพันธ์กันอย่างไร

ดาวน์โหลด PDF (196 KB), OpenDocument (27 KB)เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา 3.0 ประเทศไทย

จะว่าไปแล้ว รายงานฉบับนี้จะเรียกว่า วิจารณ์ ก็คงจะไม่ถนัดนัก เพราะน่าจะเป็นแค่สรุปเนื้อหาโดยย่อพร้อมข้อสังเกตเพิ่มเติมนิดหน่อยมากกว่า ส่วนที่เป็นการวิพากษ์จริง ๆ นั้น น้อยมาก. เนื้อหาบางส่วนมีดังนี้ :

ในชื่อของภาคที่หนึ่ง “พื้นฐานทางนิรุกติศาสตร์และประวัติศาสตร์” ผมไม่แน่ใจว่า จิตรเลือกอธิบายวิธีที่เขาใช้ว่าเป็น นิรุกติศาสตร์ (philology) แทนที่จะเป็น ภาษาศาสตร์ (linguistics) อย่างตั้งใจจะเปรียบต่างกันหรือไม่, ด้วยศาสตร์บางสาขาที่เขาใช้ เช่น สรวิทยา (phonology) นั้นนับเป็นศาสตร์ในภาษาศาสตร์มากกว่า. นิรุกติศาสตร์นั้นสนใจรูปและความหมายของการแสดงออกทางภาษา โดยได้รวมเอาแง่มุมจากสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น การตีความอย่างในวรรณกรรมศึกษา และการศึกษาที่มาและการเปลี่ยนแปลงอย่างใน ภาษาศาสตร์เชิงประวัติ (historical linguistics) และ ศัพทมูลวิทยา (etymology) มาไว้ด้วยกัน, การใช้คำว่านิรุกติศาสตร์ จึงมีความหมายในทางการศึกษาพัฒนาการเชิงประวัติอยู่ด้วย เป็นการเน้น การศึกษาภาษาผ่านช่วงเวลา (diachronic analysis) เปรียบต่างกับ การศึกษาภาษาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง (synchronic analysis) ซึ่งถูกทำให้เป็นที่นิยมโดย แฟร์ดิน็อง เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure, 1857-1913). เมื่อแนวทาง synchronic analysis อย่างโซซูร์เป็นที่นิยม คำว่า “ภาษาศาสตร์” โดยทั่วไป หากไม่ได้ระบุเป็นอย่างอื่นไว้ ก็กลายหมายถึงการศึกษาแบบ synchronic analysis ไปหมด, การใช้คำว่า “นิรุกติศาสตร์” ในยุคหลังจากนั้น จึงเป็นการเน้นความเป็น diachronic analysis.

ตามความเห็นของจิตร ชนชาติที่เจริญกว่าหรือมีฐานะเหนือกว่าทางสังคม มักเรียกชนชาติที่ล้าหลังกว่าหรืออยู่ในอำนาจปกครองด้วยชื่อที่มีความหมายต่ำทรามหรือเหยียดหยามดูถูก ซึ่งการเรียกเหล่านี้ปรากฏออกมาในสองกระแสใหญ่คือ 1) การดูถูกทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ โดยไม่ยอมรับว่าชนชาตินั้นเป็นมนุษย์เสมอตน โดยอาจเป็น สัตว์ หรือเป็น อมนุษย์ อย่าง ผี ปีศาจ 2) การดูถูกโดยฐานะทางสังคม คือยอมรับว่าชนชาตินั้นเป็นมนุษย์ แต่เป็นมนุษย์ระดับต่ำกว่า โดยอาจะเป็น ขี้ข้า อย่าง เชลย ทาส หรือเป็น คนป่าเถื่อน ไม่เจริญ มีความผิดปกติไปจากสังคมของตน. เหล่านี้คือชื่อที่ความหมายต่ำทราม ซึ่งชนชาติหนึ่งจะใช้เรียกชนชาติอื่น. ตัวอย่างของการเรียกลักษณะนี้เช่น ชื่อ ‘ส่วย’ ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกหลายชนชาติ มากจากคำว่า “ไพร่ส่วย” ซึ่งเป็นฐานะทางสังคมซึ่งตกเป็นเบี้ยล่างของชนชาติเหล่านั้นในช่วงเวลาหนึ่ง (น. 282-291).

ปฏิกริยาตอบโต้จากชนชาติที่ถูกเรียกอย่างดูถูกเหยียดหยามในสองรูปแบบดังกล่าวข้างต้น ปรากฏออกมาให้เห็นในชื่อชนชาติที่เรียกตัวเองว่า 1) เป็นมนุษย์ 2) เป็นมนุษย์ที่เจริญ ซึ่งจิตรจัดให้เป็นความหมายที่ดีงามกระแสที่หนึ่ง. ส่วนกระแสที่สองคือ ชื่อชนชาติที่แสดงความยิ่งใหญ่สูงส่ง ซึ่งอาจเป็น ความยิ่งใหญ่ทางการเมืองการปกครอง หรือ ความยิ่งใหญ่ทางอารยธรรม. เหล่านี้คือลักษณะของชื่อที่มีความหมายดีงาม ซึ่งชนชาติหนึ่งจะใช้เรียกตัวเอง. ตัวอย่างเช่น นาค “คนแข็งแรง” (น. 257-258), ขมุ “คน”, มระบรี “คนอยู่ป่า”, กะยา “คน” ฯลฯ, หรือการที่ไตหนานเจ้าใช้ตัวอักษร 大 (ไต่, ไต้, ต้า แปลว่า ใหญ่, ยิ่งใหญ่, มหา) เพื่อติดต่อกับจีนเอง เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่เทียมจีน (น. 180-183).

เมื่อพิจารณาตามจิตรนี้ ชื่อที่ชนชาติหนึ่งใช้เรียกตัวเอง ก็สามารถบอกถึงลักษณะทางสังคมของชนชาตินั้น ในสายตาของชนชาตินั้นเองหรือในสายตาของชนชาติอื่นได้. ส่วนชื่อที่ชนชาติหนึ่งใช้เรียกอีกชนชาติหนึ่ง หรือ ชื่อที่ชนชาติหนึ่งใช้เรียกตัวเองในภาษาของอีกชนชาติหนึ่ง (เช่นกรณีชื่อที่ไตหนานเจ้าใช้เรียกตัวเองในภาษาจีน) ก็สามารถบอกถึงลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างชนชาติได้.

จิตรอาศัยความรู้ทางสรวิทยา ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของภาษาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องเสียง อธิบายการเลื่อนเสียง-เปลี่ยนรูปของคำ โดยอธิบายว่าแต่ละชนชาติก็ปรับการออกเสียงให้เข้ากับลิ้นของตน ซึ่งมีลักษณะการออกเสียงที่ทำได้-ทำไม่ได้อยู่ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปเสียง เช่น กรณีของคำว่า สาม-อาสาม-อัสสัม (น. 117-118). การเลื่อนเสียง-เปลี่ยนรูปเหล่านี้ ไม่ได้ทำอย่างไร้หลักเกณฑ์ เช่น การผันเสียงก็มี “กฎธรรมชาติของเสียง” กำกับอยู่ ดังที่จิตรได้กล่าวถึงคือ การตัดเสียงกล้ำทิ้งไป (น. 409), การเปลี่ยนเสียงพยัญชนะ (น. 409-411), และการแยกคำกล้ำออกเป็นสองพยางค์ (น. 411-414).

ส่วนรูปเขียนของคำที่เปลี่ยนไปก็มาจากการพยายามสะกดให้ตรงกับเสียงที่ออก แต่ในบางภาษาก็อาจเป็นได้ว่า เขียนอย่างหนึ่งแต่ออกเสียงอีกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อรักษารูปคำเดิมที่ยืมมาไว้ เช่น การที่พม่าเขียน ‘ชาม’ แต่ออกเสียง ‘ชาน’ เพราะออกเสียงสะกดแม่กมไม่ได้ จึงต้องออกเสียงแม่กนแทน เป็น ‘ชาน’ แต่ที่เขียน ‘ชาม’ จิตรเสนอว่าก็เพื่อรักษารูปคำเดิมไว้ ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นการยืนยันว่า คำ ‘ชาน’ ในภาษาพม่านั้น มีรากเดียวกับคำว่า ‘ชาม’ ‘ซาม’ ‘เซน’ ‘ชิอาม’ ‘ซ๎ยาม’ ‘ศฺยาม’ และคำในภาษาอื่น ๆ ในบริเวณพม่า-ยูนาน-อัสสัม ที่ใช้เรียกคนไต (ภาคที่หนึ่ง บทที่ 2 “ชานและชาม”) หรืออักขรวิธีของไทยภาคเหนือ ที่เขียน ‘กร-’ แต่ออกเสียง ‘ข-’ เช่นเขียน ‘กรอม’ แต่ออกเสียง ‘ขอม’ (น. 414).

… ที่พจนานุกรมคังซีของจีน ให้อ่านอักษรที่ใช้เรียกชื่อชนชาติส้านหรือเสี้ยน ว่า ‘ถาน’ นั้น น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดใน “เค้าเสียง” คือ อ่านเอาตามส่วนผสมที่บอกแนวทางเสียงในประกอบอยู่ในอักษร แต่ในกรณีของชื่อชนชาติส้านนั้น เสียงพยัญชนะที่ออกนั้นห่างจากเค้าเสียงไปไกล ผู้ที่ไม่มีความรู้ในเรื่องชื่อชนชาติ อาศัยดูจากเค้าเสียงเพียงอย่างเดียว ก็อาจออกเสียงผิดพลาดได้ (น. 146-148). อีกกรณีที่เกี่ยวข้องคือ การใช้อักษร ‘ถาน’ ในเอกสารจีนยุค พ.ศ. 1400 นั้นก็น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิด สับสนกับอักษร ‘ส่าน’ เนื่องจากตัวอักษร ‘ถาน’ และ ‘ส่าน’ (คนละตัวกับ ‘ส้าน’) นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก (น. 141, 143, 147). ข้อสังเกตของจิตรในประเด็นนี้ เตือนเราว่าการศึกษาจากเอกสารประวัติศาสตร์จึงควรระมัดระวัง โดยเฉพาะที่ถ่ายทอดกันมาหลายต่อ และใช่ว่าบุคคลหรือเอกสารที่ดูมีความน่าเชื่อถือ (authority) สูง อย่างพจนานุกรมที่จัดทำโดยหน่วยงานรัฐ จะมีความถูกต้องทุกครั้งไป.

โปรดสังเกตว่าเอกสารฉบับนี้ (ใน PDF) ทดลองใช้มหัพภาคเป็นเครื่องหมายจบ ประโยค และ ญ หญิง แบบไม่มีเชิง (ภาษาไทยปัจจุบันเขียน ญ แบบมีเชิง) เลียนแบบต้นฉบับหนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ ของจิตร (หนังสือ วิทยาศาสตร์กับความจริงในวัฒนธรรมไทย โดย เสมอชัย พูลสุวรรณ (กรุงเทพ: คบไฟ, 2544) ที่อ้างถึงในตอนท้ายของบทวิจารณ์ ก็ใช้มหัพภาคจบประโยคเช่นกัน).

สำหรับผู้สนใจเรื่องเชิงของ ญ หญิง สามารถหาอ่านได้โดยละเอียดจากหนังสือ ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย โดย จิตร ภูมิศักดิ์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2548) (มีรูปให้ดูบางส่วนใน Pantip Topic Stock) และอ่านเรื่องเชิง ญ หญิง กับการแสดงผลในคอมพิวเตอร์จากบล็อกของ เทพพิทักษ์ การุญบุญญานันท์ (@theppitak): On Descenders of Yo Ying and Tho Than, Thai Script Origin, Phnom Penh Report.

technorati tags: , , , , , ,

3 comments:

bact' said...

ภูมิซรอล เขียนเป็นตัวโรมันได้ว่า 'Phumsaral'

bact' said...

เรื่อง 'ภูมินาม' ชื่อหมู่บ้าน สถานที่ มีที่มา เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนอย่างไร
เปลี่ยนชื่อภูมิซรอล กับคำเรียกหมู่บ้านชายแดนใต้, มูฮำหมัด ดือราแม (ประชาไท, 2009-09-28)

pattararanee said...

การอ่านบทความนี้
ต้องใช้สมาธิสูงมาก

โดยส่วนตัว สนใจเรื่องภาษาศาสตร์
เดี๋ยวมีเวลาว่างกว่านี้
จะกลับมาตั้งใจอ่านอีกรอบนะคะ

^^
ขอบคุณค่ะ