บางส่วนจากบทสัมภาษณ์ รศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : นายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่มาตรา 7
ไทยโพสต์ 12 มีนาคม 2549
"มันขัดกับรัฐธรรมนูญ ยกมาตรา 7 อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติทุกมาตราในรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้ยังไง... ถ้าจะอ้างก็ต้องอ้างอย่างเดียวว่าขอพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ในยามวิกฤติ"
"ผมมองว่าเท่ากับยืมมือในหลวงปลดนายกฯ และที่สุดแล้วในแง่ของการเคลื่อนไหวมันจะได้เรียนรู้อะไรล่ะ ในแง่ของประชาธิปไตย ถามว่าที่สุดสังคมเราได้อะไร เราไม่ปฏิเสธว่าเรามีในหลวงซึ่งทรงมีพระอัจฉริยภาพ เรียกว่าในแผ่นดินนี้ไม่มีใครเทียบทาน หรือมีประสบการณ์ในทางการเมืองมากเท่ากับในหลวง แต่ว่าต้องระวัง เพราะตอนนี้ทุกคนก็เรียกร้องหมด กำนันผู้ใหญ่บ้านก็เรียกร้องให้เลือกตั้ง แล้วถามว่าจะให้พระองค์ท่านตัดสินเหรอ ให้ตัดสินก็เท่ากับให้พระองค์เลือกข้าง ไม่ควรเลย"
ถามว่าถ้านายกรัฐมนตรีรักษาการลาออก ในทางรัฐธรรมนูญจะมีผลอย่างไร
"ตัวนายกฯ รักษาการไม่อยู่ แต่ ครม.ยังมี มันจึงไม่มีพ้นจากการรักษาการได้อีก เมื่อนายกฯ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ พูดง่าย ๆ คือ ครม.ตายไปแล้ว ถ้าทักษิณลาออกจากรักษาการ โดยกลไกก็ต้องเอารองนายกฯ คนใดคนหนึ่งขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี"
ถ้าเอาคนนอกมารักษาการได้ไหม
"ไม่ได้ เพราะตัว ครม.เขายังอยู่นี่ครับ ถ้า ครม. 36 คนลาออกก็อีกเรื่อง แต่ผมเรียนว่าเราอย่ากระโจนไปที่พระมหากษัตริย์เร็วเกินไป ถ้า ครม.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด ก็ยังมีวุฒิสภาอยู่ แต่ก็มีปัญหาว่าเขาทำหน้าที่แทนรัฐสภาได้บางเรื่อง เช่น รับทราบการสืบราชสมบัติ การประกาศสงคราม เขาทำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ถ้ามันถึงคราววิกฤติจริง ๆ ก็อาจจะต้องดึงเอาอำนาจตรงนี้ไปให้วุฒิสภาได้โดยเทียบเคียง ว่าขนาดกรณีประกาศสงครามยังให้วุฒิฯ ทำหน้าที่รัฐสภาเลย ฉะนั้นก็อาจต้องให้วุฒิสภานั่นแหละ พิจารณาแต่งตั้ง ครม.มาดำเนินการ อนุโลมให้ประธานวุฒิฯ เป็นคนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ที่สำคัญคือเราต้องพยายามให้กลไกมันเดินไปก่อน อย่าเพิ่งกระโจน"
"เราใช้กลไกรัฐธรรมนูญให้หมด พอมันหมดเกลี้ยงแล้ว ไม่มีแล้ว แล้วมันเกิดภาวะวิกฤติ วิกฤติในความหมายผม คือภาวะซึ่งเกือบเป็นอนาธิปไตย เป็นภาวะที่ระบบกฎหมายไม่ดำรงอยู่ มันไม่เชื่อฟังกฎหมาย ไม่ยอมรับอำนาจรัฐกันแล้ว เป็นภาวะที่ใกล้ไปถึงสงครามกลางเมือง จลาจล แล้วองค์กรของรัฐที่มีอยู่ทำงานไม่ได้เลย"
นั่นแหละจึงเป็นขั้นตอนที่ต้องพึ่งพระบารมี
"ถ้าเราด่วนไปพึ่งพระบารมีเราก็เสี่ยง เสี่ยงว่าเรากำลังดึงเอาพระมหากษัตริย์ลงมาตัดสินปัญหาความขัดแย้งในทางการเมือง ให้พระองค์ปลดนายกฯ ดีชั่วไม่รู้ แต่ตอนนี้เราไม่ชอบนายกฯ แล้ว เราสร้างพลังประชาชนขึ้นกลุ่มหนึ่ง แล้วบอกว่าอันนี้เป็นวิกฤติ มันวิกฤติยังไง คำถามผมคือมันวิกฤติตรงไหน อย่าเพิ่งตั้งคำถามว่าแล้วจะรอให้เลือดตกยางออกก่อนหรือเปล่า ถ้ามันจำเป็นมันก็จะไปถึงจุดนั้น และพระองค์ก็จะลงมาเอง แล้วก็มีความชอบธรรมทางกฎหมายรองรับ ถ้าพระองค์ลงมาตอนนี้จะมีคำถามมากมาย ฝ่ายสนับสนุนท่านนายกฯ มีความรู้สึกได้ว่าพระองค์เลือกข้าง ซึ่งผมคิดว่าเราต้องเคารพคนกลุ่มนั้นด้วยนะ เขาจะรักท่านนายกฯ ทักษิณด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่มันมีคนจำนวนไม่น้อย และเป็นคนไทยเหมือนกัน เป็นคนในชาติเหมือนกัน เราต้องมองคนเหล่านั้นด้วย อย่าไปมองว่าคนพวกนี้ไม่รู้อะไร"
นายกฯ ชอบอ้างว่าถ้าออกจะเสียหลักประชาธิปไตย
"หลักประชาธิปไตยของท่านหมายความว่าถ้านายกฯ ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาแล้วจะไม่ต้องลาออกโดยวิธีใด ๆ เลยหรือ นี่คือประเด็น ถ้าท่านถูกอภิปรายในสภา ท่านชี้แจงไม่ชัด โหวตกันท่านก็ได้มติไว้วางใจเพราะเสียงของท่านมีมาก ถามว่าถ้าไม่มีเสียงไม่ไว้วางใจท่านไม่ลาออก ทั้งที่เสียงของคนนอกสภาทั้งประเทศคลางแคลงใจสงสัย อย่างนั้นหรือ คำว่ากติกาของท่านท่านจำกัดว่าคือกติกาทางกฎหมาย แต่การเข้าสู่การเมืองมันไม่ใช่มีแต่กติกาทางกฎหมาย มันมีส่วนอื่นเสริมด้วยนะ ที่ทำให้ประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น ผมกำลังพูดถึงกติกาอื่นๆ นอกจากกติกากฎหมาย ถ้านายกฯ อ้างแต่กติกากฎหมายอย่างเดียวผมคิดว่าไม่พอที่จะเป็นนายกฯ ท่านขาดคุณสมบัติตั้งแต่แรกเลย เพราะว่าทำถูกต้องตามกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้หมายความว่าจะสามารถอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ได้ กฎหมายเป็นเพียงมาตรฐานขั้นต่ำที่สุด เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่สุด แต่คนเป็นนายกฯ ต้องมีมากไปกว่านั้น การที่ท่านบอกว่าท่านออกเท่ากับทำลายกติกา-ไม่ใช่ ในมุมกลับกันท่านอาจจะรักษากติกาไว้ด้วยซ้ำไป กติกาตรงนี้ดำรงอยู่ต่อไปได้แล้วเปิดให้มีการเปลี่ยนแปลงกติกาอันใหม่ที่ท่านจะเข้ามาสู้ อันนี้มองจากข้อเท็จจริง ถามว่าเอ้าแล้วทำไมนายกฯ คนอื่นไม่ถูกไล่แบบนี้ คำถามคือแล้วนายกฯ คนอื่นเขามีความเกี่ยวพันกับธุรกิจแบบนี้ไหมล่ะครับ ก็ท่านทำของท่านเอง ท่านไม่เลือกที่จะดำเนินการในทางรัฐธรรมนูญ โอนหุ้นท่านให้นิติบุคคลจัดการ ท่านเลือกที่จะบอกว่าให้ลูกที่บรรลุนิติภาวะดำเนินการ แล้วท่านก็อธิบายไม่ได้ว่าตกลงอำนาจการครอบงำการตัดสินใจอยู่ที่ใครกันแน่"
"ถ้าถามผมตอนนี้ ผมเห็นด้วยที่จะให้นายกฯ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ แต่เราต้องไม่ลืมว่าก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาสนับสนุนอยู่ อาจจะมีคนมีการศึกษาส่วนหนึ่งด้วย ไม่อย่างนั้นมันจะมีการเถียงกันในบริษัทหรือ ตอนนี้สังคมมันไม่ได้ไปในแนวทางเดียวกัน พลังตรงนี้ยังมีไม่มากพอ ผมถึงบอกต้องต่อสู้กัน อาจจะต้องยืดเยื้อครับ ก็สู้กันไป โอเควันที่ 14 เขาก็มีสิทธิรวมพลังแสดงประชามติว่าไม่อยากให้ท่านนายกฯ อยู่ในตำแหน่ง ก็ทำได้"
"หลายคนก็บอกว่าอย่างนี้ประเทศชาติเสียหาย มันก็อาจจะมี แต่ผมคิดว่าไม่ได้เสียทุกอย่าง อย่างน้อยในเชิงพัฒนาการ เชิงการเรียนรู้สังคม จะได้อะไรใหม่ ๆ จากการเคลื่อนไหวคราวนี้ ที่หลายประเทศในโลกนี้จะไม่มี ถ้าเราผ่านวิกฤติช่วงนี้ไปได้ สังคมไทยจะเติบโตไปอีกชั้นหนึ่ง ผมจึงคิดว่าก็ต้องปล่อยให้สู้กัน ที่สุดแล้วตัวสถานการณ์จะคลี่คลายไปสู่ทางออกเอง เราทุกคนมีประสบการณ์ ผ่านเหตุการณ์ตุลา พฤษภา มาแล้ว ทุกฝ่ายรู้ ผมสังเกตเห็นได้จากการเคลื่อนขบวนของม็อบ แน่นอนความรุนแรงในการใช้อารมณ์ความรู้สึกมันมีเป็นธรรมดา แต่จนถึงวันนี้ผมว่าทุกคนยังมีสติอยู่ ฝ่ายคนที่เขากดดันก็มีสติอยู่ ก็อาจจะถึงจุดที่เขาเริ่มเหนื่อยเหมือนกัน ฝ่ายรัฐบาลก็เริ่มเหนื่อย ถ้าถามผมว่ามีความชอบธรรมไหมในการเคลื่อนไหวอย่างนี้ มองจากสภาพข้อเท็จจริงก็มีความชอบธรรม นายกฯ ตอบคำถามหลายคำถามไม่ได้ ตอนนี้ท่านอ้างแต่กติกา อ้างแต่ระบบ เหมือนกับก่อนยุบสภานายกฯ ไม่เคยพูดถึงปฏิรูปการเมือง ฝ่ายค้านอาจจะขยับตัวเร็วกว่ารัฐบาลแต่ก็ไม่มาก ก้าวเดียว ฝ่ายค้านหลายประเด็นไม่ได้มีการพูดถึงทิศทางการปฏิรูป การแก้ไขกลไกรัฐธรรมนูญว่าควรจะแก้อย่างไรบ้าง ทั้งระบบ มันเป็นการดำเนินการในทางการเมืองโดยเฉพาะหน้า"
"โจทย์ของสังคมตอนนี้คือจะทำยังไงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่เกิดความรุนแรง ถ้าเราผ่านตรงนี้ไปได้ผมว่าสังคมเราจะเข้มแข็งขึ้นนะ พัฒนาเราจะขยับไปอีกขั้นหนึ่ง แต่ถ้ามันเป็นอย่างที่เสนอกันตอนนี้ ที่บอกว่าถวายฎีกาให้ในหลวงลงมา ผมว่าเราจะไม่ได้พัฒนาอะไรต่อไปข้างหน้า เราจะย่ำอยู่ ณ จุดเมื่อพฤษภา 2535 หรืออาจจะถอยไปกว่านั้นอีก เพราะพฤษภา 2535 มันมีเหตุของมัน แต่วันนี้มันยังไม่เกิด เราก็ขอให้พระองค์ลงมาเสียแล้ว และผมไม่แน่ใจว่าจะมีปัญหาตามมาอีกหรือไม่ คนซึ่งบอกว่าทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาไม่บอกผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้นตามมาเลยว่ามีผลเท่ากับการปลดนายกฯ ไหม งดใช้รัฐธรรมนูญกี่มาตรา อำนาจที่งดใช้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่มาจากไหน คือผมไม่ได้มองว่ารัฐธรรมนูญมีสภาพเหมือนคัมภีร์ไบเบิล ส.ส.ร.บางท่านเห็นรัฐธรรมนูญเหมือนคัมภีร์ไบเบิลจริง ๆ ท่านมองว่า perfect แล้ว แตะต้องไม่ได้ แต่ผมก็เห็นว่าเราต้องเคารพรัฐธรรมนูญอยู่ จนถึงขั้นเอาละมันไปไม่ได้แล้ว ก็ต้องเปลี่ยน ถึงจุดนั้นมันเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องมีการเรียกร้อง เพราะถ้าเรียกร้องอย่างนี้ อีกฝ่ายก็เรียกร้อง แล้วทำยังไงกันล่ะ ท่านไม่ทรงลำบากพระทัยหรือ ผมจึงมองว่าเราต้องไปให้พ้นตรงนี้เราถึงจะไปได้"
via grappa via Etat de droit
No comments:
Post a Comment