ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2008-05-03

Science Culture in Thailand - Translators as Cultural Workers

นักแปล คือ ผู้ทำงานทางวัฒนธรรม (ผมยืมมาจากชื่อหนังสือ “ครูในฐานะผู้ทำงานทางวัฒนธรรม” - Teachers as Cultural Workers) เป็นผู้เชื่อมวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเข้าหากัน ไม่ว่าจะแปลจากภาษาฝรั่งเศสไปเป็นเยอรมัน เยอรมันไปเป็นอังกฤษ หรือภาษาเฉพาะกลุ่มไปเป็นภาษาทั่วไป (จริง ๆ ก็ไม่ใช่แค่“นักแปล” ทุกคนที่แปลนั่นแหละ - การแปล คือ กิจกรรมทางวัฒนธรรม จะว่าแบบนี้ก็ได้)

สำคัญนะครับ แนวคิดจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ไหลเวียนหากันนี่ มันทำให้เกิดการปะทะสังสรรค์ของแนวคิด และเปลี่ยนแปลงโลกในทุกยุคสมัย แนวคิดปรัชญาธรรมชาติจากยุครู้แจ้งของสกอตแลนด์ พวกฮูม ไหลเข้าสู่เยอรมนี แนวคิดสัญญวิทยาจากฝรั่งเศส ไหลไปสู่เยอรมนี (จากที่ก่อนหน้านี้งานของพวกนิทเช่หรือคานท์ ก็ไปมีอิทธิพลต่อแนวคิดของฟูโกต์) แนวคิดของมาร์กซจากเยอรมนีไหลกลับไปสู่อังกฤษ (จากที่ก่อนหน้านี้แนวคิดของ อดัม สมิธ ก็ไหลไปมีอิทธิพลต่อแนวคิดของมาร์กซ) การไหลเวียนพวกนี้มันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิทยาการทั้งนั้น มันมีการนำเข้าและปรับใช้เกิดขึ้นตลอดเวลา เฟืองเล็ก ๆ ที่สำคัญในกระบวนการนี้ คือการแปลครับ

การแปลข่าววิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก ยิ่งได้ลองทำแล้วยิ่งได้รู้ว่ามันยาก เอาแค่เรื่องเดียวคือเรื่องศัพท์เทคนิค ที่พอไปค้นความหมายมาแล้ว เข้าใจว่ามันคืออะไรแล้ว ก็ยังต้องค้นต่อไปว่า เขาเรียกว่าอะไรในภาษาปลายทาง เช่น carbon nanotube ภาษาไทยเรียก ท่อคาร์บอนนาโน, nanowire เรียก ลวดนาโน หรือจะใช้ตัวสะกดแบบไหน ซึ่งค้นในพจนานุกรมก็ไม่มี ต้องไปหาแหล่งอ้างอิงจากที่อื่น และลำพังแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นไทยเองก็ลำบากอยู่แล้ว ถ้าคิดจะสื่อสารกับคนทั่วไป ก็ต้องพยายามแปลไทยเป็นไทยอีกทีด้วย

มีโอกาสได้ลองในเว็บ foosci.com หลังจาก moleculark เอ่ยปากชักชวนทุก ๆ คน

ลองทำ ๆ ดูแล้ว ก็พบว่า เรื่องการสื่อสารวิทยาศาสตร์นี้เป็นเรื่องยากจริง ๆ (นี่แค่แปลจากแหล่งที่เขาไปหามาให้แล้วนะ ยังไม่ได้ต้องออกไปหาข่าวมาเขียนเอง) แม้จะรู้ว่าจะพูดอะไรแล้วก็เถอะ มันยังมีเรื่องว่าจะพูดยังไง แบบไหนอีก ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจ แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ยังไงก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราอยากจะสร้าง “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” แบบที่ไม่ใช่แค่ “วัฒนธรรมเทคโนโลยี” (ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ไฮเทคาถาปาฏิหารย์”)

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็เห็นความสำคัญตรงนี้ เลยตั้ง ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย (ThaiSMC) ขึ้นมาเป็นสะพานระหว่างนักวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชน โดยมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันสังคมไทยเป็นสังคมที่มีเหตุผลไม่งมงาย โดยจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การให้ข้อมูลและอบรมนักข่าวจากสื่อต่าง ๆ ให้เข้าใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น และพยายามผลักดันเพื่อเพิ่มพื้นที่ข่าววิทยาศาสตร์ในสื่อ (แข่งกับพื้นที่ขอหวยงูสองหัว หรือมนุษย์ต่างดาวถุงลดไข้)

ของที่ทำดี ๆ ตอนนี้ ผมเห็นมีของ ผู้จัดการออนไลน์ (วิทยาศาสตร์) ครับ อัพเดทสม่ำเสมอ มีแบ่งหมวดหมู่ มีคอลัมน์พิเศษ ของเจ้าอื่นสู้ไม่ได้เลย (เพื่อนผมบอกว่าข่าวของผู้จัดการดีทุกด้านน่าอ่าน ยกเว้นอะไรที่เกี่ยวกับการเมือง) ที่เด่นอีกอันเป็นของ สำนักข่าวไทย (ข่าวเทคโนโลยี-วิทยาศาสตร์) โดยรวมสู้ของผู้จัดการไม่ได้ แต่มีวิดีโอคลิปให้ดูครับ เหมือนดูทีวีเลย เด่นกว่าตรงนี้ คือเรื่องบางอันมันยาก เห็นภาพเคลื่อนไหวแล้วเข้าใจง่ายกว่า ส่วนของ กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม: วิทยาศาสตร์) นั้นข่าวน้อยมาก นาน ๆ มาที ประชาไท นี่ยิ่งไม่มีเลย

นอกจาก ThaiSMC แล้ว งานด้านการให้ความรู้วิทยาศาสตร์ทั่ว ๆ ไป ก็มี ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS) ซึ่งก็เป็นอีกหน่วยงานในสวทช. ดูแลอยู่เหมือนกัน

งานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์นี้ ปัจจุบัน สวทช. เองก็สนับสนุนการจัดทำนิตยสารวิทยาศาสตร์อยู่หลายหัว เช่น “สนุกวิทย์” และ “Science in Action” ทำได้ดีเลยล่ะ น่าอ่าน แต่ปัญหาคือ ถ้าผมไม่ไปซื้อที่สวทช. ก็ไม่รู้จะไปซื้อที่ไหน มีปัญหาเรื่องการจัดจำหน่ายจริง ๆ ครับ มันก็เลยกระจายอยู่แค่ในวงจำกัด ไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ (ถ้าหาซื้อไม่ได้ สามารถอ่านออนไลน์ได้ทั้งคู่ครับ - แต่ก็ต้องมีอินเทอร์เน็ต)

น่าเสียดายนะครับ นิตยสารดี ๆ เหล่านี้ รวมถึงหนังสือหลาย ๆ เล่มของสวทช.ด้วย ที่พิมพ์ออกมาแล้วก็กองอยู่ในร้านหนังสือสวทช. ไม่ได้มีโอกาสไปถึงมือคนที่สนใจ ผมเพิ่งได้หนังสือ “ท่องแดนวิทยาศาสตร์” มาเมื่อสัปดาห์ก่อน คนเขียนคือ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งชาติ เขียนหนังสือดีครับ อ่านเพลินมาก ผมเพิ่งรู้ว่า ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นลุงของอ.ยงยุทธ ก็จากเล่มนี้ ... เล่มนี้ผมเคยเห็นแค่สองที่ครับ งานสัปดาห์หนังสือ (กรุงเทพ) กับที่ร้านหนังสือสวทช. (ปทุมธานี) ที่อื่นไม่เคยเห็นเลย ไม่รู้ว่าจังหวัดอื่นจะมีไหม น่าเสียดายนะครับ

เคยอ่านจากไหนซักที่ ไม่ แทนไท ก็ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นี่แหละ บอกว่าตัวเองอยากเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เอาใจช่วยครับ ทำได้ดีแน่ เขียนหนังสือเก่ง ๆ แบบนั้น

จะส่งเสริม วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ก็ต้องหาคนมาทำงานด้านวัฒนธรรมครับ ทำเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้


ลิงก์ไม่เกี่ยวข้อง: Translate.eipcp.net Beyond Culture: The Politics of Translation โครงการวิจัยของ European Institute for Progressive Cultural Policies

technorati tags: , , ,

7 comments:

Anonymous said...

พยายามจะแปลเป็นไทยมาที่สุดนะ แต่ปัญหาคือคำไทยที่แปลมาจะไม่รู้จักเลย บางทียิ่งอ่านแล้วงง ผมว่าดีมากเลยที่มีคนสายอื่นอย่างคุณอาทมาช่วย เพราะอย่างผมอ่านแล้วบางทีก็รู้ว่ามันคืออะไร แต่คนทั่วไปอาจไม่รู้ เลยมีคุณอาทมาช่วยแปลให้คนทั่วไปเข้าใจได้อีกทีหนึ่ง ส่วนใหญ่คำไหนที่คิดว่าแปลไทยได้ก็จะแปลเลย ส่วนที่คิดว่าแปลแล้วงงก็จะติดไว้ก่อน

ปล สงสัยคงได้สร้าง Grossary แน่เลย

bact' said...

molecularck: บางทีก็ลังเลเหมือนกัน คำต่าง ๆ
อย่าง solid-state memory จะแปล solid-state ไงดี เห็นมีชื่อวิชา solid-state physics แปลไว้ว่า ฟิสิกส์สถานะแข็ง ก็เลยแปลเป็น หน่วยความจำสถานะแข็ง มันแปลก ๆ ไม่คุ้นเลย แต่ก็คิดว่าพยายามจะแปล ให้มันเห็นรูปคำให้มากที่สุด เพราะถ้าทับศัพท์ไปเลย มันก็จะไม่เห็นรูปคำ ซึ่งมันมีนัยความหมายอยู่

(glossary จ้า)

Anonymous said...

ภาษาอังกฤษผมช่างอ่อนแอจริง เรื่องคำแปลนี้ เอาเป็นว่าแปลไทย ใส่คำอังกฤษเพื่อไม่ให้งงดีไหม

ไปเปิด google group foosci ไว้ปรึกษากันดีกว่า

bact' said...

ผมพยายามจะใส่วงเล็บคำภาษาต้นทางเอาไว้เหมือนกัน เพื่อให้มันเห็นคู่กันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งคุ้นคำไทย

Beamer User said...

เรื่องคำแปลให้ใช้ไปเลยครับ ยกตัวอย่างนะครับ
sampling rate อาจารย์ลาดกระบังใช้คำว่า
อัตราการชักข้อมูล ซึ่งดีมาก ๆ นะครับ สั้นได้ใจความ

sliding mode อาจารย์จุฬาใช้คำว่า โหมดลื่นไถล
ก็ดีอีก

งานวิทยาศาสตร์มันแก้ไขได้อยู่แล้ว ใช้ไปก่อนวงเล็บไว้
ีที่คำแรกพอ พอเจอคำที่ดีกว่าก็มาเปลี่ยนก็ได้

เรื่องหนังสือแนววิทยาศาสตร์เนี่ย สมัยเด็ก ๆ มีของ
ซีเอ็ดที่ค่อนข้างหนัก ตอนหลังลดระดับมาเป็น update ไม่รู้ว่ายังมีอยู่หรือเปล่า ทางคณิตศาสตร์
ก็มี mymath

หนังสือของ สวทช เข้าใจว่าเขาทำในรูปแบบกึ่ง
วารสาร คล้าย ๆ IEEE magazine มังครับ เลย
ไม่เป็นวงกว้างมาก แต่ตอนก่อนมาเรียนก็ซื้อหนังสือ
พวกนี้ได้ตามสถานีรถโดยสารนะครับ เขาคงไม่ได้
พิมพ์จำนวนเยอะ พิมพ์เยอะก็ขายไม่ออก นักวิชาการ
บ้านเราก็รู้อยู่ว่ามีสาขาไหนบ้าง อย่าง ศ. สุทัศน์ ยกส้าน พูดเนี่ย นักข่าวที่ไหนจะสน จริง ๆ ท่านน่า
ยกย่องและน่าฟังเรื่องที่ท่านพูดมาก

bact' said...

พ่อหมาอ้วน: เมื่อก่อนผมตื่นตาตื่นใจกับอัพเดทมาก ๆ ทั้งบทความแปลวิทยาการใหม่ ๆ ข่าวคราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย นิยายวิทยาศาสตร์ ไปจนถึง อุปกรณ์ออกใหม่แปลก ๆ แต่เดี๋ยวนี้อ่านแล้วไม่ค่อยได้ความรู้สึกนั้นแล้ว - ผมก็ไม่แน่ใจนักว่า ใครที่เปลี่ยนไป ผมอาจจะห่างอัพเดทไปนานพอสมควรด้วยก็เป็นได้ (อัพเดทเองก็หายไปเป็นช่วง ๆ บางทีก็ควบเดือน ตามสภาพเศรษฐกิจ)

นิตยสารของสวทช.ที่เห็นขายตามแผง "ทั่วไป" (ก็ไม่ค่อยทั่วไปนัก แต่อย่างน้อยซีเอ็ดจะมี) จะเป็นของหน่วยงานหลักของสวทช. อย่างของเนคเทค เอ็มเทค ซึ่งอย่างที่พ่อหมาอ้วนว่า จะกึ่ง ๆ วิชาการ
แต่นิตยสารส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่มีกลุ่มเป้าหมายอย่างเด็กมัธยมอย่าง สนุกวิทย์ กับ Science in Action ที่ยกตัวอย่าง ผมกลับไม่เจอครับ - หรือเขาอาจจะแจกไปตามห้องสมุดโรงเรียนก็เป็นไปได้

way ฉบับล่าสุด (ฉบับ 15) มีสัมภาษณ์ ดร. สุทัศน์ ยกส้าน กับ ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ แบบยาว ๆ น่าอ่านมาก เป็นแบบสบาย ๆ แต่ก็มีแง่มุมวิทยาศาสตร์อยู่ (บรรณาธิการร่วมรับเชิญของฉบับนี้คือ ทินกร หุตางกูร นักเขียนผู้มีผลงานเรื่องสั้นแฝงความรู้ดี ๆ มากมาย อย่าง โลกของจอม และ ปาลีกับศิลปะ)

bact' said...

พี่เทพ คุยถึงหนังสือ "ไฮเทคาถาปาฏิหารย์"

http://thep.blogspot.com/2004/05/blog-post_19.html