ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2007-03-02

digital culture

ผมเชื่อว่า การมีปฏิสัมพันธ์กัน ทำกิจกรรมร่วมกัน แลกเปลี่ยนข่าวสารกัน แลก meme กัน ในสังคม มันเป็นกระบวนการในการสร้างวัฒนธรรม
(สังคมเคลื่อนวัฒนธรรม และ วัฒนธรรมเคลื่อนสังคม เช่นกัน)

เมื่อก่อน ข่าวสารมันไปได้ช้า กิจกรรมจะทำร่วมกันได้ ก็ต้องอยู่ในสถานที่ทางกายภาพร่วมกัน มีข้อจำกัดเรื่องการเดินทางอยู่ (ซึ่งต้องอาศัยเวลา) การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมมันก็เป็นไปตามความเร็ว(ช้า)เช่นนั้น

สมัยนี้ เทคโนโลยีอย่างโทรศัพท์ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ทำให้ข่าวสารไปได้เร็วมาก เร็วกว่าสสารเสียอีก และไม่ใช่แค่ทางเดียว แต่เป็นสองทางแบบเวลาจริง (real-time) เราสามารถมีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่ทางกายภาพ เหล่านี้เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

(เรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมนั้น มีตัวอย่างในอดีตมามากมาย ตั้งแต่การใช้ไฟสัญญาณ การประดิษฐ์ตัวอักษร กระดาษ แท่นพิมพ์ ไปรษณีย์ โทรเลข เรื่อยมา)

เมื่อเช้าตื่นมา ยังนอนอยู่ นึก

ในระดับแรก เทคโนโลยีก็เพียงช่วยในการแลกเปลี่ยนข่าวสาร แต่กิจกรรมนั้นยังทำในสถานที่ทางกายภาพ ในโลกจริงอยู่
เช่น คนที่รักการถ่ายรูป ก็ไปคุยกัน ไปแลกรูปกันดู ในกระดานข่าวสาธารณะบนอินเทอร์เน็ต (เช่น ห้องกล้อง ในพันทิป.คอม (แยกออกมาจากห้อง Blue Planet อีกที เนื่องจากคนเยอะมาก)) คนที่ชอบดูหนัง ก็เข้ามาในเน็ต แลกเปลี่ยนแง่มุม ประสบการณ์ของตัวเองกับหนังเรื่องต่าง ๆ แต่การไปดูหนัง หรือให้เข้มข้นกว่านั้น การถ่ายทำหนัง ก็ยังอยู่ในโลกจริงอยู่

ในระดับต่อมา เทคโนโลยีช่วยให้การทำกิจกรรมมันเกิดขึ้นได้ในพื้นที่เสมือนเลย ทุกอย่างสามารถอยู่ในนั้นได้
เช่น คนทำหนัง ก็สามารถทำทุกอย่างในคอมได้ แม้แต่ตัวแสดงก็ไม่ต้องใช้คนจริงก็ยังได้ ทำในคอม ดูในคอม วิพากษ์วิจารณ์แลกเปลี่ยนกันในคอม เป็นระบบสมบูรณ์ (โอเค แรงบันดาลใจนั้น คงต้องมาจากข้างนอกคอมด้วย)
หรือ คนทำเพลง ก็ร้องเล่นมิกซ์ อัดกันในคอม เผยแพร่เป็นไฟล์ ผ่านเน็ต คุยกับแฟน ๆ ผ่านเว็บไซต์ หรือแม้แต่ไปแสดงคอนเสิร์ต ใน Second Life ทุกอย่างไปอยู่ในโลกเสมือนได้ (ไม่ใช่ข้อบังคับ แต่หากต้องการ ทำได้)

การละเล่นสมัยก่อน ต้องการสถานที่เล่น วิ่งไล่จับ ตั้งเต มอญซ่อนผ้า หรือแม้กระทั่งไพ่
การละเล่นสมัยนี้ กระโดดไปอยู่ในคอมเสียหมด World of Warcraft เป็นพื้นที่เสมือนที่อาจจะใหญ่กว่าสถานที่จริงเสียอีก ใกล้ตัวเราก็ Ragnarok นั่นไง ดูยังไงมันก็คือ “สนามเด็กเล่น” นั่นเอง คือนอกจากจะเป็นที่สำหรับ “เล่น” แล้ว ยังเป็นพื้นที่สำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสารกันด้วย ถูกพ่อดุเมื่อวาน พรุ่งนี้ต้องไปหาหมอฟัน ทำสอบไม่ได้ แฟนจับได้ว่ามีกิ๊ก ฯลฯ มี “สังคม” อยู่ในสนามเด็กเล่น และสังคมเหล่านี้ บ่อยครั้งเราพบว่า เขาก็มีการพัฒนา “วัฒนธรรมย่อย” ของเขาขึ้นมา เช่น มีภาษาแสลง หรือมีพิธีการ ประเพณีเฉพาะกลุ่ม

(ในแง่หนึ่ง ผมคิดเทคโนโลยีและการเกิดของพื้นที่เสมือนเหล่านี้ เป็นตัวที่ทำให้วัฒนธรรมย่อย (subculture) สามารถเกิดได้ง่ายขึ้น)

แบบนี้ เรียก วัฒนธรรมดิจิทัล ไหม ?
(ถ้าคำนี้ใหญ่โตเกินไป มีคำเรียกอื่นไหม)

หากเราไม่สนใจสิ่งที่เป็นไปบนพื้นที่เสมือนเหล่านั้น
หากเรามองมันเป็นสิ่งแปลกแยกทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ขัดกับขนบความเชื่อความเข้าใจเดิม ๆ ที่เคยมีมา และไม่นับมันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนวัฒนธรรม
เราจะเข้าใจวัฒนธรรม ของเราเอง ที่กำลังเคลื่อนไปได้ดีพอไหม ?


โพสต์เดียวกันนี้ ที่ พลวัต + ความเห็นอื่น ๆ

technorati tags: , ,

4 comments:

Anonymous said...

ความเห็นที่ดีมาก ในแง่พลวัตของวัฒนธรรม
และการแลเห็น "ผุดบังเกิด"ของวัฒนธรรมใหม่ ๆ
จากการปฏิสัมพันธ์ ในโลกเปิด
เมื่อเช้านี้ ยังเห็นข่าว การดันทุรัง "แบบแผนกำหนด"(ตายตัว) เรื่องการแต่งกาย ของนักศึกษา
มันสมเพช กับภารกิจรัฐมนตรีวัฒนธรรมยิ่งนัก

Isriya said...

เหมือนที่คุยกันวันนั้นไง รอน้องเอมมี่เป็น รมต. กระทรวงวัฒนธรรม

Anonymous said...

กำลังงงเหมือนกันว่า กระทรวงวัฒนธรรมไม่มีภารกิจสำคัญอื่นเลยเหรอ -_-" ??

suriyapat said...

กระทรวงวัฒนธรรม... อืม...

เรื่อง digital culture นี่ ตอนนี้มาแรง เพราะ tech. ทำให้อะไรๆ มัน Shrink ไง... แล้วมีทีท่าว่าจะ วิวัฒนาการได้ไวด้วย แถมมี product แปลกๆ เกิดขึ้นมาจากไอ้พวกนี้ เช่น เสื้อ ที่ใส่แล้วกอดกันได้ (ถ่ายทอดความรู้สึกการกอด โดยสัมผัส) ข้ามโลก ก้อมีมาแล้ว