... ในฐานะที่เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีในอดีต <คุณสุวิทย์ คุณกิตติ> ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า
“ คุณต้องยอมรับว่า ไม่ว่าคุณจะพยายามบล็อกอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีใดก็ตาม คุณไม่มีวันทำได้สำเร็จ ถ้าเราปิดเว็บไซต์ไปสักแห่งหนึ่ง ใครๆ ก็สามารถหาพร็อกซี่เพื่อเข้าถึงมันจนได้ การเซ็นเซอร์เครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำร้ายประชาชน ทำร้ายรัฐบาล และยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย ”
ท่านยังกล่าวด้วยว่า แทนที่จะเซ็นเซอร์ ทางที่จะแก้ปัญหา [การใช้อินเทอร์เน็ตแบบผิดๆ] เป็นทางแก้ทางสังคม - ให้การศึกษา, ศีลธรรม, สำนึกทางสังคมแก่ประชาชนเพื่อที่ประชาชนจะได้ตัดสินใจอย่างรอบรู้เอง
สังคมไทยจะเป็นสังคมที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งมีทั้งคุณและโทษ ได้ดีเพียงไร
ข้อสรุปอันแรกที่ผมอยากย้ำไว้ก็คือ คนไทยต้องเลี้ยงลูกเอง เลิกคิดที่จะให้รัฐเลี้ยงลูกแทนเสียที เพราะถ้าคิดอย่างนั้นหอบลูกไปทิ้งไว้หน้าสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าของรัฐดีกว่า
นอกจากนี้ควรเข้าใจด้วยว่าอำนาจที่รัฐได้มาจากการปกป้องสายตาเด็กจากหัวนมผู้หญิงนั้น รัฐได้ใช้มันไปในทางฉ้อฉลเพื่อบดบังความรับรู้ของประชาชนต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐ หรือข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นภัยต่อกลุ่มอำนาจด้วย เว็บที่ถูกกระทรวงไอซีทีบล็อกนั้นไม่ได้มีแต่เว็บโป๊ แต่รวมถึงเว็บอื่น ๆ ที่มีข้อความซึ่งผู้มีอำนาจเห็นเป็นอันตรายต่อตัวด้วย
ดาบศีลธรรมนั้นบั่นรอนทั้งศีลธรรมและเสรีภาพทางอื่น ๆ ไปพร้อมกัน บั่นรอนศีลธรรมเพราะทำให้มนุษย์ไม่พัฒนาตนเองให้ใช้วิจารณญาณของตนเอง จึงไม่อาจศีลธรรมได้จริง บั่นรอนเสรีภาพเพราะข้อมูลข่าวสารที่เรารับรู้ถูกตัดตอนจนทำให้เสรีภาพเหลือเพียงเสรีภาพที่จะทำตามคำสั่งของเบื้องบน
ผมไม่ได้หมายความว่ารัฐไม่มีประโยชน์นะครับ ตรงกันข้าม รัฐสามารถช่วยครอบครัว, โรงเรียน, สื่อ, ชุมชน และสังคมได้มาก (เพราะกระจุกทรัพยากรจำนวนมากของเราทั้งหมดไว้จัดการเอง) ในอันที่จะเพิ่มสมรรถภาพทางหัวใจของเราก็จะเผชิญกับโลกที่เป็นจริง
แต่ต้องไม่ปล่อยให้รัฐถือดาบศีลธรรมเที่ยวฟาดฟันอย่างโง่ๆ และอย่างฉ้อฉลอย่างนี้
นิธิ เอียวศรีวงศ์, จากหัวนมถึงอำนาจพลเมือง, มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 16-22 มีนาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1387 หน้า 33
(ตัวเอน คือที่ผู้เขียนเน้น, ตัวหนา คือที่ผมเน้นเอง ; [ในวงเล็บสี่เหลี่ยม] คือที่ผู้เขียนแทรก, <ในวงเล็บสามเหลี่ยม> คือที่ผมแทรกเอง)
- ลงชื่อสนับสนุนคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้รัฐยุติการปิดกั้นเนื้อหาในอินเทอร์เน็ต
- FACT เสนอ “เสรีภาพพลเมือง” ในรัฐธรรมนูญ
technorati tags: Internet censorship, civil liberty
No comments:
Post a Comment