ย้ายบล็อกไปที่ bact.cc แล้วนะครับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ฟรี 2GB จาก Dropbox (sync กับ Windows, Linux, Mac, iPhone, Android ฯลฯ ได้)

2005-11-15

Taking Back the Web, with Cautions

ช่วงนี้มีคนพูดถึง Web 2.0 บ่อยขึ้นทุกที

บางคนคิดว่ามันหมายถึงเทคโนโลยีอย่าง AJAX, อินเทอร์เฟสที่ลื่นไหลขึ้น โต้ตอบได้ทันใจ ทำให้การใช้งานเว็บสะดวกขึ้น มีการพูดถึงว่า ต่อไปเราจะทำทุกอย่างได้ในเว็บเบราเซอร์ (ตอนนี้ก็มีทั้งโปรแกรมอีเมล ตารางนัดหมาย ประมวลคำ ตารางคำนวณ ฯลฯ)

แต่แค่เทคโนโลยีอย่างเดียวจริง ๆ เหรอ ที่ทำให้คนสนใจ Web 2.0 ?

เพราะจะว่าไป ไอ้เจ้าเทคโนโลยีทั้งหลายใน Web 2.0 นั้น ไม่ได้เป็นของใหม่เลย มันมีมานานแล้ว
แล้วสิ่งที่ใหม่คืออะไรล่ะ ?

ก็คือมุมมองในการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นนั่นเอง ที่เป็นของใหม่

หัวใจของ Web 2.0 อยู่ที่ "คน" เพื่อคน และโดยคน

เมื่อเปรียบเทียบกับ "Web 1.0" ที่หัวใจอยู่ที่เนื้อหา(ทางเดียว) เพื่อการค้่า และโดยผู้จัดพิมพ์รายใหญ่
(ส่วน "Web prototype" นั่น หัวใจคงเป็นเรื่องการวิจัย เพื่อความมั่นคง และโดยรัฐ)

สิ่งที่สร้าง Web 2.0 คือ การแบ่งปัน และสิ่งที่ทำให้การแบ่งปันเป็นไปได้ ก็คือ มาตรฐานเปิด (นอกจากนี้ ก็มีเรื่องซอฟต์แวร์เสรี ที่ทำให้ราคาของเทคโนโลยีนั้นต่ำลง กำแพงที่กันผู้เล่นหน้าใหม่ก็ลดลง)

และสิ่งที่ Web 2.0 สร้าง ก็คือ collective intelligence จะพูดอย่างไทย คงได้ว่า "ปัญญารวมหมู่"
tagging หรือ folksonomy และ Wikipedia เป็นตัวอย่างของ collective intelligence ที่ individual intelligence ปัญญาเดี่ยว ๆ หัวเดียวกระเทียมลีบสู้ไม่ได้ในบางเรื่อง (ไม่ว่าเดี่ยว ๆ นั้น จะเป็นคน หรือ AI ก็ตาม)

Web 2.0 ไม่ได้เลื่อนเวอร์ชั่นขึ้นมาจากรุ่น 1.0 เพียงเพราะมันใช้เทคโนโลยีใหม่
แต่เพราะมันยังนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ และความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของเว็บอีกด้วย

ลิงก์ของ Web 1.0 คือ ไฮเปอร์ลิงก์ ; ลิงก์ของ Web 2.0 คือความสัมพันธ์ทางสังคม (และรสนิยม)

โหนดของ Web 1.0 คือ เซิร์ฟเวอร์ ; โหนดของ Web 2.0 คือ คน

เป็นเว็บที่เนื้อหาไม่ได้มากจากศูนย์กลาง (ผู้จัดพิมพ์รายใหญ่) เพียงอย่างเดียว (ศูนย์กลางยังคงมี แต่ถูกลดความสำคัญลงไป) ความสนใจในเนื้อหาถูกกระจายออกไปยังผู้จัดพิมพ์รายย่อย ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง มันก็คือผู้ใช้เว็บปกตินี่เอง (เว็บบล็อก) เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ (online social network) ที่แผ่ขยายอย่างรวดเร็ว ทำให้เนื้อหาจากผู้จัดพิมพ์เล็ก ๆ สามารถเข้าถึงผู้อ่านในวงกว้างได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน - ถ้าเนื้อหานั้นโดนใจพอ มันก็จะแพร่สะพัดไปทั้งเว็บอย่างรวดเร็ว

มาตรฐานเปิด การแบ่งปัน เนื้อหาจากทั้งด้านบนและด้านล่าง เครือข่าย บวกกับการโต้ตอบอย่างฉับพลัน ทำให้ Web 2.0 กลายสภาพจากสื่อที่ไม่ต่างอะไรนักจาก ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ไปสู่สื่อที่มีสภาพเหมือน ลานสาธารณะขนาดใหญ่ ที่ทำหน้าที่คล้ายห้องประชุมสภาทางไกล มีโทรศัพท์หลายล้านสายโยงเข้าและออก ทุกคนสามารถพูด ทุกคนสามารถได้ยิน ทุกคนสามารถให้ความเห็น พร้อมกับส่งสิ่งที่ตนได้ยินพร้อมความเห็นไปหาเพื่อน ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทุก ๆ คนทำหน้าที่เป็นทั้งนักข่าว นักคิด นักเขียน ผู้จัดพิมพ์ โฆษก เด็กส่งหนังสือพิมพ์ แถมบางคนยังทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์คัดแยกข่าวสารไปในตัวอีกต่างหาก (tagging)

ทั้งหมดนี้ ดำเนินไปได้ด้วย ปัจเจกบุคคล ที่อาจจะไม่ได้มีเกี่ยวข้องอะไรกันเลย แต่แรงคนละเล็กละน้อยที่ทำลงไป พอรวมกันแล้ว ก็กลายออกมาเป็นปรากฏการณ์อย่างที่เราเห็นกันอยู่

Web 2.0 เป็นเรื่องน่ายินดี สำหรับสังคมความรู้ ...
แต่...

สิ่งที่น่ากลัวอย่างมาก(และอาจจะอย่างเดียว)สำหรับ Web 2.0 ก็คือ
เป็นไปได้อย่างมาก ที่ต่อไป คนจะอ่านเฉพาะเรื่องที่ตนอยากอ่าน รู้เฉพาะเรื่องที่ตนอยากรู้ ... ผู้คนจะเสพข่าวสารกันง่ายขึ้นและมากขึ้น แต่แคบลงแคบลง
รู้ลึก แต่ไม่รอบรู้
เมื่อไม่รอบรู้ ก็มองไม่เห็นภาพใหญ่ ภาพรวม ไม่เห็นบริบทของสิ่งที่ตนรู้ลึก ..คุณค่าของสิ่งที่รู้ลึกนั้น ก็อาจจะด้อยลงไป

สำคัญก็คือ เมื่อไม่รอบรู้แล้ว ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของคนที่รอบรู้กว่าได้
สำคัญกว่าก็คือ หากไม่รอบรู้ แล้วดันรู้ลึกอีก (นั่นคืออาจจะมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนใกล้ชิด/เครือข่าย) ก็ไม่แน่ว่าอาจจะถูกคนอื่นใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อชักนำคนใกล้ชิด/เครือข่าย เพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ ได้

Web 2.0 ให้เครื่องมือแก่เราในการแสวงหา/แบ่งปันความรู้ในเรื่องที่เราสนใจ

แต่ Web 2.0 ไม่สามารถป้องกันเราจากภาวะความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดได้

ด้วยปัญญารวมหมู่ผสมกับเทคนิคทางปัญญาประดิษฐ์ Amazon.com, Last.fm สามารถแนะนำเพลงที่คุณอยากฟังได้ จากประวัติการฟัง(ซื้อ)เพลงที่ผ่านมาของคุณ ...
แต่คน ๆ นึงจะรู้ได้ยังไง ว่าตัวเองชอบฟังแจ๊ส(หรืออะไรก็ตาม) ถ้ายังไม่เคยลองฟังมาก่อนเลย ?


พักความกลัวไว้ ตอนนี้ไปรู้จักกับเว็บที่สร้างโดยคน และเพื่อคน กันก่อน CNET News.com เสนอบทความชุด ยึดเว็บกลับ Taking Back the Web
ยังไม่ได้อ่านเหมือนกัน เห็นแล้วเข้ามาเขียนบล็อกก่อน :P เดี๋ยวอ่านแล้วอาจจะเข้ามาเขียนอะไรเพิ่ม


ต้องการความเห็นอย่างมาก เชิญด้านล่าง

6 comments:

Anonymous said...

เคยเขียนไว้
http://www.isriya.com/node/218

ลิงก์เรื่องที่เขียน
http://www.andrewsullivan.com/main_article.php?artnum=20050220
http://techcentralstation.com/031805B.html

Unknown said...

Tim Orielly (คนจุดกระแส Web 2.0) ก็พูดไว้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดของ Web 2.0 คงจะเป็นเรื่องการใช้พลังของ Collective Intelligence.

ผมก็เห็นด้วยว่า การระเบิดทางปัญญาครั้งใหญ่ (singularity) ในไม่กี่ปีข้างหน้า คงจะเกิดจาก Collective Intelligence มากกว่า AI หรือ IA (Intelligence Amplification)

น่าสนใจประเด็นว่า ในยุคนั้น คนจะปิดหู ปิดตา รับรู้แต่เรื่องที่สนใจแค่แคบๆ หรือไม่
ปัจจุบันผมกลับเห็นว่า คน "ถูกปิดหูปิดตา" ให้มองแต่เรื่องแคบๆ ที่ "คนอื่น" อยากให้มอง เช่น โฆษณาตามทีวี หรือหนังไร้สาระ ฯลฯ

ถ้าให้เลือกได้ ผมยินดีเลือกที่จะคัดกรองสิ่งต่างๆ ที่จะเข้าตา เข้าหูผม(นึกถึง ipod) ได้เองจะดีกว่า หรือใช้ social filtering โดยเพื่อนๆ สนิทก็ได้ พอเลือกคบคนให้หลากหลาย ก็จะได้ฟังเรื่องราวหลากหลายเอง

PPhetra said...

น่าสนใจประโยคนี้นะ
"หากไม่รอบรู้ แล้วดันรู้ลึกอีก"

ถ้าปริมาณคนกลุ่มนี้เยอะขึ้นหล่ะ?
(ปัจจุบัน ก็ไม่น้อยนะ)

bact' said...

ความคิดเห็นเพิ่มเติม

bact' said...

iMenn ว่าถึง Web 2.0

bact' said...

เว็บ Narisa ว่าถึง Web 2.0