ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2008-09-06

New Blood, New Media in the New City

ไปเชียงใหม่มาเมื่อสองสัปดาห์ก่อน มีงานสัมมนาเกี่ยวกับสื่อใหม่/สื่อนฤมิต* จัดโดยคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจอคนเยอะแยะ เดินทางสู่ผู้คน

เลยงอกออกมาเป็นดูโอคอร์ตอนพิเศษ อย่างน่าดีใจ

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ channel.duocore.tv/new-media-in-chiang-mai

ขอบคุณทีมงานคณะการสื่อสารมวลชน + CAMT ทีม minimal gallery ขลุ่ย เมฆ ชา และพี่ปูคนขับรถที่พาเราไปทุกที่

บรรยากาศเชียงใหม่เปลี่ยนไปนิดหน่อย ที่ช้างคลานผมเห็นร้านที่เคยไปปิดลง หลายร้านบนถนนนั้นก็ปิดด้วย คนที่นั่นว่ามันไม่บูมเหมือนสองปีก่อน ที่มีงานพืชสวนโลก แต่รวม ๆ มันก็ยังเป็นเชียงใหม่นั่นแหละ ไม่ได้ต่างจากเดิม

จริง ๆ ที่ไหน ๆ มันก็เปลี่ยนทั้งนั้น และการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอ เหมือนใครซักคน (วิชา?) พูดระหว่างฝนตกหน้าร้าน minimal

“คนที่บอกว่าปายเปลี่ยนไปไม่ดีเลย ก็คนเชียงใหม่คนกรุงเทพนั่นแหละ คนปายเขาชอบ”

หรือที่แพทว่า

“คนเชียงใหม่ไม่รู้หรอกว่านิมมานเปลี่ยนไป คนเชียงใหม่เขาไม่ได้มานิมมาน มีแต่คนกรุงเทพแหละที่มาเที่ยว”

ใช่ หลายครั้งการเปลี่ยนแปลงมันโหดร้าย แม้กระทั่งกับ “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ไปนอนบ้านริมน้ำ ซื้อของตลาดน้ำ ตกค่ำ ๆ ก็นั่งเรือไปดูหิ่งห้อย มันก็ยังเป็นปัญหาได้ ถึงขนาดชาวบ้านบางคนลงมือตัดต้นลำพูริมบ้านตัวทิ้ง เพราะรำคาญนักท่องเที่ยว ที่มักจะล่องเรือมาดูหิ่งห้อยตอนเขาเข้านอนแล้ว หรืออาจยังไม่นอนแต่รู้สึกว่าเสียความเป็นส่วนตัว

จะว่าไป การพยายามจะหยุดเวลาหรือสร้างหน้าตาให้เหมือน “เดิม ๆ” อย่าง อัมพวา มันก็คือการเปลี่ยนแปลง คือความไม่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง อย่างปฏิเสธไม่ได้

มันไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยน

ประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงที่ เปลี่ยน หรือ ไม่เปลี่ยน แต่อยู่ที่ว่า การเปลี่ยนแปลงนั้น คนท้องถิ่น-ซึ่งต้องอยู่ที่นั่นทุก ๆ วัน เพราะมันเป็นบ้านเขาไม่ใช่แค่ที่ตากอากาศ-เขายินดีกับมันแค่ไหน การที่คนนอกจะไปกะเกณฑ์ว่า เชียงใหม่ต้องเป็นแบบนี้ ปายต้องเป็นแบบนั้น อัมพวา สามชุก ฯลฯ ต้องเป็นต่าง ๆ นานา

แต่ดูเหมือนแนวคิดคำว่า “วัฒนธรรม” ในสังคมไทย จะยังยึดอยู่กับคำว่า “อนุรักษ์” ความเปลี่ยนแปลงใด ๆ จึงเป็นปัญหาเสมอ

ของใหม่อะไรก็ตามมักจะเป็นตัวปัญหา สื่อใหม่/สื่อนฤมิตก็เป็นตัวปัญหาในสายตาสังคมและรัฐ ผมว่าไว้อย่างนั้นในงานสัมมนา

ที่เป็นตัวปัญหา เพราะสังคมและรัฐยังไม่รู้จะทำความเข้าใจและจัดการกับมันอย่างไร

สังคมไทยในจินตภาพของเรา เป็นสังคมที่โอบอ้อมอารี ผู้คนยิ้มแย้ม ช่วยเหลือเป็นมิตรกัน เมื่อเกิดเหตุเด็กฆ่าแท็กซี่ เราช็อก ไม่รู้จะอธิบายมันด้วยคำอธิบายที่เราเชื่อกันใช้กันมานานได้อย่างไร

ทางออกที่สะดวกที่สุด (และมักง่ายที่สุด) ก็คือ โยนความผิดบาปไปให้ของใหม่

เมื่อก่อนบ้านเราไม่มี “เกมออนไลน์” ไม่เคยมีปัญหาอะไร ไม่มีเด็กฆ่าแท็กซี่ มาวันนี้บ้านเรามี GTA แล้วก็มีเด็กฆ่าแท็กซี่ เฮ้ย GTA มันต้องเป็นต้นเหตุแน่ ๆ !!

ง่ายดีไหมครับ

สื่อใหม่ก็เหมือนกัน สิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ ทีวี วิทยุ เหล่านี้สังคมและรัฐรู้วิธีจัดการกับมัน รัฐเองมีกฎหมายไว้ควบคุม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหา สื่อนฤมิตที่มาใหม่สิที่เป็นตัวปัญหา อินเทอร์เน็ตที่มาใหม่สิที่เป็นตัวปัญหา

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่พ.ร.บ.ฉบับแรกที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ-อนุรักษ์นิยมที่มาจากการรัฐประหาร หยิบมาพิจารณาและผ่านอย่างรวดเร็ว ก็คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์-ซึ่งมีมาตราที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ — เขา้ต้องมีเครื่องมืออะไรมาควบคุม เพื่อให้เขาพ้นจากความกลัวดังกล่าว

ดู ๆ ไป ก็เป็นสังคมที่ปกครองกันด้วยความกลัวตั้งแต่รากฐานจริง ๆ คือ รัฐก็ออกกฎหมายเพราะกลัว ผู้คนก็ทำตามกฎหมายเพราะกลัวความผิดตามกฎหมาย (หรือถ้าเป็นสมัยศาสนามีอำนาจ ก็คือทำ “ดี” เพราะกลัวบาป กลัวตกนรก) เราจะเรียกสังคมแบบนี้ว่าสังคมอารยะ (civic society) ไหม ? ผมว่าไม่นะ

คุยหลายเรื่อง จบไม่ลง ไม่ได้เขียนนาน เอาเป็นว่าตั้งคำถามหย่อนไว้เท่านี้แล้วก็หนีก่อนละกัน ลองคุยกันดูนะครับเพื่อน ๆ (ผมอาจจะไม่ได้ร่วมวงอย่างทันใจ แต่เชิญคุยกันเองได้เลยครับ)


* ผมค่อนข้างมีปัญหากับการใช้คำว่า “สื่อใหม่” เพื่อแทน New Media และอยากจะใช้คำอื่นแทน เช่น “สื่อนฤมิต” หรืออะไรก็ได้ที่มันมีความเจาะจงกว่า และไม่กำกวมอย่างคำว่า “สื่อใหม่” — คือ บางครั้งเราก็ไม่แน่ใจว่า เขาต้องการหมายถึงอะไร [สื่อ-ใหม่] (สองคำต่อกัน, ใหม่ ขยาย สื่อ) หรือ [สื่อใหม่] (คำเดียวกัน) — ในภาษาอังกฤษ เราสามารถใช้วิธี capitalize มันได้ ก็เขียน New Media ไปซะ ในบริบทที่ถ้าเขียน new media แล้วมันจะเป็นปัญหา — หรือในภาษาเยอรมันก็จะชัดเจนว่า เขาใช้คำว่า Neue Medien แทนที่จะเป็น neue Medien (คำนามในภาษาเยอรมันตัวแรกจะเขียนเป็นตัวใหญ่หมด ส่วน neue นั้นเป็นคำวิเศษณ์ ปกติต้องเขียนตัวเล็ก แต่ในที่นี้ คำว่า Neue Medien มันเป็นคำนามคำเดียวกัน ไม่ได้แยก) — แต่ภาษาไทยไม่มีกลไกระดับ typography อย่างนั้น (หรือ morphology ด้วย?) ทางที่ทำได้ก็น่าจะเป็นการเลี่ยงไปใช้คำอื่นซะ ข้อจำกัดพวกนี้-ประกอบกับเรื่อง ๆ อื่น น่าจะเป็นเหตุที่ทำให้มีการคิดศัพท์ใหม่ ๆ ขึ้น แทนที่จะใช้คำเดิม ๆ

technorati tags: , ,

6 comments:

Anonymous said...

ไอ้เรื่องการท่องเที่ยว..
คือด้วยความที่เป็นกระแสนะเราว่า เรื่องยิ่งเยอะ คนยิ่งแยะมันยิ่งเลยสร้างปัญหาในที่สุด .. แต่ตรงไหนล่ะ คือความพอดี ..

สำหรับเรา โอเค เออ! แม่ง ปายโคตรจะเปลี่ยนเลยวะ ภูกระดึงโคตรจะเปลี่ยนเลยวะ ..ถูก มันคือสายตาของนักท่องเที่ยว แต่ถ้าหลายๆ นักท่องเที่ยวเห็นตรงกัน ความเห็นนั้นควรจะได้รับการนำมาพิจารณารึเปล่า ? ถูก เราไม่ได้อยู่ที่นั่น คนที่นั่นต่างหากควรจะเป็นคนตัดสิน บางทีกระแสของความใหม่ ใครๆก็ชอบ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เค้ายอมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราว่าถ้ามันเป็นกรณีนี้ บางทีความเห็นของคนวงนอกอาจจะเห็นภาพในอนาคตชัดกว่าคนวงในก็ได้นะ

ปล.เบื่อจริงๆ กับททท.ที่ชอบสนใจแต่ตัวเลข อุ้ย!ปีนี้ธุรกิจการท่องเที่ยวเรา boom ขึ้นตั้ง 1,000 ล้านแหนะ ..แต่เคยกลับมาดูบ้างรึเปล่า ว่าเงินที่ได้กับไอ้สิ่งที่สูญเสียไปมันสัมพันธ์กันไม๊เนี่ย ? คุณวัดกันตรงไหนกันแน่ ? แล้วจริงๆ เราว่าคำว่า "อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว" มันดูไม่ค่อยจะเหมาะเลยเปล่าวะ .. "อุตสาหกรรม"มันดูต้องวัดอะไรที่เป็นตัวเลข มีปริมาณ มีจำนวน แต่จะเรียกว่า​"บริการ" มันก็ไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด ...

เออ! โทษที เริ่มจะนอกเรื่องล่ะ -_-"

bact' said...

ไม่ว่าจะมองว่ามันเป็น "อุตสาหกรรม" หรือไม่

เราก็ยังมองมันเป็น "ที่ท่องเที่ยว" ใช่มั๊ยล่ะ

แต่สำหรับคนที่อยู่ที่นั่น มันเป็น "บ้าน" นี่นา

Anonymous said...

แล้วคำว่า New Media ในภาษาอังกฤษ เวลาพูดออกเสียง มันฟังออกถึงความแตกต่างจาก new media ไหมครับ?

Unknown said...

``ผู้คนก็ทำตามกฎหมายเพราะกลัวความผิดตามกฎหมาย''

กำลังนึกภาพที่ผู้คนทำตามกฎหมาย ไม่ใช่เพราะกลัวความผิดตาม กม.

ถ้าถึงเวลานั้นจริงๆ, คงไม่จำเป็นต้องใส่บทลงโทษไว้ใน กม. เลย หรือเปล่า?

นึกต่อไปว่า ที่ใด มี กม. ประเภทนั้นบ้าง.
* วิกิพีเดีย?

Anonymous said...

กล่าวโดยย่อคือ ความกลัวไม่ดี "แต่" ความกลัวก็เป็นปัจจัยให้ทำความดีได้
ความกลัวมีอยู่ในทุกคน จะไปควบคุมบังคับบัญชาให้เกิดหรือไม่เกิดไม่ได้
แต่ความกลัวเป็นปัจจัย "ไม่ใช่เหตุ" ของการทำความดี เพราะความดี
เป็นกรรม เป็น freewill ของมนุษย์ ไม่ได้ทำขึ้นเพราะมีความกลัวเหตุ

สรุปสั้นๆ ความกลัวก็เป็นกรรมหนึ่ง พอกลัวแล้วระลึกถึงความดี จึงทำความดี
ความดีก็เป็นอีกกรรมหนึ่ง ไม่นับรวมกัน ถ้าจะให้ปราศจากความกลัวเสียเลย
แล้วถึงจะเรียกว่าสังคมอารยะ ก็หมายถึงสังคมของพระอริยบุคคล ที่ปราศจากปุถุชน

การเอาชนะความกลัวในใจจะทำได้ด้วยการ
ปฏิเสธการมีอยู่ของความกลัวกระนั้นหรือ หรือจะ
เอาชนะได้ด้วยการตระหนักถึงสภาวะธรรมที่แท้จริง
ของความกลัวจนกระจ่าง ก็เป็นสิ่งที่ปุถุชนต้องพิจารณา
ไตร่ตรอง เพื่อให้รู้ได้ด้วยตนเอง

Unknown said...

> แต่ความกลัวเป็นปัจจัย "ไม่ใช่เหตุ" ของการทำความดี เพราะความดี
> เป็นกรรม เป็น freewill ของมนุษย์ ไม่ได้ทำขึ้นเพราะมีความกลัวเหตุ

ก็อาจจะให้ทาน เพราะกลัวตกนรกก็ได้.
แต่ให้ทานไปโดยไม่ได้นึกถึงความดีเลย, ไม่ได้นึกอยากให้ผู้รับมีความสุข.
ขณะให้ก็ไม่ได้รู้สึกดีต่อผู้รับเลย, โดยคิดแต่เพียงว่าจะเป็นผลดีกับตัวเอง, ตัวเองจะไม่ต้องตกนรก.
คิดแต่เพียงว่านั่นเป็นการลงทุนเพื่อตัวเองเท่านั้น.

> ถ้าจะให้ปราศจากความกลัวเสียเลย
> แล้วถึงจะเรียกว่าสังคมอารยะ ก็หมายถึงสังคมของพระอริยบุคคล ที่ปราศจากปุถุชน

อารยะ กับ อริยะ ก็ออกเสียงคล้ายๆ กัน น่าจะเป็นอันเดียวกันมั้ง.
ถ้างั้น สังคมอารยะ หรือ civil society ก็คือ สังคมที่ปราศจากปุถุชน ใช่หรือไม่?

ผู้คนที่ทำตามกฎหมายไม่ใช่เพราะกลัวความผิดตามกฎหมาย,
ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องปราศจากความกลัวเสมอไปนี่นา,
แต่ผู้คนอาจจะทำตามกฎหมายเพราะตระหนักดีว่า การทำตามกฎหมายจะทำให้สังคมสงบสุข.
เมื่อถึงตอนนั้น, บทลงโทษใน กม., ก็ไม่ได้มีไว้ให้คนกลัว, แต่มีไว้เพื่อให้คนที่อาจเผลอทำผิด กม. ในบางเวลา อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ, ได้กลับมาฉุกคิด ได้สำนึก ว่า ตนกำลังมีส่วนจะทำให้สังคมไม่สงบสุข และ ได้คอยระวังตัวเตือนสติเตือนใจตัวเองมากขึ้น.
นี่ก็ไม่ใช่เพราะความกลัวความผิดตาม กม. เลย.