ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2008-05-05

me(dia)

มีเพื่อนส่งลิงก์นี้มาให้ดู น่าเสียดาย...เว็บประชาไท (ผู้จัดการออนไลน์) ในนั้นเขาว่า เขา “เปิดโปง” เบื้องหลังคนสนับสนุนประชาไท

ผมก็งง ๆ ข้อมูลทั้งหมด เขาก็มีเผยแพร่ไว้ใน เกี่ยวกับประชาไท ตั้งนานแล้วนี่นา อย่างน้อยก็มากกว่าหนึ่งปีล่ะ ที่ผมเคยกดดู - มันเรียกว่าเปิดโปงตรงไหนนะ

เรื่องรสนากับปลื้ม ผมก็งง ๆ - เอ เขานับ “ส่วนใหญ่” กันยังไงนะ ลองอ่านดูในความเห็นท้ายข่าว มันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่านี่นา เรื่องมีคนมา “รุมด่ารสนามากกว่าปลื้ม” (แน่นอนว่ามีคนตั้งคำถามต่อท่าทีกระทบกระเทียบของรสนา ว่าไม่จำเป็นต้องพูดไปถึงวงศ์ตระกูลของปลื้มเขาเลย)

ผมก็คงบอกแทน คิดแทนคนอื่น ๆ ไม่ได้ ก็ลองดูข้อมูลจากหลาย ๆ ที่ละกันครับ

สื่อ/แหล่งข่าว/บล็อก ๆ หนึ่งไม่สามารถมีข้อมูลที่รอบด้านได้ และก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น

แต่สื่อหลาย ๆ ที่ หลาย ๆ มุมมอง รวมกัน ก็สามารถที่จะให้ข้อมูลที่รอบด้านขึ้นได้

นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจึงต้องรักษาเสรีภาพและความหลากหลายของแหล่งข่าวเอาไว้ ให้สามารถเสนอหลายมุมมอง เสนอหลายแนวคิดที่แตกต่างกันได้

ผมคิดว่าสำหรับสื่อต่าง ๆ ในฐานะสื่อ ๆ หนึ่ง ของแต่ละที่ เขาก็มีสิทธิที่จะให้น้ำหนักและเสนอประเด็นอะไรที่เขาเห็นว่าสำคัญน่าสนใจได้ และเนื่องจากประเด็นที่สำคัญน่าสนใจนี้ อาจมีอยู่มาก เขาก็อาจจะเลือกเสนอประเด็นที่ยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูด เพื่อให้ในภาพรวมมันมีความครอบคลุม

เช่น ทีวีแต่ละช่อง เมื่อพิจารณาเฉพาะช่อง อาจจะมีสัดส่วนรายการที่พิกลพิการ อันนั้นข่าวน้อยไป อันนี้บันเทิงน้อยไป อันนี้เน้นกลุ่มผู้ชมวัยนั้นน้อยไป อันนี้เน้นกลุ่มผู้ชมระดับนี้มากไป ... แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว เราอาจพบว่า สัดส่วนมันอาจจะกลมกล่อมพอดีก็เป็นได้ (ในทางกลับกับ การพยายามบังคับช่องไม่กี่ช่องให้อยู่ในสัดส่วนกลมกล่อมพอดี แต่ไม่สามารถไปปรับช่องอื่น ๆ ได้ ในภาพรวมมันก็อาจจะยังคงบิดเบี้ยวพิกลพิการอยู่ก็เป็นได้) คนเราดูทีวีแค่ช่องเดียวเสียทีไหน

กล่าวคือ ถ้าเขาเห็นว่า ประเด็นอะไรมีสื่อแหล่งอื่นพูดถึงไปแล้ว เขาก็อาจจะเลือกไปเสนอประเด็นอื่น ๆ ที่เขาเห็นว่าสำคัญเช่นกัน-แต่ยังไม่คนพูดถึง

นั่นแปลว่า การไม่ได้เสนอประเด็นอะไร อาจไม่ได้แปลว่าเขาเห็นว่าประเด็นที่เขาไม่เสนอเองนั้นไม่สำคัญ - เขาอาจเห็นว่ามันสำคัญ เพียงแต่คนอื่นเสนอไว้ดีแล้ว ก็เลยไม่รู้จะเปลืองพื้นที่ไปเสนอซ้ำอีกทำไม ถ้าไม่สามารถเสนอแง่มุมมองใหม่ ๆ ได้

“องค์กรนั้น บุคคลนี้ ทำเรื่อง x เรื่อง y เอาไว้มากมาย ทำไมไม่พูดถึง ? ทำไมถึงพูดถึงแต่เรื่อง i เรื่อง j ?”

ก็น่าจะถามต่อไปว่า

“ถ้าพื้นที่สื่อจำนวนหนึ่งได้เสนอเรื่อง x เรื่อง y ไปแล้ว ก็น่าจะเป็นการสมควรไม่ใช่หรือ ที่พื้นที่สื่ออีกจำนวนหนึ่ง จะเสนอเรื่อง i เรื่อง j ด้วย ? ทั้งนี้เพื่อความรอบด้านยิ่งขึ้นของข้อมูลข่าวสารในภาพรวม”

หรือจะมีใครมีชีวิตด้านเดียวบ้าง ?

ในอุดมคติแล้ว เราทั้งหมดสมควรที่จะเสนอทั้ง x, y, i และ j (อาจในน้ำหนักต่างกันไป ตามความลำดับสำคัญที่แต่ละคนเชื่อ)

แต่หากพื้นที่สำหรับ x และ y กำลังล้นทะลัก มองไปทางใดก็มีแต่ข้อมูลด้านนี้

จำเป็นแค่ไหน สิ้นเปลืองเท่าใด ที่จะต้องเสนอ x และ y ซ้ำ ๆ อีก ?

บกพร่องแค่ไหน เสียหายเท่าใด หากไม่ได้เสนอ i และ j ให้สังคมได้รับรู้ด้วย ?

การจะให้น้ำหนักว่าประเด็นอะไรสำคัญนั้น เป็นสิทธิ

ส่วนการจะต้องไม่ปกปิดบิดเบือนข้อเท็จจริงนั้น เป็นหน้าที่

technorati tags: , , ,

14 comments:

q0022 said...

ประเด็นหนึ่งที่เว็บประชาไทนำมาเล่นคือกรณี "คุณโชติศักดิฺ์" ผมว่ามันหมิ่งแหม่เกินไป ผมยอมรับในความคิดต่างที่เป็นธรรมดาที่คนเราจะสามารถคิดได้ แต่มันต้องตั้งอยู่บนประเพณีวัฒนธรรมของเรา ความกตัญญูรู้คุณ เพราะกฏหมายที่ตราขึ้นมาก็ใช้ประเพณีวัฒนธรรมเป็นที่ตั้ง การกระทำที่หมิ่นแล้วยังเอามาโหนกระแสเพื่อประโยชน์ของตนผมว่ามันออกจะเกินเลยไปหน่อย อย่างเชิญสื่อต่างชาติมาทำข่าวเพื่อเพิ่มความดัง แสดงว่าไม่มีความสำนึกอยู่ในสมองเลย ผมว่าถ้าคุณโชติศักดิ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องเกิดในอาชีพเกษตรกรหรือชาวเขาอาจจะซาบซึ่งมากกว่านี้ ชีวิตคงจะสบายเกินไป

Beamer User said...

เขาเปิดโปงไม่ใช่เพื่อเปิดโปง

เขาเปิดโปงเพื่อให้มีคนจากฝั่งเขาเข้าไปอ่านเยอะ ๆ แล้ว
หวังผลหลังจากนั้น โดยให้ผู้อ่านเข้าใจว่าปัจจุบันของ
ประชาไทมันแตกต่างจากเมื่อก่อน

สุดยอดมากที่ใช้คำว่าเสียดาย เพราะการที่ข่าวประชาไท
มันไม่หลากหลายเนี่ยแหละ ล่อเป้าได้ง่ายมาก

bact' said...

q0022: อย่างที่ได้เรียนไว้หลายโอกาสครับ
ผมไม่ได้มองเรื่อง "โชติศักดิ์และชุติมา" เป็นเรื่องบุคคล ว่ากระทำอะไรไป ผิดกฎหมายข้อไหนอย่างไร

สิ่งที่ผมสนใจคือ เราจะมีท่าทีกับพวกเขาอย่างไร
ทั้งคนอย่าง "โชติศักดิ์และชุติมา" และ ทั้งคนที่คิดไม่เหมือนพวกเขา

ท่าทีของสังคมส่วนหนึ่ง ที่เยาะเย้ยสมน้ำหน้า-เป็นศาลเตี้ย-ทำร้ายร่างกาย-หรือยั่วยุให้ทำร้ายร่างกาย เป็นท่าทีที่เหมาะสมหรือไม่ ?
(การทำร้ายร่างกาย อย่างน้อยที่สุดก็ที่แสดงให้เห็น คือการที่ผู้ชมจำนวนหนึ่งขว้างปาสิ่งของใส่สองคนนั้นในโรงหนัง - ส่วนการยั่วยุให้ทำร้ายร่างกาย ก็โดยวิทยุผู้จัดการ - หรือกระทั่งคุณ q0022 เอง ที่ว่า "การกระทำที่*หมิ่น*แล้วยัง..." ตรงนี้ผมไม่แน่ใจ ถ้าเป็นแค่ความเชื่อนั่นก็โอเค ทุกคนมีสิทธิ์เชื่ออย่างไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นการตัดสินไปแล้ว นั่นก็อาจจะเข้ากรณีศาลเตี้ยเองด้วย - จะหมิ่นหรือไม่หมิ่น ก็รอศาลว่าไป ถ้าคุณบอกว่าคุณเชื่อกฎหมาย)


ท่าทีของสังคมส่วนหนึ่ง (โดยเฉพาะสื่อค่ายผู้จัดการ) ที่หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมือง โจมตีป้ายสี บิดเบือนโยงเรื่องให้มั่วกันไปหมด เพียงเพื่อจะทำลายฝ่ายตรงข้าม มันเหมาะสมไหม ? - พูดอย่างเป็นธรรมที่สุด มันแฟร์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ไหม ?

ถึงพรุ่งนี้ "โชติศักดิ์และชุติมา" จะเปลี่ยนใจเปลี่ยนอุดมการณ์ ไปเป็นคนตอแหล ปลิ้นปล้อน (อย่างที่คุณ fat dog father เคยถาม)
แต่หลักการสิทธิมนุษยชน การต้องเคารพความเห็นต่างตรงนี้มันก็ยังไม่เปลี่ยน

ถ้าเราสู้เพื่อบุคคล เราก็จะเขวไปกับบุคคล

การรณรงค์ทั้งหลาย อย่างน้อยผมคนหนึ่ง ไม่คิดว่านี่เป็นการทำเพื่อบุคคล ไม่ว่าจะโชติศักดิ์ ชุติมา หรือว่าใคร - แต่เป็นการทำเพื่อหลักการพื้นฐาน ความเป็นมนุษย์

และสุดท้ายเราไม่ได้ทำไปเพื่อใคร หรืออะไร
แต่เพื่อความเป็นมนุษย์ของตัวเราเอง


ไม่ใช่แม้แต่ตัวเราของเรา แต่เพื่อ "ความเป็นมนุษย์" - เท่านั้น


ส่วนเรื่องที่ว่า "มัน*ต้อง*ตั้งอยู่บนประเพณีวัฒนธรรมของเรา" ผมก็เห็นว่า "เรา" ก็มีประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ไม่ได้มีเพียงอย่างเดียวอันเดียวครับ


สำหรับผมแล้ว เรื่องนี้อาจจะไม่เฉพาะเจาะจงกับเรื่องหมิ่นหรือไม่หมิ่น หรือสถาบันด้วยซ้ำ
แต่เป็นเรื่องทั่วไปมาก ๆ ที่ว่า

"เราจะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนที่คิดเห็นแตกต่างกระทั่งไม่เห็นด้วยกับเราเลย อย่างสงบสุขได้อย่างไร"

อย่างสงบสุขนั้นคือ การคิดเห็นแตกต่างนั้น ไม่ได้ไปริดรอนสิทธิของใคร ไม่ได้ไปทำให้ใครต้องลำบากเดือดร้อน


การที่ใครสักคนบอกว่า "คุณคิดต่างได้นะ แต่ห้ามเกินกรอบนี้"

ผมคิดว่านั่นก็คือเท่ากับ คิดต่างไม่ได้

เพราะคนที่กำหนด "กรอบ" นั้น เป็นคนอื่น ที่ไม่ใช่คนที่คิด




ใครเห็นว่าโลกกลมก็จับไปฆ่า

หรือเราจะกลับไปอยู่ในยุคนั้น ?

bact' said...

พ่อหมาอ้วน: อืม ผมเห็นด้วยนะ ที่ว่า ประชาไท ข่าว "ไม่หลากหลาย"* สู้ผู้จัดการหรือกรุงเทพธุรกิจไม่ได้ มองเฉพาะบนเว็บไซต์นะ

"ไม่หลากหลาย" ข้างบนนั่น หมายถึง หลากหลายไม่เท่าเว็บไซต์อื่นในแง่หัวข้อข่าว เช่น ขาดเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม บันเทิง อาชญากรรม การตลาด ธุรกิจการเงิน อะไรพวกนี้ ที่เว็บไซต์อื่น ๆ เขามีกัน - ประชาไทที่มีเยอะจะเป็นพวก สังคม เศรษฐกิจ การเมือง รายงานสัมมนาวิชาการที่เกี่ยวข้อง ข่าวปัญหาจากการพัฒนา ข่าวชาวบ้านเรียกร้องต่าง ๆ

คือถ้านับจำนวนหัวข้อข่าวแล้ว ประชาไทหลากหลายน้อยกว่ามาก -- แต่ก็ใช่ว่าหัวข้อข่าวของประชาไทจะเป็นซับเซตของสื่อเจ้าอื่น ๆ - เพราะหัวข้อข่าวอย่าง รายงานสัมมนาวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสังคม ข่าวปัญหาจากการพัฒนา ข่าวชาวบ้านเรียกร้องต่าง ๆ นั้น มีพื้นที่น้อยมากในสื่อกระแสหลักอื่น ๆ

อันนั้นเป็นความหลากหลายในแง่ หัวข้อข่าว


ส่วนความหลากหลายในแง่มุมมองต่อข่าวชิ้นเดียวกัน
ผมคิดว่าอันนี้น่าสนใจ

กรุงเทพธุรกิจ ในฉบับหนังสือพิมพ์ ยังเคยให้พื้นที่บางส่วน อาจจะเป็นลักษณะคอลัมน์หรือบทความพิเศษ สำหรับความเห็นที่แตกต่างจากกองบรรณาธิการ - เคยมีอันหนึ่งตั้งคำถามแรง ๆ ถึงกองบรรณาธิการและสุทธิชัย หยุ่น เองเสียด้วยซ้ำ - แม้จะนาน ๆ มีที แต่ก็เคยมี (ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ลืมว่ากองบรรณาธิการ The Nation ในเครือเดียวกัน ก็เซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่ลงบทความของนักข่าวตัวเองอยู่หลายครั้ง)

สำหรับประชาไท ผมเห็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนจากสาขาอาชีพต่าง ๆ (ส่วนใหญ่ก็เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ อาจารย์มหาลัย) ได้เสนอความคิดของตนที่แตกต่างกัน ผ่านทางรูปแบบบทความ สัมภาษณ์ หรือรายงาน อยู่บ่อยครั้ง
เช่นกรณีแฟลตดินแดง ก็มีทั้งรายงานจากชาวบ้าน สัมภาษณ์เอ็นจีโอ และ บทความจากนักประเมินอสังหาริมทรัพย์ (ที่เห็นต่างกับเอ็นจีโอไปคนละเรื่อง)

สำหรับ ผู้จัดการ ในปัจจุบัน ผมไม่เห็นการเปิดพื้นที่เห็นต่างในลักษณะประชาไทหรือลักษณะกรุงเทพธุรกิจ

ถ้าสรุปตรงนี้ ผมคิดว่าในแง่ความหลากหลายของมุมมองแล้ว ประชาไทพยายามทำตรงนั้น
ยิ่งถ้าถอยออกมามองว่า ประชาไทเป็นส่วนหนึ่งของสื่อทั้งหมดที่เรารับแล้ว ผมคิดว่ามันจะยิ่งสมบูรณ์ขึ้น แต่ละสื่อก็เสริมกันคานกัน

ทำอย่างนี้ ไปคานชาวบ้าน สวนกระแส แล้วจะเป็นเป้าให้เขาล่อไหม ผมคิดว่าทีมที่ทำเขาก็คงต้องรับไป คงทำใจกันแล้ว ไม่งั้นคงไม่มาทำกัน

ในฐานะคนอ่าน ที่อยากจะยังรับสารอะไรที่มันกลมกล่อมพอดี (เท่าที่จะทำได้) ก็คงต้องพยายามรักษาน้ำปลาในพวงเครื่องปรุงนี้ไว้ เหมือน ๆ กับพริกน้ำตาลและเครื่องปรุงอื่น ๆ

Beamer User said...

การที่ใครสักคนบอกว่า "คุณคิดต่างได้นะ แต่ห้ามเกินกรอบนี้"

ผมคิดว่านั่นก็คือเท่ากับ คิดต่างไม่ได้

เพราะคนที่กำหนด "กรอบ" นั้น เป็นคนอื่น ที่ไม่ใช่คนที่คิด


ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับอันนี้นะ การที่มีคนตะโกนด่า
(ไม่ควรทำร้ายร่างกาย) ก็เป็นสิทธิเขา เขาฟ้องหมิ่นก็
สิทธิของเขา ในเมื่อกฎหมายมันอนุญาตให้เขาทำได้
กรณีนี้ใครผิด

ถ้าเราถือว่าระเบียบสังคมอยู่ภายใต้กฎหมาย ใคร
ละเมิดกฎหมายมันก็ไม่ถูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร
1. ถ้าจะทำให้ถูกก็ต้องแก้กฎหมายก่อน
2. ถ้ากฎหมายไม่ดี กฎหมายผิด ก็ต้องแก้ก่อน

ทางที่ดีก็ต้องถวายฎีกาโดยตรง ในหลวงท่านเปิดช่อง
ไว้แ้ล้วผมว่า ทรงบ่นมาหลายทีแล้ว อย่างที่เคยบอก
ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าเสนอหรอก แต่เลือกเวลาหน่อย
ตอนนี้ท่านยุ่งกับเรื่องน้ำ

ผมเห็นด้วยที่คนเขาพูดว่า คิดต่างได้ แต่ต้องถูกที่ถูก
เวลา และการแสดงออกก็ต้องสมควรแก่เหตุ

ถ้าเราเคารพสิทธิในการพูด เราก็ต้องเคารพสิทธิในการ
ที่คนอื่นบอกว่าตอนนี้ไม่ให้พูดด้วย

ประเด็นสื่อ ผมว่าขบวนการของผู้จัดการเนี่ย
ไม่ธรรมดานะครับ เปิดประเด็นด้วยชัยอนันต์ แบบ
ทีเล่นทีจริง แต่เน้นคำว่ามีขบวนการ มีองค์กร
ก็แบบที่เขาว่าแหละ ขวาพิฆาตซ้ายแบบปี 2008

bact' said...

fat dog father: ผมก็คิดว่า ถ้าใครเห็นว่าอะไรผิดกฎหมาย ก็ฟ้องไปเลยครับ เขาทำได้ แล้วก็รอศาลตัดสิน ให้กระบวนการยุติธรรมมันทำหน้าที่ไป
ถ้าผิดก็ลงโทษไป

กฎหมายทำได้แค่นั้นครับ ลงโทษ
(แต่บอกให้เลิกเชื่อไม่ได้นะครับ-ถ้าคนเขายอมรับการลงโทษ ยอมรับว่านี่คือราคาที่ต้องจ่าย ก็ต้องปล่อยให้เขาเชื่อครับ)

หรือถ้าฝ่ายไหนเห็นว่า กฎหมายมันควรเลิก หรือกฎหมายมันควรแรงกว่านี้ด้วยซ้ำ ก็รณรงค์กันได้ นำเสนอข้อมูล ทำความเข้าใจกัน ถกเถียงกัน และการกระบวนการพวกนี้ ก็อาจจะนำไปสู่การเข้าชื่อขอแก้กฎหมายในที่สุด - ผมเห็นว่าการรณรงค์นั้นสำคัญ และต้องทำอย่างหนักก่อนการเข้าชื่อใด ๆ ไม่งั้นการเข้าชื่อกันก็ไม่มีความหมาย คนอาจจะไปเข้าชื่อกันด้วยอารมณ์ก็เป็นได้ โดยยังไม่รู้ว่าตัวเองลงชื่อไปเพราะอะไร เพื่ออะไร แล้วอะไรจะเกิดขึ้น


ผมคิดว่าสุดท้ายสำหรับผู้จัดการ ประเด็นโชติศักดิ์และชุติมา ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าตัวละครที่เขาจะสามารถเล่านิทานพยายามเชื่อมโยงให้ได้ว่า กลุ่มการเมืองที่เขาไม่สนับสนุน(และสื่อจำนวนหนึ่งที่พยายามจะจับผิดนิทานของเขา)นั้นต้องการล้มล้างสถาบันฯ - เพื่อเรียกคะแนนนิยมในฝั่งผู้จัดการและพันธมิตรที่ตกต่ำลงหลังรัฐประหาร (ไม่มีใครเขาเอาด้วย) - ก็คือตัวผู้จัดการและพันธมิตรเองนั่นแหละ ที่ใช้สถาบันเป็นเครื่องมือ (ซึ่งการทำแบบนี้ ก็คือการไม่เคารพสถาบันในตัวมันเอง แต่ตัวผู้จัดการเองก็เที่ยวไปยัดข้อหานี้ให้คนอื่น)

bact' said...

และถ้าจะมีความรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น
ก็อย่าเอาแต่โทษรัฐอยู่ฝ่ายเดียวอยู่ร่ำไป

ใช่ รัฐต้องร่วมรับผิดชอบในแง่ที่ว่า ถ้าตนอยู่ในฐานที่สามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้รุนแรงได้ แต่ไม่ทำ อันนี้รัฐก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

แต่ที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุด ก็น่าจะเป็น พวกเราประชาชนกันเองนี้ไม่ใช่หรือ ?
ที่ยอมให้เกิดบรรยากาศเช่นนั้นขึ้นมาได้ ?

การคุกคามโดยรัฐนั้น แม้จะน่ากลัว
แต่ก็ไม่เท่ากับการคุกคามโดยประชาชนด้วยกันเอง

ไม่มีอะไรจะน่ากลัวไปกว่าการที่ไม่สามารถอยู่บ้านของตัวเองได้ เพราะกลัวจะถูกเพื่อนบ้านทำร้าย(ตรงหรืออ้อม)อีกแล้ว
(หลายครั้งที่ผมนึกถึงหนัง Das Leben der Anderen - The Lives of Others ที่เพื่อนบ้านบอกข่าวเพื่อนบ้านด้วยกันเองให้กับ Stasi)


ถ้าเราไม่ยอมที่จะรับผิดชอบ เราก็จะไม่เคยจำ
เหมือนกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่เราเรียกร้องอยู่เสมอให้รัฐรับผิดชอบ แต่น้อยครั้งที่จะเรียกร้องความรับผิดชอบจากพวกเราประชาชนด้วยกันเอง

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากประชาชนด้วยกันเองด้วย (เพราะ "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" เป็นต้น)

แต่เราก็ไม่เคยจำ

และเราก็อาจจะกำลังทำมันซ้ำ

bact' said...

กานต์ ณ กานท์, แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน ? : คำถามถึง '3 องค์กรวิชาชีพสื่อฯ'

Anonymous said...

... ถ้าท่านตีความว่า การรณรงค์อย่างแข็งขันคือ การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผมก็คิดว่า วิจารณญาณของท่านบรรณาธิการมีปัญหา

เห็นด้วยกับข้อความนี้ครับ

bact' said...

oakyman: เรื่องไม่ยืนนี่ เกิดขึ้นก่อนการรณรงค์นะครับ น่าจะครึ่งปีได้แล้ว

การรณรงค์นี่เกิดขึ้น *หลังจาก* คู่กรณีฟ้องกลับข้อหาหมิ่นพระบรมฯ
(เพราะโชติศักดิ์ไม่ยอมถอนฟ้องข้อหาทำร้ายร่างกายกับคู่กรณี -- เอาเข้าจริง เราก็จะเห็นว่าแม้แต่ในระดับเล็กสุดแบบนี้, โดยยังไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้องเลย, กฎหมายหมิ่นพระบรมฯ ก็ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง -- เงื่อนไขคือ ถ้าโชติศักดิ์ไม่ฟ้องเขาข้อหาทำร้ายร่างกาย เขาก็จะไม่ฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมฯ -- อย่างน้อยเราก็สามารถเห็นได้ว่า ถ้าอยากจะมองในระดับบุคคล เรื่องนี้ได้เป็นเรื่องของจากแสดงความจงรักภักดีแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีการป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกฟ้องประกอบอยู่ด้วย -- พูดง่าย ๆ ก็คือ นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ กฎหมายหมิ่นพระบรมฯ ถูก abuse - ใช้ขู่คนอื่น เพื่อกันไม่ให้ตัวเองถูกฟ้อง)



ส่วนเรื่องไม่ยืนจะเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้น ก็คงแล้วแต่จะมองกัน ว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์สำหรับอะไร (รู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าผิดกฎหมาย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าจะถูกนำมาใช้เป็นเกมการเมือง ฯลฯ) -- บก.ประชาไทเองก็เขียนไม่ชัดในเรื่องนี้ ก็น่าจะถึอเป็นความบกพร่องของเขาด้วยในการใช้ภาษาไม่ชัดเจน


แต่เรื่องที่เป็นข้อเท็จจริงคือ การไม่ยืนในวันนั้น กับการรณรงค์สิทธิ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างเวลากันครับ

Beamer User said...

"(แต่บอกให้เลิกเชื่อไม่ได้นะครับ-ถ้าคนเขายอมรับการลงโทษ ยอมรับว่านี่คือราคาที่ต้องจ่าย ก็ต้องปล่อยให้เขาเชื่อครับ)"

อันนี้ก็ไม่ใช่แล้วครับ ถ้ามีคนยอมติดคุกโดยการฆ่าคนที่
ไม่ชอบหน้า โดยเชื่อว่าเป็นการทำเพื่อผู้มีพระคุณ ทำแล้ว
ผู้มีพระคุณจะดีขึ้น

มันไม่ถูกแน่นอน

bact' said...

fat dog father: ผมไม่ได้หมายถึงกรณีอาชญากรรมอย่างการฆ่า การทำร้ายร่างกาย ครับ

ทำร้ายร่างกายนี่มันยอมไม่ได้อยู่แล้ว มันละเมิดคนอื่นชัดเจน


"(แต่บอกให้เลิกเชื่อไม่ได้นะครับ-ถ้าคนเขายอมรับการลงโทษ ยอมรับว่านี่คือราคาที่ต้องจ่าย ก็ต้องปล่อยให้เขาเชื่อครับ)"

ที่ผมพูดอันนี้ เพราะผมเชื่อว่า ความคิดเห็นความเชื่อ และการแสดงออกถึงสิ่งเหล่านั้น อะไรต่าง ๆ พวกนี้ ถึงสุดท้ายแล้วมันจะต้องผิด (จะด้วยเหตุอะไรก็ตาม) มันก็ไม่ได้เป็น อาชญากรรม ครับ

ก็อย่างที่เขารณรงค์น่ะครับ

"คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม"

Beamer User said...

ละเมิดกฎหมายก็คือละเมิดกฎหมาย จะมาบอกว่ามาตรานี้
ละเมิดได้ มาตรานี้ละเมิดไม่ได้ มาตรานี้ใช้ในการรณรงค์
ได้มาตรานี้ใช้ไม่ได้ มันไม่แปลกไปหน่อยเหรอ

ผมควรหมิ่นใครซึ่งหน้าไหมเล่าหรือฝ่าไฟแดงก็ไม่ใช่
อาชญากรรม ยอมเสียค่าปรับได้ไหม ถ้าผมเชื่อ
ว่าไม่ควรมีไฟแดง แล้วตอนนั้นมันดึกไม่มีคนอยู่แล้ว
อันหลังนี่ไม่ละเมิดใครเลยนะ

ผมมีความเชื่อว่าผู้ใดต้องการเปลี่ยนกฎผู้นั้นต้องเข้าใจ
ในกฎและปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด เชื่อได้รณรงค์
ได้แต่อย่าทำโดยการฝ่าฝืนกฎแล้วยอมรับโทษ
แต่อย่างไรก็ตาม กฎนั้น ๆ ก็ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วน
ใหญ่นะ ส่วนน้อยจะขอเปลี่ยนก็ได้ แต่ต้องไม่ละเมิด
กฎ

ให้ที่เขาทำมันไม่ใช่คิดต่างน่อ กลับไปอ่านคำอธิบาย
ของทนายทองใบสิ

bact' said...

พ่อหมาอ้วน:
(หมายเหตุอีกครั้ง: รายละเอียดเรื่องโชติศักดิ์และชุติมาจะทำอะไรอย่างไร
ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นของผม
กรณีของพวกเขาอาจเป็นตัวเริ่มการสนทนา และเป็นตัวอย่างหนึ่งในการสนทนาได้
แต่ไม่ใช่ประเด็นในการสนทนาของผม
-- พวกจะเขาทำหรือไม่ทำอะไร ผมก็เชื่อของผมเช่นนี้
สิ่งที่ผมสนใจนั้น ไม่ใช่เรื่องของพวกเขา หรือเรื่องเฉพาะเจาะจงอย่างยืนหรือไม่ยืน
-- แต่คือ เราปฏิบัติกับคนที่คิดต่างจากเราหรือขัดแย้งกับเราอย่างไร ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครก็ตามครับ)


แน่นอนครับ ผิดกฎหมาย ก็คือ ผิดกฎหมาย ไม่มีข้อยกเว้น
ที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้มีอะไรขัดกับสิ่งนี้

สิ่งที่ผมบอกนั้นคือ "การคิดต่าง ไม่ใช่อาชญากรรม"

จะไม่ผิดกฎหมาย หรือ จะผิดกฎหมาย ก็ได้นะครับ
(ถ้าเกิดมันจะต้องผิดจริง ๆ-ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่ามันไม่ผิด แต่ใครจะอ้างเรื่องจารีตประเพณีคนหมู่มาก แล้วบอกว่ามันผิด ก็ได้)
แต่ประเด็นหลักคือ ไม่ว่าจะอย่างไร มัน "ไม่ใช่อาชญากรรม"


ในตัวหลักกฎหมายต่าง ๆ เอง ตอนกำหนดเรื่องความผิดต่าง ๆ เอาไว้
เขาก็ไม่ได้คิดว่าความผิดทุกชนิดนั้นเหมือนกันไปหมด
เราจึงมี ความผิดตามกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายแพ่ง ความผิดชนิดต่าง ๆ


ไม่อาชญากรรม กับ อาชญากรรม ต่างกันอย่างไร ?


สำหรับผม การกระทำอาชญากรรมมันคือเรื่องของการละเมิดคุณค่าความเป็นมนุษย์
เช่น การฆ่ากันอย่างที่พ่อหมาอ้วนยกตัวอย่าง อันเป็นเรื่องยอมไม่ได้
การทำร้าย กักขัง พวกนี้ละเมิดสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของคนอื่น ละเมิดความเป็นมนุษย์ของคนอื่น
ความผิดอาชญกรรมเช่นนี้ ตอนลงโทษ เราไม่ได้นำอาชญากรไปลงโทษแต่เพียงอย่างเดียว
เราต้องการให้อาชญากรเปลี่ยนพฤติกรรมและเปลี่ยนความคิดด้วย
ด้วยเหตุผลว่า ไม่เช่นนั้นเมื่อเขาพ้นโทษแล้ว เขาก็จะทำอาชญากรรมอีก ไปละเมิดความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นอีก
นั่นคือ เราลงโทษเขาด้วย และเปลี่ยนความคิดเขาด้วย


สำหรับกรณี คิดเห็นต่างไปจากผู้อื่นในสังคม ผมไม่คิดว่านี่เป็นการละเมิดคุณค่าความเป็นมนุษย์
และการแสดงความคิดเห็นนั้น ถ้าไม่ได้เป็นเหตุให้ใครตกเป็นที่เกลียดชัง
(ซึ่งเป็นการละเมิดความเป็นมนุษย์ของคน ๆ นั้น และอาจทำให้คน ๆ นั้นถูกทำร้ายหรือละเมิดในทางอื่น ๆ)
ก็ไม่ได้เป็นการละเมิดคุณค่าความเป็นมนุษย์เช่นกัน
หนำซ้ำ นี่คือการตอกย้ำเชิดชูคุณค่าของความเป็นมนุษย์ต่างหาก
เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ทั่วไป
นั่นก็คือ เราสามารถคิดต่างจากตัวอื่น ๆ ในฝูงได้ แล้วก็ยังอยู่ร่วมกันได้
เราจะไม่ถูกจ่าฝูงหรือตัวอื่น ๆ ในฝูงทำร้าย หรือถูกกันออกจากฝูง


ในกรณีความผิดที่ ไม่ใช่อาชญากรรม
สิ่งที่เขาละเมิดคือกฎของสังคม ไม่ได้ละเมิดความเป็นมนุษย์ของใคร
ถ้ากฎหมายระบุและศาลตัดสินแล้วว่า เขาผิด
เขาก็เป็น ผู้กระทำผิด (culprit) เท่านั้น มากที่สุดเพียงเท่านี้
ไม่ใช่ อาชญากร (criminal คนที่ก่อ crime)
จะลงโทษเขาตามกฎหมายอะไรก็ทำไป
แต่เราไม่มีสิทธิ์ไปเปลี่ยนความคิดเขา -- เขาไม่ใช่อาชญกร


เพราะฉะนั้นประเด็นปัญหาใหญ่ที่ผมเห็นในที่นี้คือ
ทำไมพวกเราถึงปฏิบัติกับ คนที่คิดต่าง ราวกับเขาเป็น อาชญากร ?

(หรือการทำให้เขาเป็นอาชญากร ในสังคมของเรา ที่นักโทษหรือแม้กระทั่งผู้ต้องหาไม่มีสิทธิอะไรมากนัก
ก็คือการ de-humanize อย่างหนึ่ง ทำให้เขาไม่ใช่มนุษย์
และเมื่อเขาไม่ใช่มนุษย์แล้ว เราจะทำร้ายเขาจะฆ่าเขาก็ได้ ? ... โดยไม่ต้องรู้สึกผิด ?
-- "ฆ่าญวนไม่บาป มันไม่ใช่คนไทย" ?)



ผมเชื่อว่านอกจากสิทธิตามกฎหมายแล้ว เราทุกคนยังมีสิทธิตามธรรมชาตินะครับ

ถ้าเราละเมิดสิทธิตามกฎหมาย (ซึ่งเปลี่ยนไปตามสังคมและเวลา) ของคนอื่น
ผมไม่คิดว่ามันเป็นอาชญากรรม
มันผิดเพียงกฎหมายของสังคมนั้นในเวลานั้นเท่านั้น
(โลกกลมเมื่อก่อนผิด เดี๋ยวนี้ไม่ผิด)

ถ้าเราละเมิดสิทธิตามธรรมชาติของคนอื่น
ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรง เป็นอาชญากรรม
(ฆ่าคนเมื่อก่อนผิด เดี๋ยวนี้ก็ยังผิด)


สิทธิมนุษยชนก็มีพื้นฐานมาจากสิทธิตามธรรมชาตินี้
และการปกป้องรักษาสิทธิเหล่านี้ ก็ไม่ได้เพื่ออะไร หรือใคร
นอกเหนือไปจากการปกป้องรักษาความเป็นมนุษย์ของเราเอง

(ด้านล่างหลังเส้นแบ่ง "----" ผมคัดลอกมาจากที่อื่นที่ผมเคยพิมพ์ไว้ที่อื่นเกี่ยวกับเรื่องนี้)

----

สิทธิธรรมชาติ (natural right) เป็นแนวคิดของสิทธิถ้วนหน้า (universal right) ที่ติดตัวมากับธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากกฎหมายหรือความเชื่อ เป็นสิทธิที่มีดำรงอยู่แม้จะไม่มีการบังคับ/รองรับสิทธิโดยรัฐบาลหรือสังคมก็ตาม

สิทธิตามกฎหมาย (legal right) เป็นสิทธิที่สร้างโดยรัฐบาลหรือสังคม เพื่อประโยชน์ของสมาชิกของตน

หมายเหตุ: หลักคิดทางกฎหมายของแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน บางประเทศมีแนวคิดเรื่องสิทธิธรรมชาติ บางประเทศไม่มี
ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากลักษณะของกฎหมาย คือ

ถ้ากฎหมายมีลักษณะว่า "ห้ามทำอะไรบ้าง"
(ส่วนที่ไม่ได้ระบุในกฎหมายนั้น สามารถทำได้หมด)
อันนี้มีลักษณะของความเชื่อในสิทธิธรรมชาติ
คือเชื่อว่ามนุษย์ทุกคน (หรือสิ่งมีชีวิตทุกตัว) มีสิทธิในการที่จะทำอะไรก็ได้ตามเจตจำนงค์เสรีของตน แต่เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขเป็นสังคม ก็จำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิในการกระทำการบางอย่าง

ส่วนถ้ากฎหมายมีลักษณะว่า "ทำอะไรได้บ้าง"
(ส่วนที่ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายนั้น ห้ามทำทั้งหมด)
อันนี้ไม่มีลักษณะของความเชื่อในสิทธิธรรมชาติ
คือเชื่อว่า เราเกิดมาโดยไม่มีสิทธิอะไรติดตัวมาเลยเลย และเราจะมีสิทธิอะไรก็ตาม ก็ต่อเมื่อกฎหมายกำหนดเท่านั้น และกฎหมายก็สามารถริบสิทธิเหล่านั้นจากเราไปได้ทุกเมื่อ

----